“ดิจิทัลตรวจสอบ - ประชาชนถ่วงดุล” ปะชุนยุติธรรมไทยไม่ซ้ำรอย “ผกก.โจ้”
“ดิจิทัลตรวจสอบ - ประชาชนถ่วงดุล” ปะชุนยุติธรรมไทยไม่ซ้ำรอย “ผกก.โจ้”
คดี “อดีตผู้กำกับโจ้” กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สังคมไทยหันกลับมาให้ความสนใจปัญหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขึ้นมาอีกครั้ง และถือเป็นโอกาสของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะ “ตำรวจ” ที่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม แม้จะมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ในฐานะองค์การมหาชนซึ่งมีหนึ่งในพันธกิจสำคัญคือ การขับเคลื่อนองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงปักหมุด “คดีอดีตผู้กำกับโจ้” เป็นจุดเริ่มต้นของการจัด TIJ Forum ให้เป็นเวทีระดมสมองในการยกระดับกระบวนการยุติธรรมไทย ให้สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเคารพสิทธิของประชาชน
TIJ Forum เป็นกิจกรรมที่ TIJ ร่วมกับเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) จัดเสวนาเป็นซีรีส์ต่อเนื่อง หลังจากเวทีแรกในหัวข้อ “การใช้อำนาจของตำรวจ เพื่อค้นหาความจริง คดีอดีต ผกก.โจ้” เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมาแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ก.ย. ยังได้จัดเสวนา TIJ Forum ขึ้นอีกครั้ง ในหัวข้อ “Way Out อำนาจเชิงโครงสร้างในกระบวนการอำนวยความยุติธรรม”
โดยมี ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ชวนวิทยากรร่วมถกปัญหาเชิงโครงสร้าง
ในกระบวนการยุติธรรมไทย
ความต่างของ TIJ Forum กับเวทีอื่น ๆ คือการพยายามไม่ให้มีแค่การวิจารณ์ หรือแสดงความเห็นเท่านั้น แต่ต้องมีข้อเสนอแนะทางนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้จริงจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ ด้วย
ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลจากประสบการณ์ตรงในการทำงานว่า ปัญหามีตั้งแต่ระดับพื้นฐาน เช่น “สิทธิ” ที่ตำรวจต้องแจ้งกับผู้ต้องหาว่า “คุณมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้” หรือ “คำพูดของคุณอาจจะถูกใช้เป็นพยานหลักฐานได้” แต่ในทางปฏิบัติจริง มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งสิทธินี้กับประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในการพบทนายความ และให้ทนายความเข้าร่วมรับฟังการสอบสวน
“หลายครั้งพบว่าเจ้าหน้าที่พยายามเลี่ยงกฎหมาย มีความพยายามทำให้ผู้ต้องหาไม่ได้พบกับทนายตั้งแต่ขั้นการจับกุม ควบคุมตัว ฝากขัง นำตัวเข้าเรือนจำก่อนการสั่งฟ้อง โดยมักจะเลี่ยงไปใช้คำว่า ‘เชิญตัว’ หรือ ‘เรียกมาเป็นแค่พยาน’ แทนคำว่า ‘จับกุม’ และเมื่อไม่มีบันทึกจับกุม ไม่มีการแจ้งข้อหา ตำรวจก็มักจะอ้างได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีทนาย”
ประเด็นที่ทนายศิริกาญจน์เน้นย้ำก็คือ การพยายามเลี่ยงขั้นตอนของกฎหมาย หลายเรื่องได้บานปลายเป็นเรื่องใหญ่ เหมือนกรณี “อดีตผู้กำกับโจ้” ซึ่งสังคมไทยรับรู้กันทั่วไปว่าไม่ได้มีเคสนี้แค่เคสเดียว วิทยากรผู้ร่วมเสวนาทุกคนเห็นตรงกันว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความโปร่งใสในกระบวนการสอบสวนคดีอาญา เป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป
อัยการวิพล กิติทัศนาสรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยกฎหมายอาญาและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแก้ระเบียบและกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการดำเนินคดีอาญา ต้องบันทึกทุกกระบวนการทำงานแบบ real-time ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานได้ทันที
ขณะที่ ร.ต.อ. พีระพัฒน์ มังคละศิริ อาจารย์ประจำคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เสนอให้ประเทศไทยลงทุนใช้ Blockchain เพื่อให้การดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมเป็นไปด้วยความโปร่งใสมากขึ้นกว่าเดิมจากปัญหาใกล้ตัวประชาชนที่ยกมา แม้บางกรณีจะเป็นปัญหาที่ “ตัวบุคคล” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบเชิงโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมบ้านเราก็มีปัญหาด้วย โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนที่น่าจะน้อยเกินไป
รศ. ดร. ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกตัวอย่างระบบอัยการของประเทศญี่ปุ่นที่จัดให้มี “คณะกรรมการประชาชน” ซึ่งมาจากการเลือกของประชาชน ทำหน้าที่ตรวจสอบคดีที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสว่า ไม่มีความพยายามในการปกป้องผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะหากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพล
แม้ระบบของไทยจะเปิดช่องให้ผู้เสียหายยื่นฟ้องตรงต่อศาลเองได้ แต่เมื่อไปดูข้อเท็จจริง จะพบว่า มีหลายคดีที่ไม่มีผู้เสียหายมาฟ้องตรงต่อศาล ทำให้คดีจบไปเลยทั้งที่ยังมีข้อสงสัย เช่น คดีของ นายวรยุทธ หรือ “บอส” อยู่วิทยา ซึ่งมีช่วงเวลาที่ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และผู้เสียหายไม่ฟ้อง
ส่วนช่องทางการมีส่วนร่วมกับศาล รศ. ดร. ปกป้อง มองว่า แม้ในหลักสากล “ศาลจะต้องโปร่งใส เป็นอิสระ ไม่อาจแทรกแซงได้” แต่ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบการทำหน้าที่ของศาลได้ ยกตัวอย่างศาลของอังกฤษ มีสภาที่ประชาชนเข้าร่วมด้วย เรียกว่า Sentencing Council กำหนดมาตรฐานในการกำหนดโทษของคดีต่าง ๆ ไว้แบบกว้างๆ เมื่อศาลใช้ดุลยพินิจในการลงโทษแต่ละคดี สภาแห่งนี้ก็จะทำประชาพิจารณ์ว่าเห็นชอบกับการลงโทษนั้นหรือไม่ จากนั้นก็จะเปิดเผยต่อสาธารณะให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
ขณะที่ประเทศไทย ในโครงสร้างการบริหารบุคคลภายในองค์กรเอง เช่น ศาลยุติธรรรม แต่เดิมสามารถเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนอื่นเข้ามาเป็นคณะกรรมการตุลาการ หรือ ก.ต. ได้ แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กลับเปลี่ยนให้บุคลากรจากศาลเท่านั้นมาเลือกกันเอง ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป
อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กัน และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ก็คือ ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายซึ่งมีลักษณะรวมศูนย์
ร.ต.อ. พีระพัฒน์ จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ยกตัวอย่างในปี 2557 ที่มีการปรับโครงสร้างตำรวจด้วยการยกเลิก “แท่งพนักงานสอบสวน” ออกไป ส่งผลกระทบสำคัญต่อประชาชน คือ แทนที่ประชาชนจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นรองสารวัตรหรือสารวัตรสอบสวนที่เชี่ยวชาญมาอยู่ในท้องที่ของตน กลับได้คนที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากท้องที่อื่นมาแทน เพราะผู้มีอำนาจสามารถโยกย้ายสลับสับเปลี่ยนให้ใครมาทำหน้าที่ก็ได้ แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ เช่น อังกฤษ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา แคนาดา และไอร์แลนด์เหนือที่ใช้รูปแบบการกระจายอำนาจ ทำให้การทำงานของตำรวจท้องที่ต่าง ๆ ถูกยึดโยงกับประชาชน
เหล่านี้คือสารพัดปัญหาเชิงโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมไทยที่ได้เวลานับถอยหลังสู่การเปลี่ยนแปลง