เปิดอำนาจ 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ 4 ข้อที่ทำไม่ได้ตามกฎหมาย พ.ร.บ.แบงก์ชาติ

เปิดอำนาจ 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ 4 ข้อที่ทำไม่ได้ตามกฎหมาย พ.ร.บ.แบงก์ชาติ

พลิก พ.ร.บ.แบงก์ชาติไขข้อสงสัย 4 ข้ออำนาจหน้าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ชัดไม่สามารถปลดหรือตั้งผู้ว่า ธปท.ได้ ไม่สามารถแทรกแซงการทำงานของ กนง.ได้ หรือไม่สามารถตัดสินใจเรื่องเอาทุนสำรองเงินตราออกมาใช้ได้ บอร์ดสรรหานัด 4 พ.ย.นี้เคาะชื่อผู้ว่าประธานบอร์ดคนใหม่

การเลือกประธานบอร์ดคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่กลายเป็นประเด็นที่คนในสังคม และแวดวงธุรกิจให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีประเด็นระหว่าง “รัฐบาล” กับ “ธนาคารกลาง” มาอย่างต่อเนื่อง ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายในทางเศรษฐกิจโดยฝั่งรัฐบาลมุ่งไปที่การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วน ธปท.มุ่งไปที่การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

การคัดเลือก "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ" คนใหม่มาแทนที่ปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระไปเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมามีการดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ส.ค.2567 มาถึงปัจจุบันกินระยะเวลายืดเยื้อมานานกว่า 3 เดือนแต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

คณะกรรมการสรรหาที่มีสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้มีการนัดหมายประชุมไปแล้ว 1 ครั้งเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมาแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยฝ่ายเลขานุการบอร์ดของ ธปท.แจ้งว่าขอเลื่อนการประกาศผลประธานและกรรมการคนใหม่ออกไปก่อนเพื่อ “ตรวจสอบคุณสมบัติ” เพื่อให้ได้คนที่ตรงตามคุณสมบัติตามและตามที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้

ชื่อของแคนดิเดตประธานบอร์ดแบงก์ชาติทั้ง 3 คนที่ได้มีการเสนอจากกระทรวงการคลัง และธปท. ได้แก่กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชื่อนี้ถูกเสนอโดยกระทรวงการคลัง  ส่วนอีก 2 ชื่อเสนอจาก ธปท.ได้แก่ กุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอิสระ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

บอร์ดสรรหานัดประชุมรอบใหม่ 4 พ.ย.

โดยบอร์ดสรรหาจะมีการนัดหมายการประชุมคณะกรรมการเพื่อประชุมและลงคะแนนคัดเลือกในวันที่ 4 พ.ย.2567 เวลา 14.00 น.โดยใช้สถานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการคัดเลือกกรรมการจะลงคะแนนในทางลับ และคาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ในวันดังกล่าว

ข่าวลือเรื่องอำนาจประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมากระแสสังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะความกังวลว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่จะเป็นคนที่ฝ่ายการเมืองส่งเข้ามาแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องมีการทำงานอย่างเป็นอิสระ มีการพูดกันในโซเชียลมีเดียร์ว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะเข้ามาไล่ผู้ว่าแบงก์ชาติคนปัจจุบันออกจากตำแหน่ง หรือเข้ามาเลือกผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ หรือแม้กระทั่งจะเข้ามาล้วงเงินทุนสำรองไปให้รัฐบาลใช้  

จริงอยู่ว่าประเด็นต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นกับธนาคารกลางของประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีความเป็นอิสระปลอดจากการแทรกแซงจากการเมือง อย่างไรก็ตามหากดูข้อกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยจะพบว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจกับประธานบอร์ด และบอร์ดของ ธปท.ที่จะสามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ โดยในประเด็นต่างๆที่มีการเข้าใจคลาดเคลื่อนสามารถทำความเข้าใจจากข้อกฎหมายใน พ.ร.บ.ของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นข้อเท็จจริงได้ดังต่อไปนี้

ประธานบอร์ดแบงก์ชาติปลด/ตั้ง ผู้ว่าฯธปท.ไม่ได้

1.ประธานบอร์ดแบงก์ชาติสามารถไล่ผู้ว่าแบงก์ชาติออกจากตำแหน่งได้ ในข้อนี้ก็เป็นการพูดเกินข้อเท็จจริง โดยในข้อนี้อ้างอิงตามกฎหมาย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ในหมวดที่ 5 ของกฎหมายที่พูดถึง ในมาตราที่ 28/19 ได้พูดถึงการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่า ธปท.ว่าจะพ้นตำแหน่งก็ต่อเมื่อดำรงตำแหน่งครบวาระ 5 ปี เสียชีวิต ลาออก ขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้           

นอกจากนั้นการจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาตินั้นตาม พ.ร.บ.ธปท.นั้นกำหนดเงื่อนไขไว้อีก 2 ข้อคือ  ครม.มีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือ ครม.มีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำเเนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ

ในส่วนนี้หากพิจารณาตามข้อกฎหมายจะเห็นว่าไม่มีโอกาสเลยที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะเสนอให้ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้หากไม่มีเหตุที่เป็นเรื่องการบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรงหรือหย่อนความสามารถ ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะมีการท้วงติงว่าตัวเลขกรอบเงินเฟ้อนั้นหลุดจากกรอบเป้าหมายที่ 1-3% แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ตำหนิว่าเป็นการไร้ความสามารถ ขณะที่ในการหารือกันล่าสุดระหว่าง พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กับดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่า ธปท.รมว.คลังก็ยอมให้กับแนวคิดกรอบเงินเฟ้อ 1-3% ของ ธปท.ดังนั้นการที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะลุกขึ้นมาเสนอปลดผู้ว่าแบงก์ชาติคงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะหากจะปลดกันจริงก็ต้องผ่าน ครม.อีกทั้งคณะ ซึ่งเรื่องนี้พรรคร่วมไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอนหากไม่มีเหตุผลเพียงพอ  

2.ประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะมาทำหน้าที่ในการเลือกผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่สังคมอาจจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับอำนาจของประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เพราะว่าหากดูตามข้อกฎหมายแล้ว ประธานบอร์ดแบงก์ชาติไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ โดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 28/14 ว่า ในกรณีที่จะต้องมีการแต่งตั้งผู้ว่าการ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่งประกอบด้วยบุคคลที่เคยดำรงดำแหน่งตามที่กำหนดในมาตรา 28/1  จำนวนเจ็ดคน เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองคน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นเลขานุการ

การแต่งตั้งผู้ว่าการเพื่อดำรงตำแหน่งตามวาระ ให้คณะกรรรมการคัดเลือกเสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคสองต่อ ครม.เพื่อพิจารณาก่อนครบวาระเป็นเวลาอย่างน้อยเก้าสิบวัน ในกรณีที่ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่ง จะเห็นว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติไม่ได้ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ว่าธปท.แต่อย่างใด

บอร์ดแบงก์ชาติล้วงทุนสำรองเงินตราไม่ได้ 

3.ประธานบอร์ดแบงก์ชาติมีอำนาจในการเข้าไปล้วงเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาให้รัฐบาลใช้  เรื่องนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงกันอย่างมาก แต่ประเด็นนี้หากดูในข้อเท็จจริงแล้ว เมื่อพูดถึงเรื่อง “ทุนสำรอง” ซึ่งหมายถึงทุนสำรองระหว่างประเทศ และทุนสำรองเงินตรานั้น ตาม พ.ร.บ.ของธปท.ในหมวดที่ 3 ว่าด้วยทุนสำรองเงินตราซึ่งรวมกันอยู่ในส่วนที่เรียกว่า "สินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย"  ซึ่งคือทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่ประกอบด้วย ทองคำ เงินตราต่างประเทศ พันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ แต่ในส่วนของทุนสำรองเงินตรา ธปท.จะต้องแยกออกมาบริหารต่างหากเพราะส่วนนี้ใช้สำหรับหนุนหลังการออกธนบัตรในประเทศ  ซึ่งตาม พรบ.เงินตราบอกว่า ทุนสำรองเงินตราต้องดำรงไว้ไม่ให้ต่ำกว่า 60% ของปริมาณธนบัตรที่พิมพ์ออกหมุนเวียนในระบบแต่ของไทยนั้นมีการใช้ในสัดส่วนที่สูงกว่านี้

หากดูตาม พ.ร.บ.ธปท. มาตรา 25(8) ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของบอร์ดแบงก์ชาติ ที่โยงไปมาตรา 35 ว่าด้วยอำนาจในการกำหนดนโยบายการบริหารสินทรัพย์ของ ธปท. (ทุนสำรองระหว่างประเทศ)  บอร์ดแบงก์ชาติมีอำนาจในการกำหนดนโยบายได้  แต่ต้องเห็นในทิศทางเดียวกันทั้งบอร์ด ถ้าประธานเห็นคนเดียว แต่ในบอร์ดคนอื่นๆไม่เอาด้วยก็ทำอะไรไม่ได้  แต่หากสมมุติว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติเกิดสามารถไปเกลี้ยกล่อมให้ทั้งบอร์ดแบงก์ชาติเห็นทิศทางเดียวกันหมด ก็สามารถจะไปยุ่งเกี่ยวกับเงินทุนสำรองได้แต่ได้เฉพาะการกำหนดนโยบายการนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้แต่ไม่รวมทุนสำรองเงินตรา

ส่วนประเด็นทองคำหลวงตามหาบัวนั้นแบงก์ชาติกำหนดให้อยู่ในทุนสำรองเงินตรา และแยกบัญชีให้ต่างหากเป็นพิเศษด้วย เรียกว่า "บัญชีสำรองพิเศษ"  ซึ่งหมายความว่าเป็นบัญชีที่ไม่ว่าใครก็จะไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวได้และไม่ได้ โดยทองคำส่วนนี้เป็นส่วนที่ใช้ในการหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรของประเทศไทยเท่านั้น

และ 4.ประธานบอร์ดแบงก์ชาติสามารถที่จะเข้าไปแทรกแซงนโยบายเศรษฐกิจและการเงินได้  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คณะกรรมการที่อยู้ภายใต้การกำกับของ ธปท.แล้วมีอำนาจใกล้เคียงกับเรื่องนี้มากที่สุดคือคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่ง ภายใต้ พ.ร.บ. ธปท. พ.ศ. 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ธปท. (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551กำหนดให้ กนง.มีจำนวนกรรมการทั้งหมด 7 คน โดยมีผู้ว่าการเป็นประธาน เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมติที่ กนง. กำหนด และเพื่อให้มีการเชื่อมโยงกับคณะกรรมการด้านนโยบายอื่นๆ ของ ธปท.

นอกจากนั้น มีรองผู้ว่าการอีก 2 คนและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 4 คนเป็นกรรมการใน กนง. เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจผู้ว่าการตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ซึ่งนอกจาก กนง.มีอำนาจในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา และจัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงิน เพื่อเป็นแนวทางให้แก่รัฐและ ธปท. ในการดำเนินการร่วมกันด้วย

 จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ของ ธปท.นั้นให้อำนาจของประธานบอร์ดแบงก์ชาติไว้เพียงควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการและการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย และมีการเขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 25 ของพ.ร.บ.ธปท.ปี 2551 ว่าคณะกรรมการของแบงก์ชาตินั้นไม่เกี่ยวข้องกับกิจการและการดำเนินการที่เป็นเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน

แต่ให้ทำงานทั่วไปเช่นพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดำเนินกิจการและการดำเนินการของ ธปท. รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของผู้ว่าการ และกำหนดข้อบังคับว่าด้วยโครงสร้างองค์กร และการบริหารงานบุคล และกำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน และกำหนดข้อบังคับว่าด้วยการป้องกันการมีส่วนได้เสียและจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

ต้องจับตาดูว่าการเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่จะสามารถดำเนินการได้ตามกำหนดหรือไม่ ท่ามกลางกระแสการคัดค้านของอดีตผู้ว่า ธปท.และนักวิชาการกว่า 227 คนที่ยื่นหนังสือไม่เห็นด้วยกับการส่ง “คนการเมือง” แทรกแซงการทำงานของ ธปท. แม้ว่าตามข้อกฎหมายจะไม่ได้ให้อำนาจประธานบอร์ดแบงก์ชาติทำอะไรได้ตามอำเภอใจแต่เรื่องความไว้วางใจที่สังคมจะมีต่อคนที่ดำรงตำแหน่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจก่อนที่จะมีกระแสต้านมากกว่าที่เป็นอยู่