ความรู้เรื่องทางการเงิน (financial literacy) (1) : หลักสากลและวิธีวัด
ในยุคที่ประชาชนเป็นหนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่ค่อยรอด รายได้เพิ่มช้ากว่าหนี้สินและสวนทางกับอัตราการออม ความรู้เรื่องทางการเงิน
เริ่มเป็นที่พูดถึงหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิต และหลายคนก็เริ่มมองว่าภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังความรู้เรื่องทางการเงินตั้งแต่เด็ก สำคัญไม่แพ้การสอนให้เด็กๆ อ่านออกเขียนได้
หลายองค์กรในไทยดำเนินโครงการให้ความรู้ทางการเงิน (financial education) โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมความรู้เรื่องทางการเงิน แต่ยังทำแบบต่างคนต่างทำ ส่วนใหญ่ยังไม่วัด “ผลผลิต” (output) ของการศึกษา เช่น ทดสอบความรู้หลังจบโครงการ หรือติดตามสอบถามผู้เข้าร่วมโครงการว่าสามารถจัดการเงินได้ดีขึ้นมากน้อยเพียงใด
โครงการให้ความรู้ส่วนใหญ่วัดแค่ “ปัจจัยนำเข้า” (input) ของการศึกษา เช่น จำนวนผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งบางองค์กรตีความว่านี่คือ “ผลผลิต” ของโครงการแล้ว หากแต่ที่แท้มันสะท้อนความสำเร็จขององค์กร (ตามตัววัดที่กำหนดเอง นั่นคือ สำเร็จในการระดมคนมารับการอบรม) มากกว่าความสำเร็จของการให้การศึกษา (คือผู้เรียนมีทักษะติดตัวมากขึ้น เอาทักษะไปใช้ในการจัดการเงินได้ดีขึ้น)
โครงการเหล่านี้ยังเข้าไม่ถึงผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการความรู้เรื่องทางการเงินอย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะมีเงินน้อยที่สุดแต่ถูกมรสุมชีวิตท้าทายมากที่สุด เนื่องจากมีรายได้ไม่แน่นอนและเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ มากมาย
อีกประเด็นที่พบในไทย คือ “เนื้อหา” ของโครงการเหล่านี้ผูกติดกับพันธกิจขององค์กรที่ดำเนินโครงการ จนไม่ครอบคลุมเรื่อง “พื้นฐาน” ที่จำเป็นต่อการสร้างความรู้เรื่องทางการเงิน
ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน (Thailand Securities Institute : TSI) ซึ่งดำเนินโครงการให้ความรู้ทางการเงินอย่างยาวนานกว่าทศวรรษ เน้นแต่หัวข้อเกี่ยวกับ “การลงทุน” เป็นหลัก ส่วนโครงการของสถาบันการเงิน (ซึ่งมักจะทำเป็นส่วนหนึ่งของ “กิจกรรมซีเอสอาร์”) ก็มักจะเน้นเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เป็นหลัก
TSI เน้นเรื่องการลงทุนในหุ้นก็เพราะเป็นบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันการเงินต่างๆ เน้นเรื่องวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินก็เพราะรายได้หลักของตัวเองมาจากการขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จึงย่อมอยากได้ “ลูกค้า” มากขึ้น
เรื่องนี้ไม่มีอะไรผิดและไม่น่าแปลกใจ เพียงแต่น่าเสียดายและอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า “ความรู้เรื่องทางการเงิน” หมายความแค่การรู้จักวิธีวางแผนการลงทุนและวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ของสถาบันการเงินเท่านั้น ทั้งที่มันมีความหมายกว้างกว่านี้มาก และสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้เลย จะต้องเริ่มต้นจากทักษะขั้นพื้นฐานกว่านั้นมาก อาทิเช่น ความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง “สิ่งที่จำเป็น” (need) กับ “สิ่งที่อยากได้แต่ไม่จำเป็น” (want) การบันทึกรายรับรายจ่าย ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องค่าของเงินผ่านกาลเวลา ความเสี่ยงที่ส่งผลต่อฐานะทางการเงิน ฯลฯ
ในแง่หนึ่ง การให้การศึกษาทางการเงินที่เริ่มต้นเรื่องการออมเพื่อลงทุนกับการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เปรียบได้กับการสอนหลักสูตรปริญญาโทให้กับเด็กที่ยังเรียนไม่จบประถมปีที่หก นอกจากนี้ยังสุ่มเสี่ยงว่าผู้สอนจะ “นิยาม” ความรู้เรื่องทางการเงินอย่างคับแคบเกินไป เช่น ตีความ “การออมเงินเป็น” ว่าหมายถึง “การมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารและมาฝากเงินอย่างสม่ำเสมอ” ทั้งที่คนไทยหลายล้านคนออมเงินไว้กับตัวเองหรือสถาบันการเงินนอกระบบทางการ เช่น สัจจะลดรายจ่าย สหกรณ์ออมทรัพย์ บัญชี 2 ในกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ
การไม่มีบัญชีธนาคาร ไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นไม่รู้เรื่องทางการเงิน
แล้ว “ความรู้เรื่องทางการเงิน” หมายถึงอะไร? กล่าวอย่างสั้นที่สุด ปัจจุบันคำนี้หมายถึง “ชุดทักษะและความรู้ที่ช่วยให้ปัจเจกสามารถจัดการทรัพยากรทางการเงินของตัวเองทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีข้อมูลครบถ้วน” ตั้งแต่เรื่องการหารายได้ การออม การลงทุน การจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่าย และการวางแผนทางการเงิน
นิยามหนึ่งที่ผู้เขียนชอบคือนิยามที่ OECD ใช้กับแบบข้อสอบ PISA (ย่อมาจาก Programme for International Student Assessment) ซึ่งเป็นชุดข้อสอบทักษะระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับสูงสุดชุดหนึ่งในโลก
ข้อสอบ PISA ประจำปี 2012 (ซึ่งจะประกาศผลราวปลายปี 2013) เป็นครั้งแรกที่ทดสอบ “ความรู้เรื่องทางการเงิน” ของนักเรียนวัย 15 ปี ใน 18 ประเทศ โดยคณะผู้จัดทำข้อสอบชุดนี้ให้ PISA นิยาม “ความรู้เรื่องทางการเงิน” ไว้ว่า
“ความรู้เรื่องทางการเงิน หมายถึงความรู้และความเข้าใจแนวความคิดที่เกี่ยวกับการเงิน ความเสี่ยงทางการเงิน รวมถึงทักษะ แรงจูงใจ และความเชื่อมั่นที่จะใช้ความรู้และความเข้าใจเหล่านี้ในการตัดสินใจที่มีประสิทธิผล ในหลากหลายบริบททางการเงิน เพื่อปรับปรุงความอยู่ดีมีสุขทางการเงินของปัจเจกและสังคม และช่วยให้สามารถมีส่วนร่วมในชีวิตทางเศรษฐกิจ”
ผู้เขียนชอบนิยามนี้เพราะมันประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกพูดถึงลักษณะ “ความรู้และความเข้าใจ” ที่เกี่ยวข้อง ส่วนหลังพูดถึง “เป้าหมาย” ว่าเราควรพัฒนาชุดความรู้และความเข้าใจไปทำไม - PISA เสนอว่า “เพื่อปรับปรุงความอยู่ดีมีสุขทางการเงินของปัจเจกและสังคม และช่วยให้สามารถมีส่วนร่วมในชีวิตทางเศรษฐกิจ”
พูดง่ายๆ คือ เรื่องการเงินนั้น “รู้” อย่างเดียวไม่พอ ต้อง “ใช้” ความรู้ในชีวิตประจำวันเป็น ส่งผลให้ฐานะทางการเงินดีขึ้นจริงๆ ด้วย จึงจะพิสูจน์ได้ว่า “รู้เรื่อง” จริงๆ
นอกจากจะนิยามได้ดีแล้ว ข้อสอบเรื่องความรู้เรื่องทางการเงินของ PISA ยังชัดเจนและวัดระดับความรู้เรื่องทางการเงินขั้นพื้นฐานได้ค่อนข้างดีอีกด้วย (ดูตัวอย่างคำถามและคำอธิบายได้ที่ www.bankokbiznews.com)
วันนี้ความรู้เรื่องทางการเงินเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังให้ความสำคัญ เนื่องจากระบบสวัสดิการสังคมของรัฐกำลังเผชิญแรงตึงเครียดเป็นประวัติการณ์ จากภาระหนี้สาธารณะ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุ และพัฒนาการใหม่ๆ ในตลาดการเงินซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ซับซ้อนเข้าใจยากกว่าที่แล้วมาทุกสมัย ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ มีโครงการให้ความรู้ทางการเงินระดับชาติ
อย่างไรก็ตาม โครงการเหล่านี้จวบจนปัจจุบันยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิชาการว่าช่วย “ปรับปรุงความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน” ได้อย่างมีประสิทธิผล และนักวิจัยด้านนี้หลายคนก็ส่งเสียงเตือนถึงเราระวัง “ลักษณะทางการเมือง” ของโครงการให้ความรู้ทางการเงินหลายโครงการ ซึ่งพวกเขามองว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการถ่ายโอนความเสี่ยงจากรัฐหรือเอกชน มาให้ปัจเจกแบกรับมากขึ้น (เช่น เงินออมหลังเกษียณ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน ฯลฯ) และดังนั้นจึงเรียกร้องว่าโครงการทำนองนี้ควรถูกยกเครื่องเสียใหม่
ไม่อย่างนั้นโครงการเหล่านี้อาจสุ่มเสี่ยงจะทำให้คนมองว่าความล้มเหลวทางการเงินเป็นปัญหาส่วนตัวของเขาคนเดียว (ที่ “ไม่รู้เรื่อง” เอง) และเข้าใจผิดว่าความเสี่ยงทางการเงินไม่เกี่ยวอะไรกับการเมือง และสถาบันการเงินก็ไม่ต้องรับผิดชอบ (เช่น เปิดเผยเงื่อนไขชัดเจน ไม่ขายพ่วงประกันกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ฯลฯ) อะไรเลย เพราะผู้บริโภคมี “หน้าที่” ฝ่ายเดียวที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจทางการเงิน
โปรดติดตามตอนต่อไป