กรมชลประทาน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง
กรมชลประทาน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ หลังมีฝนเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่
16 ก.ค. 65 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (16 ก.ค. 65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 46,102 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 29,983 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,011 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 12,860 ล้าน ลบ.ม.
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 16 - 17 ส.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 18 - 19 ส.ค. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก และในช่วงวันที่ 20 - 22 ส.ค. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ทั้งนี้ จึงได้กำชับให้โครงการชลประทาน และสำนักเครื่องจักรกลในพื้นที่เสี่ยงให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำตามเกณฑ์ที่กำหนดและเป็นไปตามแผน รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ติดตามข้อมูลผ่านระบบโทรมาตรมาช่วยในการแจ้งเตือนประชาชนก่อนการระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญให้ปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ทั้ง 13 มาตรการ ตามที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มอบนโยบายไว้ พร้อมตรวจสอบอาคารชลประทาน ประตูระบายน้ำ อาคารชลประทานต่างๆ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งหมั่นกำจัดวัชพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากประชาชนหรือหน่วยงานใด ต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร 1460 สายด่วน กรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา