"มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี" เพิ่มคุณภาพชีวิตเยาวชนพื้นที่ห่างไกล
"มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี" สานต่อโครงการดูแลคุณภาพชีวิตเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในภาคเหนือ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 38 ช่วยเยาวชนได้รับอาหารที่มีคุณภาพ และถูกต้องตามหลักโภชนาการ
"มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี" เล็งเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในพื้นที่ขาดโอกาสในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนในพื้นที่เขตจังหวัดภาคเหนือ สานต่อโครงการดูแลคุณภาพชีวิตให้กับนักเรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในภาคเหนืออย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 38 รวมมูลค่าการสนับสนุนทุนกว่า 14 ล้านบาท ให้แก่ 90 โรงเรียนในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเยาวชนได้กว่า 10,000 คน ทำให้เยาวชนได้รับอาหารที่มีคุณภาพและถูกต้องตามหลักโภชนาการ
- "อาหาร" จุดเริ่มต้นพัฒนาการเด็ก
ดอล บุญมั่น ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า การดูแลสังคมตลอด 38 ปี ของ มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อช่วยเสริมสร้างโอกาส และความเข้มแข็งให้สังคมโดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และดําเนินกิจการเพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่องภายใต้พันธกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข การช่วยเหลือสังคม การอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้มีการช่วยเหลือโรงเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และมอบทุนอาหารกลางวันมาโดยตลอด เพราะอาหารเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่ทำให้เด็กๆ มีอาหารรับประทานถูกหลักโภชนาการ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถเติบโตขึ้นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มูลนิธิฯ จะดำเนินการมอบทุนอาหารกลางวันอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เครือข่ายโรงเรียนภาคเหนือของประเทศไทย
- สร้างคุณภาพชีวิต สร้างสุขเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล
พงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด กล่าวว่า ทุนอาหารกลางวันฯ นอกจากมิติในการดูแลและมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กโดยตรงแล้ว ยังเชื่อมโยงการพัฒนาเพื่อสร้างการกินดี อยู่ดี ของคนในจังหวัดเชียงราย จากการที่เยาวชนแต่ละคนนำทักษะจากการมีส่วนร่วมรับผิดชอบโครงการในโรงเรียน แบ่งหน้าที่การดูแลพืชผักในแปลง การเลี้ยงสัตว์ การวางแผนต่างๆ อันเป็นทักษะพื้นฐานของการบริหารจัดการในเบื้องต้น ไปถ่ายทอดในครอบครัวหรือญาติพี่น้อง เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ไปยังครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม ตรงตามแนวคิดการช่วยเหลือที่ยั่งยืน นั่นคือการให้ความรู้และทักษะ เพื่อให้เด็กๆ มีความรู้รอบด้านและพึ่งพาตนเองได้
- สร้างความเท่าเทียมเด็กชนบท - เด็กเมือง
"บุญรอด" เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาและเยาวชน และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียม
พงษ์รัตน์ กล่าวต่อว่า การให้โอกาสและความรู้ เพื่อนำโอกาสและความรู้เหล่านั้นไปต่อยอดสู่การพัฒนาตนเองให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวได้ เมื่อเด็กและเยาวชนต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจแจ่มใส ก็จะนำไปสู่การเจริญเติบโตมีคุณภาพที่เท่าเทียม เพราะเมื่อแข็งแรงแล้วก็สามารถเป็นกำลังสำคัญในการส่งต่อความช่วยเหลือไปสู่ผู้อื่นได้
ปิยนี นันทสมบัติ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองหม้อ ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย หนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับมอบทุนโครงการอาหารกลางวันเพื่อโรงเรียนภาคเหนือมากว่า 10 ปี กล่าวว่า โรงเรียนมีเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา จำนวน 125 คน กว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นเด็กชนเผ่า ซึ่งมีทั้งอาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ ม้ง หลายๆ คนเป็นเด็กที่ขาดโอกาส โครงการนี้ทำให้เด็กๆ ได้มีโอกาสรับประทานอาหารที่เพียงต่อร่างกาย ส่งผลให้นักเรียนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนได้อย่างมีความสุข และมีสุขภาวะที่ดี
"เด็กๆ จะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในโครงการสร้างผลผลิตเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ด้วยการปลูกและดูแลพืชผักที่เขาได้รับประทาน เลี้ยงปลาและไก่ ซึ่งเด็กที่รับผิดชอบจะมีรายได้เสริมจากการที่เขาได้ดูแลด้วย และเชื่อว่าในอนาคตเด็กๆ จะสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างภูมิคุ้นกันตัวเองในทุกยุคเศรษฐกิจประเทศ" ปิยนี กล่าว
- ขยายผลสู่ครัวเรือน ยกระดับความเป็นอยู่
ทั้งนี้ มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ยังมีภารกิจที่ครอบคลุมไปในหลายด้าน อาทิ ทุนบุญรอดพัฒนานิสิต นักศึกษา ที่มอบแก่นิสิตนักศึกษา 22 สถาบันทั่วประเทศกว่า 337 ทุน ต่อเนื่องมากว่า 39 ปี อีกทั้งยังมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ คอยออกดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2530 รวมถึงภารกิจของเครือข่ายสิงห์อาสาทั่วประเทศ โดยทั้งหมดนี้ เป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์แห่งการให้ที่มุ่งมั่นในการช่วยเหลือดูแลสังคม และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในทุกมิตินำมาซึ่งความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ผ่านการขยายเครือข่ายจำนวนโรงเรียนที่จะเข้ามาอยู่ในโครงการให้เพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆ ไป
ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการขยายเครือข่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นการปลูกฝังแนวคิดในการพึ่งพาตนเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนในระยะยาว สามารถพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย