ทีเส็บ กางแผนการทำงานปี 65 ดันไมซ์ในประเทศฟื้นเศรษฐกิจ
ทีเส็บ กางแผนการทำงานปี 65 ดันไมซ์ในประเทศฟื้นเศรษฐกิจ
ทีเส็บ เปิดแผนการทำงานปี 2565 หวังกระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศทดแทนตลาดต่างประเทศที่ลดลงไป หลังเกิดโอมิครอนระบาด พร้อมสนับสนุนการจัดประชุมองค์กรช่วงต้นปี ส่วนตลาดต่างชาติคาดว่าน่าจะเริ่มฟื้นได้ตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.2565 พร้อมยืนยันไม่ลดเป้าหมายจำนวนและรายได้ในปีนี้ แม้เจอความท้าทายจากการระบาดของไวรัสโควิด
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ภายหลังจากประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า 2 ปี จนทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการต่าง ๆ มาดูแล โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ซึ่งประกอบไปด้วย การจัดประชุม สัมมนา (Meetings: M) การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentives: I) การจัดประชุมองค์กรหรือสมาคม (Conventions: C) และการจัดงานแสดงสินค้า (Exhibitions: E) รวมถึงงานเทศกาลและมหกรรมนานาชาติ (Mega Events & Festivals) นั้น แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ด้วยมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ออกมาสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ ก็ส่งผลให้ภาคธุรกิจเกิดความมั่นใจและกลับมาจัดงานต่าง ๆ ได้
ทั้งนี้เพื่อต่อยอดการดำเนินงานในปี 2565 และสนับสนุนพลิกฟื้นอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศให้กลับมาได้โดยเร็ว ทีเส็บ ได้วางแผนการสร้างรายได้หลักจากตลาดไมซ์ภายในประเทศ ผ่านการส่งเสริมการประชุม สัมมนา รวมทั้งการจัดงานมหกรรมต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการช่วงชิงการจัดงานในระดับสากล ซึ่งในช่วงปี 2565 ประเทศไทยจะต้องใช้โอกาสนี้ ดึงการจัดงานใหญ่ ๆ ระดับโลกเข้ามาจัดที่ประเทศไทยให้ได้ หลังจากในช่วงปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว 3 งานด้วยกัน คือ การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised EXPO 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต ในปี 2571 การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี ในปี 2569 และงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดนครราชสีมา ในปี 2572
“ในช่วงนี้จำเป็นต้องวางแผนและประเมินไว้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยทีเส็บ ประเมินเบื้องต้นว่า นักเดินทางไมซ์ต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนมี.ค.2565 หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในหลาย ๆ ประเทศ และประเทศไทยเองก็มีมาตรการจำกัดการเดินทางของนักเดินทางไมซ์เฉพาะกลุ่ม จึงจำเป็นต้องปรับแผนการทำงานมาโฟกัสงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศมากขึ้น เพื่อทดแทนรายได้จากต่างประเทศที่ลดลง”
สำหรับแผนการกระตุ้นตลาดในประเทศที่สำคัญ ทางทีเส็บใช้กลยุทธ์การสร้างความต้องการ (Create Demand) ให้องค์กรเอกชนมีความเชื่อมั่นในการจัดประชุมสัมมนา และการเข้าร่วมชมงานแสดงสินค้า ตามที่มีกำหนดการ เนื่องจากในช่วงต้นปี 2565 องค์กรภาคเอกชนหลายแห่ง มีความจำเป็นต้องจัดงานประชุมองค์กร เพื่อสื่อสารกลยุทธ์ในการดำเนินกิจการ หรือการวางแผนสร้างยอดขายให้กับสินค้า จึงมักเลือกจัดงานในช่วงต้นปี เช่นเดียวกับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ ซึ่ง ทีเส็บ พร้อมเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ และถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้กลับมาฟื้นตัว
นายจิรุตถ์ กล่าวว่า ในส่วนของเป้าหมายการทำงานในปีนี้ ทีเส็บ จะไม่มีการปรับลดเป้าหมายจำนวนและรายได้อุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศลง แม้ว่าจะมีความท้าทายจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ โดยเป้าหมายตลอดทั้งปี 2565 คาดว่าจะมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์รวมทั้งสิ้น 6.13 ล้านราย สร้างรายได้รวม 28,400 ล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดต่างประเทศ จำนวน 1.3 แสนคน สร้างรายได้ 8,600 ล้านบาท และตลาดในประเทศ 6 ล้านคน สร้างรายได้ 19,800 ล้านบาท
#MICEinThailand #TCEB