สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เคลียร์ทุกประเด็น อำนาจ-หน้าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
เปิดใจสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เคลียร์ทุกประเด็นอำนาจหน้าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ย้ำบอร์ดแบงก์ชาติไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการของ ธปท. ทั้ง กนง. กนส. และไม่มีอำนาจปลด- ตั้งผู้ว่า ธปท. ชี้กระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นไปตามปกติตามวิถีประชาธิปไตย
การคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้นัดหมายกันอีกครั้งในวันที่ 4 พ.ย.2567 เพื่อคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติแทนที่นายปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระไปตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา
ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติในครั้งนี้ประกอบไปด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอชื่อโดยกระทรวงการคลัง ส่วนอีก 2 ชื่อที่เสนอจาก ธปท.มี 2 คน ได้แก่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอิสระ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
ท่ามกลางกระแสการการคัดค้านคนการเมืองแทรกแซงแบงก์ชาติที่ถาโถมมาจากทุกทิศทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 คน นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ และอดีตพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยที่ร่วมลงชื่อไม่ต่ำกว่า 600 คน
ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจข้อเท็จจริงที่มากขึ้นเกี่ยวกับการเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ และอำนาจ-หน้าที่ของประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จึงต้องไปรับฟังข้อมูลจากผู้ที่ทำหน้าที่ประธานคัดเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ “สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงการคลังให้มาทำหน้าที่สำคัญในครั้งนี้
ยันบอร์ดแบงก์ชาติแทรกแซงอิสระธปท.ไม่ได้
กรุงเทพธุรกิจ : .ในฐานะประธานที่ทำหน้าที่คัดเลือกประธานบอร์ดและกรรมการของ ธปท.มีความคิดเห็นอย่างไรกับความห่วงใยว่าประธานบอร์ดหรือคณะกรรมการ ธปท.จะแทรกแซงความเป็นอิสระของการดำเนินงานของ ธปท.
สถิตย์ : คณะกรรมการ ธปท. ไม่มีอำนาจก้าวก่ายการดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน เพราะมีคณะกรรมการต่างหาก ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยอิสระในการดำเนินงาน โดยมีผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธาน
หากจะมีการขอให้ ธปท. ดำเนินกิจการใดๆ น่าจะเป็นเรื่องของรัฐบาลผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งรักษาการตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะตามมาตรา 7 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของ ธปท. ไว้ว่า ต้องดำเนินภารกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลาง เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน ซึ่งการดำเนินภารกิจดังกล่าว ต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย
นอกจากนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินของประเทศนั้นตามมาตรา 28/7 แห่งพรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า การกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินแห่งประเทศ ต้องคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ซึ่งตามกฎหมายเขียนไว้แบบนี้
ยกข้อกฎหมายแจงอำนาจบอร์ดแบงก์ชาติ
กรุงเทพธุรกิจ : ในข้อกฎหมายของ ธปท.เขียนไว้ชัดเจนใช่หรือไม่ ในเรื่องอำนาจหน้าที่ของประธานบอร์ดแบงก์ชาติ กับอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าแบงก์ชาติ เพราะมีความห่วงใยจากหลายส่วนว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะไปแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ
สถิตย์ : เรื่องนี้ถ้าดูตามข้อกฎหมายตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ธปท.ระบุไว้ชัดเจนว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธปท. ให้ยกเว้นกิจการและการดำเนินการซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินก็ดี นโยบายสถาบันการเงินก็ดี ระบบการชำระเงินก็ดี จึงมิใช่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ธปท. แต่อย่างใด
บอร์ดแบงก์ชาติไม่มีอำนาจปลดผู้ว่า
กรุงเทพธุรกิจ : ก่อนหน้านี้มีความกังวลหรือไม่ว่าคณะกรรมการ ธปท. จะเข้าไปก้าวก่ายการดำเนินงานของ ธปท. โดยการปลดผู้ว่าการ ธปท.
สถิตย์ : ผู้ว่าการ ธปท. นอกจากจะพ้นจากตำแหน่งในเหตุอื่นทั่วๆไปแล้วการให้พ้นจากตำแหน่ง เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือคณะรัฐมนตรีมีมตีให้ออก โดยการเสนอของรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ
การจะปลดนั้นต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง ดูตามรูปการณ์แล้ว ไม่มีเหตุที่จะแสดงนัยยะว่า ผู้ว่าการ ธปท.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ จะมีลักษณะณะที่เป็นเหตุไปสู่การให้ออกจากตำแหน่งได้แต่อย่างใด
กรุงเทพธุรกิจ : ผู้ว่าการ ธปท. คนปัจจุบันจะครบวาระในปีหน้า คณะกรรมการ ธปท. มีบทบาทในการคัดเลือกผู้ว่าการ ธปท. คนต่อไป หรือไม่ อย่างไร
สถิตย์ : การแต่งตั้งผู้ว่าการ ธปท. ไม่ได้แต่งตั้งหรือคัดเลือกโดยคณะกรรมการ ธปท. แต่เป็นการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอีกคณะหนึ่งซึ่งแต่งตั้งโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากบุคลที่เคยดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เพื่อทำหน้าหน้ำที่คัดเลือกบุคคลที่ สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการ ธปท.ดังนั้นประธานบอร์ดหรือ บอร์ดของแบงก์ชาติไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตั้งผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่
กรุงเทพธุรกิจ : ที่จริงแล้วบทบาทของประธานบอร์ด และบอร์ดของแบงก์ชาติที่อำนาจ หน้าที่อย่างไรบ้าง?
สถิตย์ : พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้วางหลักไว้ชัดเจน ตามมาตรา 25 ว่า "คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจกิจการและการดำเนินการของ ธปท." เช่น การให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ การกำหนดข้อบังคับว่าด้วยโครงสร้างองค์กรและการบริหารงานบุคคล ข้อบังคับว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อบังคับว่าด้วยการมีส่วนได้เสียและจรรยาบรรณการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น
แจงเกณฑ์คัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
กรุงเทพธุรกิจ : ในการเลือกคณะกรรมการคัดเลือกประธานและกรรมการ ธปท. ครั้งนี้มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกอย่างไร
สถิตย์ : ในการคัดเลือกนั้นคณะกรรมการคัดเลือก ไม่มีอำนาจเสนอชื่อประธานหรือกรรมการ ธปท. แต่อย่างใด ต้องคัดเลือกจากบุคคลที่ผู้ว่าการ ธปท. หรือปลัด กระทรวงการคลังเสนอรายชื่อมาเท่านั้น โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก
ตามกฎหมายที่สำคัญสองประการ คือ
1. ต้องมิใช่บุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ซึ่งนอกจากข้อห้ามโดยทั่วๆไปแล้ว ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ต้องไม่เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงิน หรือเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร หรือมีส่วนได้เสียอย่างมีนัยยะสำคัญในนิติบุคคล ซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ ธปท.
2. ความรู้และประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัฏิบัติหน้าที่ และการมีส่วนได้เสียที่อาจขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ธปท.
กรุงเทพธุรกิจ : คิดอย่างไรกับการแสดงความคิดเห็นในการคัดเลือกประธานคณะกรรมการ ธปท. อย่างกว้างขวาง
สถิตย์ : การแสดงความคิดเห็นถือเป็นครรลองของประชาธิปไตย ยิ่งเป็นการ แสดงความคิดเห็นของครูบาอาจารย์และนักวิชาการที่มีองค์ความรู้ด้วยแล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาดีที่มีต่อการดำเนินงานของ ธปท.และความห่วงใยต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม