"สิงห์อาสาสู้ไฟป่า" ระดมเครือข่ายฯ ดูแลป่าต้นน้ำภาคเหนือ-ตะวันออกต่อเนื่อง
"สิงห์อาสาสู้ไฟป่า" ระดมเครือข่ายฯ ดูแลป่าต้นน้ำภาคเหนือ-ตะวันออกต่อเนื่อง พร้อมสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่นดูแลชุมชน ล่าสุดที่ จ.แม่ฮ่องสอน
นับตั้งแต่ต้นปี 65 ที่ผ่านมา สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้จัดโครงการ "สิงห์อาสาสู้ไฟป่า" ร่วมกันรักษาป่าต้นน้ำ ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา 10 สถาบันภาคเหนือ-ภาคตะวันออก รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ลงพื้นที่สนับสนุนป้องกันไฟป่า มอบอุปกรณ์ดับไฟป่า เช่น ถังฉีดน้ำ ไม้ตบไฟ ครอบ คราดสปริง รองเท้าเซฟตี้ดับไฟป่าสำหรับอาสาสมัคร พร้อมด้วยเสบียงอาหาร ทั้งอาหารพร้อมทาน (ข้าวรีทอร์ท) และน้ำดื่ม ส่งความช่วยเหลือในชุมชนต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังไฟป่า และลดปัญหาฝุ่นควันที่เกิดจากปัญหาไฟป่า รวมถึงจัดการอบรมการทำแนวกันไฟ ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากไฟป่า การควบคุม การป้องกันไฟป่าอย่างถูกต้องปลอดภัยให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ต่อเนื่องหลายจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, น่าน และแม่ฮ่องสอน ทั้งยังเตรียมพร้อมส่งความช่วยเหลือจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกอีกด้วย
เป็นประจำทุกปีที่พื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของไทยมักจะประสบกับปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันกระจายปกคลุมพื้นที่ อันเป็นผลมาจากความแห้งแล้งและปัญหาไฟป่า ทำให้สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบ ป่าต้นน้ำเสียหาย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะฝุ่น pm 2.5 ที่ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาได้เกิดสถานการณ์ไฟป่าขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ จนเกิดฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 65 สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ สถานีควบคุมไฟป่าแม่สะเรียง พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่, วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย จัดโครงการ "สิงห์อาสาสู้ไฟป่า" ต่อเนื่อง ที่โรงเรียนบ้านห้วยปลากั้ง ต.แม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และร่วมกับคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่น (pm2.5 cleanroom) โดยในปีนี้จะจัดทำจำนวน 5 ห้อง กระจายไปยังโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดภาคเหนือที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm 2.5 อีกด้วย
คุณรังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า พื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกพบปัญหาไฟป่าและวิกฤติฝุ่นควันเป็นประจำทุกปี ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการทำลายป่าต้นน้ำ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอยู่เสมอ อีกทั้งปัญหาฝุ่นควันยังส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สิงห์อาสา ได้ร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ดำเนินการเฝ้าระวังในพื้นที่จุดเสี่ยงไฟป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถจัดการแก้ปัญหาดับไฟป่าได้อย่างทันท่วงทีและมีความปลอดภัยหากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าขึ้น โดยมีการมอบอุปกรณ์ที่ใช้ในการดับไฟ มอบเสบียงอาหาร น้ำดื่มไว้เติมพลังให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร เพื่อให้แต่ละชุมชนมีความพร้อมในการดูแลพื้นที่ของตนเองอย่างเต็มที่ และดูแลสิ่งแวดล้อมรอบๆ ชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นควันที่เกิดจากไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างมาก รวมถึงปัญหาทางสุขภาพ ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับสมอง เป็นต้น สำหรับการสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่นต้นแบบร่วมกับสิงห์อาสา เป็นการใช้หลักการอุดไม่ให้สิ่งสกปรกภายนอกเข้ามา ถัดมาคือกรองอากาศและดันอากาศที่บริสุทธิ์เข้ามาข้างในแทน จะช่วยลดการสะสมของสิ่งปนเปื้อนในอวัยวะต่างๆ ที่นำมาซึ่งความเจ็บป่วย และยังช่วยลดความร้อน ควบคุมปัญหาเรื่องกลิ่น ความชื้น เชื้อโรค และคุณภาพอากาศภายในห้องด้วย โดยในปีนี้ได้ร่วมมือกับสิงห์อาสาจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นจำนวน 5 ห้อง กระจายไปยังโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดภาคเหนือที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อให้เด็ก เยาวชนและชาวบ้านในพื้นที่สามารถใช้ห้องนี้ได้เมื่อเกิดฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่
นับตั้งแต่ปี 2562 สิงห์อาสาได้สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่า ทั้งในเรื่องของน้ำดื่ม ข้าวสารและอุปกรณ์ดับไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง ได้จัดตั้งศูนย์สนับสนุนเจ้าหน้าที่ดับไฟป่ากว่า 20 จุด ขึ้นในหลายจังหวัดทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในปีนี้เตรียมลงพื้นที่เพื่อสนับ สนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่าจากชุมชนที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง จำนวน 124 ชุมชน จาก 11 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออก ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงไฟป่าทั่วประเทศ ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน ตาก นครนายกและปราจีนบุรี เพื่อส่งมอบอุปกรณ์ดับไฟป่า เสบียงอาหาร น้ำดื่ม รวมถึงจัดอบรมแก่ประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป