ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องเริ่มรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องเริ่มรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

จีนและทวีปอเมริกาเหนือได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ให้ทันสมัยเท่าทันโลก เพื่อเป็นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และอีกไม่นานประเทศอื่นๆ จะปฏิบัติตาม

แม้ว่า ณ ขณะนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่พัฒนาไปได้รวดเร็วที่สุดในโลก แต่ก็ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน ทั้งยังมีปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และอีกนับหลายร้อยล้านชีวิตยังอาศัยอยู่ในประเทศที่มีต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและหมู่เกาะเล็กๆ อีกด้วย การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ยังเพิ่มปริมาณขึ้น ควบคู่ไปกับมีการเปลี่ยนไปใช้ระบบดิจิทัล การเปลี่ยนเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม และการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งศูนย์พลังงานอาเซียนได้คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณ GHG เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 147 ในปี 2583 เมื่อยิ่งก้าวหน้ามากขึ้น ก็จะส่งผลกระทบเป็นทอดๆ มาถึงวงการอุตสาหกรรม และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดวิธีคิดแนวใหม่คือ การสร้างอนาคตอันยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 ของสหประชาชาติ ซึ่งกลุ่มธุรกิจและวงการดาต้า เซ็นเตอร์ก็ทำงานอย่างสอดประสานเพื่อนำนโยบายด้านความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้

ในช่วงที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Li-ion) เป็นประดิษฐกรรมที่ช่วยยกระดับเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภคและเป็นขุมพลังให้แก่ดาต้า เซ็นเตอร์ที่ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกับความน่าเชื่อถือและความสม่ำเสมอ และด้วยตอนนี้แบตเตอรี่ Li-ion เป็นเทคโนโลยีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่อุปกรณ์ในชีวิตประจำวันไปจนถึงเทคโนโลยีระดับองค์กรและดาต้า เซ็นเตอร์ จึงทำให้เกิดกระแสในการค้นหาวิธีต่างๆ ที่ดีกว่าเดิมเพื่อช่วยให้สามารถรีไซเคิลแบตเตอรี่ได้อย่างยั่งยืนและมีจริยธรรมมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาได้นั้นต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องพึ่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนมากขึ้นจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และในอนาคต อาจต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานหมุนเวียนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการพึ่งพาแบตเตอรี่ Li-ion สำหรับการจัดเก็บพลังงานจะเติบโตขึ้นและนานาประเทศควรต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับโอกาสที่จะมาถึง

  • ประวัติของแบตเตอรี่ Li-ion แบบคร่าวๆ

ต้นแบบแบตเตอรี่ Li-ion รุ่นแรกได้รับการพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์สามคนในปี 2513 และ 2523 ในขณะที่แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์จได้เชิงพาณิชย์เครื่องแรกได้นำมาใช้ในปี 2534 แบตเตอรี่ได้ความนิยมเพราะว่ามีความหนาแน่นของพลังงานที่มากกว่าและมีอัตตราการคายประจุตนเองต่ำกว่าเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่นิกเกิล ตั้งแต่นั้นมา แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีประสิทธิภาพที่น่าเชื่อถือ ใช้พื้นที่น้อยลง การบำรุงรักษาน้อย และอายุการใช้งานยาวนานขึ้น

แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะมีมานานหลายทศวรรษแล้ว แต่เมื่อประมาณห้าปีที่แล้วแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเพิ่งจะได้นำมาใช้ครั้งแรกกับระบบเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) ของดาต้า เซ็นเตอร์ อีกทั้ง ยังพบว่ามีความทนทานนานกว่าแบตเตอรี่ตะกั่วกรดแบบควบคุมด้วยวาล์ว (VRLA) ทั่วไปถึง 4 เท่า มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นและสามารถลดต้นทุนการบำรุงรักษาลงได้ บริษัทจำนวนมากได้เปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่รุ่นนี้ด้วยเห็นถึงคุณสมบัติอันเป็นประโยชน์ ซึ่งส่งผลให้ระบบสำรองไฟที่ใช้ Li-ion กลายเป็นตัวเลือกที่น่าจับตามอง

  • กระแสการรีไซเคิลแบตเตอรี่ Li-ion

ด้วยจำนวนการใช้แบตเตอรี่ Li-ion เพิ่มมากขึ้น ผู้ใช้งานต้องมีความรับผิดชอบในการรีไซเคิลและกำจัดแบตเตอรี่ทิ้ง ความต้องการรีไซเคิลเริ่มเป็นที่นิยมเมื่อมีปริมาณการใช้แบตเตอรี่ Li-ion ในอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มสูงขึ้นจนเกินกว่าจะมองข้ามไปได้ โดยภูมิภาคเอเชียได้ผลิตแบตเตอรี่ Li-ion มากกว่า 90% ของโลก และประเทศจีนเพียงแห่งเดียวก็มีอัตราการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าถึง 44% ของโลก และเพื่อปรับตัวให้ทันกับความต้องการใช้งาน จีนได้ริเริ่มเทคโนโลยีการรีไซเคิล Li-ion ในช่วงแรก ในขณะที่บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ต่างมีจุดยืนเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนที่จริงจังและแตกต่างจากชาติอื่นๆ เพราะได้ลงทุนจำนวนมหาศาลในด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่อรองรับการรีไซเคิลไว้แล้ว ขณะเดียวกันในวงการดาต้า เซ็นเตอร์ การใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนยังค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ โดยแบตเตอรี่รุ่นแรกๆ ยังคงมีการใช้งานอยู่และน่าจะหมดอายุในอีกหลายปี แม้กระนั้นก็ตาม ตอนนี้ควรจะเร่งหารือในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการรีไซเคิลแบตเตอรี่ Li-ion ให้เร็วที่สุดก่อนที่จะสายเกินไป

  • ทำความเข้าใจกระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ Li-ion

เมื่อแบตเตอรี่ Li-ion หมดอายุการใช้งาน ลำดับแรกแบตเตอรี่จะถูกนำมาคายประจุที่โรงงานรีไซเคิลก่อนเพื่อไม่ให้มีพลังงานตกค้าง หลังจากนั้นจะแยกก้อนแบตเตอรี่ออกเป็นส่วนๆ ด้วยมือหรือวางก้อนแบตเตอรี่ไว้ในเครื่องคัดแยกซึ่งจะทำหน้าที่บดแบตเตอรี่ ไม่ว่ากระบวนการจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือกองเศษผงขนาดเล็กๆ ที่ผ่านกระบวนการคัดแยกและดึงเอาทองแดงและอะลูมิเนียมออกมา ซึ่งสิ่งที่เหลือหลังจากขั้นตอนนี้ก็คือ สิ่งที่อุตสาหกรรมรีไซเคิลรู้จักกันในชื่อ "กากสีดำ (black mass)" หรือผงสีดำที่ละเอียดกว่าเม็ดทราย แต่ไม่ฟุ้งกระจายในอากาศ จากนั้นจึงนำกระบวนการทางเคมีของโลหวิทยาสารละลาย (hydrometallurgy) มาใช้ โดยสามารถกู้คืนองค์ประกอบของแบตเตอรี่ได้ถึง 98% ซึ่งจะสามารถนำไปผลิตแบตเตอรี่ลูกใหม่ได้ โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์กำลังเป็นผู้นำร่องโดยใช้แผนงาน Singapore Green Plan และได้นำระบบโลหวิทยาสารละลายที่ทันสมัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานมาใช้ในการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ Li-ion ด้วย

  • ช่วยลดต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของทั้งหมด (เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น)

แม้ว่าแบตเตอรี่ Li-ion อาจไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเท่ากับแบตเตอรี่ตะกั่ว แต่แบตเตอรี่ Li-ion จำนวนมหาศาลต่างถูกทิ้งลงในหลุมฝังกลบ ในปี 2562 แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 180,000 เมตริกตันซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลได้มากกว่า ครึ่งหนึ่งถูกนำไปฝังกลบ โดยแบตเตอรี่ส่วนใหญ่ที่ถูกทิ้งเป็นแบตเตอรี่ที่อยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค ซึ่งก่อให้เกิดความท้าทายในอีกแง่มุม แต่ก็ยังนับว่าเป็นปัญหาอยู่ อย่างไรก็ตามบริษัทที่พยายามสร้างความยั่งยืนอาจต้องทำงานร่วมกับบริษัทรีไซเคิล Li-ion ที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อพัฒนาแผนงานรีไซเคิลที่สามารถขยายแผนงานต่อไปในอนาคตได้ และประโยชน์ที่ดีและเห็นผลได้เร็วที่สุดเมื่อกลุ่มธุรกิจได้รีไซเคิลผลิตภัณฑ์ Li-ion ที่หมดอายุการใช้งานก็คือ การพัฒนาต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของ

ระบบสำรองไฟแบบ VRLA ในดาต้า เซ็นเตอร์ ที่ใช้งานมานานแล้วสามารถนำไปแลกแบตเตอรี่ Li-ion รุ่นใหม่กว่าได้โดยจ่ายเพียงส่วนหนึ่งของราคาผลิตภัณฑ์เท่านั้น และในขณะเดียวกันบริษัทก็ยังได้ริเริ่มโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอาจช่วยลดภาษีคาร์บอนขององค์กรได้ด้วยในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ เป็นต้น

นอกจากเรื่องคาร์บอนแล้ว แม้เอเชียแปซิฟิกจะสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกถึง 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 โดยคิดเป็นจำนวนมากกว่า 24.9 ล้านตัน (MT) ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แต่ก็ยังนับเป็นโอกาสที่ดีที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้เริ่มโครงการรีไซเคิล โดยโครงการรีไซเคิลระดับประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงนั้นจะสามารถช่วยลดปริมาณการฝังกลบขยะอิเล็กทรอนิกส์ในชุมชนท้องถิ่น ลดการพึ่งพาโรงงานกำจัดขยะ รวมทั้งสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ๆ ให้แก่พลเมืองด้วย

ทุกวันนี้ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ามีการใช้แบตเตอรี่ Li-ion อย่างแพร่หลาย อีกทั้ง ยังมีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมา โลกจึงแทบไม่มีเวลาที่จะผลิตแบตเตอรี่ Li-ion ให้ประหยัดและยั่งยืนมากขึ้น และแม้ว่าวงการดาต้า เซ็นเตอร์ จะเริ่มให้ความสนใจและตระหนักถึงคุณค่าของแบตเตอรีก็ตาม แต่การรีไซเคิล Li-ion ยังไม่ได้รับความสนใจและยังใช้ในวงจำกัดซึ่งต้องใช้ทรัพยากรและกำลังคนเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จีนและทวีปอเมริกาเหนือได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการรีไซเคิล ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และไม่ช้าก็เร็วประเทศอื่นก็จะปฏิบัติตาม การรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่จึงถือเป็นวิธีการอันชาญฉลาดและคุ้มค่ากว่าในการสร้างความแตกต่าง และวงการดาต้า เซ็นเตอร์ ก็ควรเริ่มหันกลับมามองประเด็นดังกล่าวได้แล้ว

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องเริ่มรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน