แนวคิดในการกำหนดแผนการปฏิรูปครั้งนี้ "ประชาชนและชุมชน" เป็นศูนย์กลาง

แนวคิดในการกำหนดแผนการปฏิรูปครั้งนี้ "ประชาชนและชุมชน" เป็นศูนย์กลาง

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นำเสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  นำเสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศ  พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่อแผนการปฏิรูปประเทศด้าน วัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์   เผยแนวคิดในการกำหนดแผนการปฏิรูปครั้งนี้ "ประชาชนและชุมชน" เป็นศูนย์กลาง และมุ่งเน้นผลให้ประชาชนมีความมั่นคง แข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ  ความคิด  ความสามารถในการสร้างโอกาสให้กับชีวิตในทุกช่วงวัย พร้อมๆกับสร้างชุมชนที่เข้มแข็งทั้งด้านวัฒนธรรม คุณธรรม และเศรษฐกิจ

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ  มหานนท์  ประธานกรรมการ กล่าวในการนำเสนอแผนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  เพื่อเปิดรับฟังความเห็นต่อแผนการปฏิรูป ในวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๓ ณ ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี  ว่า คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓  มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ  ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์   ซึ่งมีขอบเขตงานในการจัดทำแผนการปฏิรูปที่ครอบคลุมประเด็นเรื่องการนำหลักธรรมทางศาสนามาใช้ในการพัฒนาจิตใจ ปัญญาและการพัฒนาประเทศ  มรดกทางวัฒนธรรม เอกลักษณ์ของชาติ การส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาเพื่อสุขภาพ การนำมาใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นเลิศ การส่งเสริมการมีงานทำ การคุ้มครองแรงงานให้มีความปลอดภัย สุขอนามัย รายได้และสวัสดิการที่ดี การประกันสังคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านความมั่นคง สุขภาพ และปัจจัยในการดำรงชีวิต  ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ  มหานนท์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  แผนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ประกอบด้วยกิจกรรมปฏิรูป ๔ ด้าน ได้แก่

 

๑) การปฏิรูปด้านวัฒนธรรมและค่านิยมในสังคมไทย  ซึ่งมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์  เป็นประธานอนุกรรมการ  มีเป้าหมายการปฏิรูป คือ  (๑)  การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมของการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และสันติสุข  (๒) การเรียนรู้ด้านศิลปะวัฒนธรรมทั้งในและนอกระบบการศึกษา (๓)  การนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในลักษณะอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมแบบครบวงจร

 

 ๒)  การส่งเสริมประชาชนเป็นศูนย์กลางในการสร้างวิถีชีวิตทางการกีฬาอย่างทั่งถึงและเท่าเทียม  และการสร้างโอกาสทางการกีฬาและการพัฒนานักกีฬา  ซึ่งมี คุณหญิงปัทมา  ลีสวัสดิ์ตระกูล เป็นประธานอนุกรรมการ   มุ่งสร้างผลลัพธ์สำคัญในสองส่วน คือ สุขภาพที่ดีของประชาชนที่เกิดจากความตระหนักถึงความสำคัญของการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ  และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศจากการสร้างบุคลากรด้านการกีฬาและอุตสาหกรรมการกีฬา

 

๓)  การพัฒนาโครงข่ายรองรับสังคมของการเสริมสร้างสมรรถนะกำลังคน และสร้างงานอย่างครบวงจร   ซึ่งมี นายนคร  ศิลปอาชา  เป็นประธานอนุกรรมการ  มีเป้าหมายการปฏิรูปเพื่อ "ขับเคลื่อนในระดับนโยบายของประเทศ สู่การปฏิบัติแบบบูรณาการ เพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนตลอดช่วงชีวิตการทำงาน ทั้งในและนอกระบบ"  นำเสนอนโยบายและแนวทางในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทาน  สร้างโอกาสในการทำงานและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนของประเทศ เปิดโอกาสให้บุคลากรเข้าถึงข้อมูลที่สามารถเป็นทางเลือกสู่การพัฒนาในด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการทำงาน  รวมถึงการพัฒนาเชิงบูรณาการระบบที่มีอยู่ ให้มีคุณภาพสูงในด้านการศึกษาและการอบรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ด้านเศรษฐกิจและสังคม  สนับสนุนและส่งเสริมการรับรองผู้ประกอบการและการพัฒนาอาชีพบนพื้นฐานของสมรรถนะและความเชี่ยวชาญที่โดดเด่น  นำไปสู่การผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมที่สนับสนุนและเชิดชูการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ผลักดันให้มี Big Data ด้านตลาดแรงงาน เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนา ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดระบบการคุ้มครองแรงงาน และการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบ 

๔)  การบริหารจัดการศักยภาพบุคลากรของประเทศ ซึ่งมี นายแพทย์รณภพ ปัทมะดิษ  เป็นประธานอนุกรรมการ  โดยมีเป้าหมายการปฏิรูป เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกมิติ สำหรับคนทุกช่วงวัย ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพและทุกภาคส่วน  เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศ  ด้วยการยกระดับศักยภาพของคนในประเทศให้มีสมรรถนะจำเป็นที่สำคัญเพื่อให้สามารถสร้างความมั่นคงทางอาชีพได้  มีการบ่มเพาะผู้มีความสามารถพิเศษเพื่อให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพสูงสุด โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก ๓ กลุ่ม คือ ๑) กลุ่มบุคลากรในภาครัฐ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา ขับเคลื่อน และติดตามนโยบายการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทาง การพัฒนาให้มีความเหมาะสมและทันต่อการเปลี่ยนแปลง  ๒)  กลุ่มแรงงานภาคเอกชนและแรงงานในชุมชนท้องถิ่น เน้นการพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการและการให้สวัสดิการเพื่อสร้างกำลังคนทักษะสูงในพื้นที่ และ ๓) กลุ่มเป้าหมายร่วมทั้งบุคลากรภาครัฐและเอกชน ที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่สำคัญและทักษะใหม่ ๆ ที่รองรับการทำงานในอนาคต

 

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ  มหานนท์  กล่าวถึงแนวคิดในการกำหนดแผนการปฏิรูปครั้งนี้ว่า หัวใจของชาติ คือ ประชาชนและสังคม  การพัฒนาชาติจึงต้องเริ่มจากการพัฒนาคนและชุมชนในชาติ  การปฏิรูปด้านวัฒนธรรม กีฬา  แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงเป็นรากฐานที่สำคัญในการนำพาชาติไปสู่เป้าหมาย  ดังนั้น แนวคิดในการกำหนดแผนการปฏิรูปครั้งนี้จึงมี "ประชาชนและชุมชน" เป็นศูนย์กลาง และมุ่งเน้นผลให้ประชาชนมีความมั่นคง แข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ  ความคิด  ความสามารถในการสร้างโอกาสให้กับชีวิตในทุกช่วงวัย  พร้อมๆกับสร้างชุมชนที่เข้มแข็งทั้งด้านวัฒนธรรม คุณธรรม และเศรษฐกิจ (Human Capacity and Human Wellbeing) ภายใต้บริบทของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ตลอดจนมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  "ในหลายๆเรื่องมีความพยายามแก้ไขปรับปรุงกันมายาวนาน จนอาจมีคำถามว่า แผนปฏิรูปนี้จะสำเร็จหรือไม่  ทำได้จริงหรือไม่  แต่นั่น ไม่ใช่ปัจจัยที่จะยับยั้งการทำในสื่งที่ควรจะทำ  ทุกอย่างเกิดขึ้นได้หากเราร่วมมือกัน  มีส่วนร่วมในการสร้างสื่งที่ดีงามให้กับชุมชน สังคมและประเทศชาติ  เพราะสุดท้ายแล้วชีวิตพวกเราทุกคนจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสังคมและชุมชนที่เราอาศัยอยู่  หากเราอยากมีชีวิตที่พัฒนา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสภาพแวดล้อมในสังคมที่ดี และมีโอกาสดีๆสำหรับพวกเราทุกคน  เราต้องมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อไป โดยไม่ถอดใจหรือยอมแพ้ต่อความท้าทาย" ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ กล่าว

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ  มหานนท์ ยังได้กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า "แผนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา  แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นเหมือนการเปิดประตูของโอกาสที่ส่วนราชการ องค์กร ชุมชนหรือผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในสังคมไทยจะช่วยกันวางแผน ออกแบบให้สังคมไทยเป็นอย่างที่ทุกคนอยากเห็น  อยากให้เป็นและอยากอยู่ อย่าแค่มองแล้วรู้สึกว่ายาก ท้าทาย และอาจทำไม่ได้  ขอให้มองถึงสิ่งที่เราควรต้องทำ ความเปลี่ยนแปลงดีๆ ที่ยิ่งใหญ่ไม่เคยเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย ขอเพียงแค่เราอย่าใช้ความรู้สึกที่ว่าเป็นไปไม่ได้ มาปิดกั้นความคิดและความพยายาม ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะทำงานตามแนวคิดนี้ด้วยความมั่นใจว่า จะต้องผลักดันแผนปฏิรูปนี้ไปสู่ความสำเร็จ"

"ในสภาวะที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ๒๐๑๙ ในประเทศต่างๆ      ทั่วโลกยังไม่ยุติ  และโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  ทางรอดของประเทศไทย คือ "ความพอเพียงและการพึ่งพาตัวเองในประเทศ และการจับมือกลุ่มประเทศพันธมิตรรอบๆ"   โดยคณะกรรมการฯ จะนำความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนที่ได้รับในวันนี้ ไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงแผนการปฏิรูปต่อไป" ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ กล่าวในช่วงท้าย