"แม็คโคร" ต่อยอดไอเดียทายาทโชห่วย ปั้นร้านค้าชุมชนน้องใหม่ "บัดดี้มาร์ท"
กว่า 33 ปีที่ "แม็คโคร" คลุกคลีกับโชห่วยมานาน มีฐานลูกค้ามากกว่า 500,000 ราย "แม็คโคร" จึงต่อยอดไปสู่การพัฒนา "โมเดลทางเลือก" ปั้นร้านค้าชุมชนน้องใหม่ "บัดดี้มาร์ท" ให้ผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดเล็กในชุมชนทั่วประเทศ
ธนิศร์ เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจค้าส่งแม็คโคร ประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เราเป็นธุรกิจค้าส่งที่มี โชห่วย เป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าสำคัญ สร้างยอดขายในอัตราส่วนถึง 30% ในกว่า 30 ปีที่ผ่านมา แม็คโคร ไม่เพียงออกแบบเครื่องมือทางการตลาดที่เข้าไปตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนทำธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กในชุมชน ให้เติบโตและปรับตัวทันการเปลี่ยนแปลง ด้วยโครงการมิตรแท้โชห่วย ที่มุ่งเน้นการพัฒนาร้านค้าให้อยู่รอดและเติบโตเคียงคู่กับชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน
"แม็คโคร กับลูกค้าโชห่วยทั่วประเทศ จึงมีความผูกพันกันมานาน ในทุกปีเรามีการจัดงานตลาดนัดโชห่วย เพื่ออัปเดตเทรนด์ธุรกิจค้า ที่ร้านค้าเล็กๆ ควรรู้หรือนำไปปรับใช้ รวมถึงมีโครงการประกวดทายาทโชห่วย ซึ่งเป็นเวทีแข่งขันไอเดียพัฒนาร้านของคนรุ่นใหม่หรือลูกหลานเจ้าของธุรกิจโชห่วย เมื่อนำมาเสริมกับข้อมูลเชิงลึกที่แม็คโครมี ก็ทำให้ได้ข้อมูลที่เข้าถึงปัญหาอย่างลึกซึ้ง และสามารถสร้างรูปแบบการพัฒนาร้านค้าปลีก ที่ตอบโจทย์ให้โชห่วยได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังจับมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในโครงการพัฒนาสมาร์ทโชห่วย ทำให้เกิดองค์ความรู้เพิ่มเติมที่นำมาต่อยอดให้ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 500,000 รายของเราในทุกมิติ เกิดเป็นโมเดลทั้ง มิตรแท้ชุมชนจนถึงรูปแบบล่าสุดคือ บัดดี้มาร์ท"
บัดดี้มาร์ท เป็นรูปแบบร้านค้าปลีกชุมชน ที่เน้นความสำเร็จรูปในการทำธุรกิจ ตั้งแต่การออกแบบร้าน วางผังการจัดวางสินค้า การเลือกสินค้า โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยบริหารจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และตรงใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในชุมชนนั้นๆ ที่สำคัญมีทีมงานบัดดี้มาร์ท สนับสนุนการวางแผนส่งเสริมการขายและช่วยบริหารจัดการร้านอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีระบบการจัดการสต๊อกและการสั่งซื้อสินค้าเข้าร้านที่รวดเร็ว ทำให้เจ้าของร้านสะดวก มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องใช้เวลาบริหารจัดการมากเท่าเดิม
"ผมคิดว่าการที่ โชห่วย จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบร้าน หรือลงทุนอะไรใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องศึกษารายละเอียดเป็นอย่างดี ซึ่งเราพบว่า ผู้ประกอบการจะให้น้ำหนักกับความเชี่ยวชาญเป็นสำคัญ ซึ่งโมเดล บัดดี้มาร์ท ที่เราพัฒนาขึ้น ผสมผสานความเชี่ยวชาญในด้านสินค้าของ แม็คโคร และประสบการณ์ในการคลุกคลีกับปัญหาของร้านโชห่วยกว่า 30 ปีของเรา ประกอบกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่จากเครือข่ายที่เรามี ในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าของร้านค้าปลีกในชุมชน เราได้นำเทคโนโลยีทันสมัยสำหรับร้านค้าปลีกขนาดเล็กมาใช้ รวมถึงใช้ความชำนาญในการบริหารจัดการสต๊อก ระบบการสั่งซื้อสินค้าและจัดส่งถึงร้านที่รวดเร็ว ที่สำคัญมีกลุ่มพันธมิตรซัพพลายเออร์สินค้าที่แข็งแกร่ง"
รูปแบบร้านค้าปลีกชุมชน บัดดี้มาร์ท เจ้าของร้านจะใช้งบลงทุน 400,000 บาท แบ่งเป็นค่าเงินค้ำประกัน 200,000 บาท และค่าปรับปรุงร้าน 200,000 บาท (ขึ้นกับขนาดและสภาพของร้านปัจจุบัน) มี 3 ขนาดทางเลือกคือ ขนาดเล็ก พื้นที่ 48 ตารางเมตรขึ้นไป ขนาดกลาง พื้นที่ 50-100 ตารางเมตร ขนาดใหญ่ พื้นที่ 100 ตารางเมตรขึ้นไป ส่วนทางบัดดี้มาร์ทจะลงทุนให้กับคู่ค้า มูลค่าประมาณ 1.5 ล้านบาท โดยติดตั้งระบบ POS ระบบบริหารจัดการร้าน อุปกรณ์ชั้นวาง ตู้แช่ และสินค้าทั้งหมดภายในร้าน และยังร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ สร้างการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ที่ติดปัญหาด้านเงินลงทุนด้วย
"ในวันนี้หลายคนอาจมองว่า มีผู้เล่นหลายรายเข้ามาใน ตลาดโชห่วย มากขึ้น ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ ที่จะได้มาช่วยกันพัฒนาตลาดค้าปลีกของไทยให้แข็งแรงยิ่งขึ้น สำหรับ แม็คโคร เราเชื่อว่า เรามีประสบการณ์กว่า 30 ปี และด้วยกลยุทธ์บวกแผนงานที่ชัดเจน พร้อมทีมงานให้คำปรึกษาจากสาขาของแม็คโครทั้ง 147 แห่งใน 69 จังหวัด ทั่วประเทศ บัดดี้มาร์ท จะเป็นทางเลือกให้ร้านโชห่วยที่สนใจได้พัฒนาและเพิ่มยอดขาย และเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่จะช่วยส่งเสริมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของกลุ่มแม็คโครให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น" นายธนิศร์ กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบันตลาดค้าปลีกไทยมีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท โดยธุรกิจ โชห่วย มีสัดส่วนถึง 55% ของตลาดค้าปลีกไทย และโชห่วยยังถือเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SME ภาคบริการที่มีความสำคัญต่อจีดีพีของประเทศ ซึ่ง แม็คโคร ครองส่วนแบ่งสำคัญในตลาดค้าปลีกรายย่อยหรือโชห่วยมายาวนาน และมีกิจกรรมพัฒนาลูกค้ากลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง