ความตาย ความหมายตัวตน : หนังสือแจกงานศพ (1)
ผมได้รับเกียรติจากโครงการ หนังสือเก่าชาวสยาม สังกัดในศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร (องค์กรมหาชน) ให้เข้าร่วมการสนทนาทางวิชาการครั้งที่ 5
เรื่อง “เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์” ที่จัดเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2556 จึงขอนำบางส่วนมาเล่าให้อ่านกันนะครับ
โครงการหนังสือเก่าชาวสยามซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ได้แก่ ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (STKS) สำนักหอสมุดแห่งชาติ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักพิมพ์ต้นฉบับ ได้ทำหน้าที่ที่สำคัญยิ่งในการสืบทอดความรู้ประวัติศาสตร์ให้แก่สังคมไทย ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่ออายุหนังสือและเอกสารเก่าให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสสืบสายใยแห่งความรู้
ในงานสนทนาที่จัดขึ้น ผมได้ความรู้จากวิทยากรและทานผู้เข้าร่วมงานมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณธงชัย สันติพรสวรรค์ (กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ต้นฉบับ : ผมเรียกว่า “พี่อ้วน” แต่หน้าท่านดูเป็นหนุ่มกว่าผมมากเกินกว่า 10 ปี ฮา) ผู้ถือได้ว่ารอบรู้หนังสือเก่าระดับต้นของสังคมไทย ต้องขอบคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้
ผู้เข้าร่วมงานทุกท่านตระหนักถึงความสำคัญของหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์หรือหนังสือแจกงานศพ แต่ก็มีความกังวลใจอยู่ว่าปัจจุบันความใส่ใจในการทำหนังสือลักษณะนี้ลดลงมาก เหลือเพียงผู้มีฐานะและสถานะสูงในสังคมเท่านั้นที่ยังคงใส่ใจในการจัดพิมพ์ ส่วนที่พิมพ์แจกกันทั่วไป มักจะเป็นการจัดพิมพ์เพื่อมีหนังสือแจกเท่านั้น ไม่ได้พิถีพิถันในการเลือกเรื่องจะพิมพ์สักเท่าใด โดยมีผู้รับจัดพิมพ์ทางอินเทอร์เน็ตก็จะมีชุดหนังสือ (โดยมากแล้วเป็นหนังสือธรรม และหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ) อยู่จำนวนหนึ่งไม่มากนักให้เลือก ซึ่งทำให้เสมือนว่าสังคมไทยขาดตอนความต่อเนื่องของการถ่ายทอดทางปัญญาไป
ด้วยเหตุที่ท่านผู้เข้าร่วมเห็นความสำคัญของการพิมพ์หนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์เช่นนี้ จึงมีคำถามคล้ายคลึงกันว่าจะทำอย่างไรให้การพิมพ์หนังสือแจกงานศพนี้ดำเนินต่อไปอย่างมีคุณค่าในสังคมไทย เพราะประเพณีการพิมพ์หนังสือแจกงานศพนี้มีในสังคมไทยเพียงที่เดียวในโลก
ผมคิดว่าการที่คนไทยทั่วไปในปัจจุบันไม่ใส่ใจในการพิมพ์หนังสือแจกงานศพเหมือนคนรุ่นก่อนหน้านี้เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงในระบบการคิดและความรู้สึกหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญ ได้แก่ ความคิดเรื่องการทำบุญที่สัมพันธ์อยู่กับความคิดเรื่องความตาย
แม้ว่าคนไทยยังคงเชื่อในเรื่องการทำบุญไม่ว่าจะอุทิศบุญให้แก่ผู้ตายหรือบำเพ็ญบุญให้ตนเองในวันนี้ แต่การทำบุญทั้งหลายลดมิติลงเหลือเพียงแค่ทำบุญให้แก่วงการเฉพาะทางศาสนาเท่านั้น การทำบุญให้แก่สังคมกลับลดน้อยถอยลง เราจะเห็นการถวายเงินทองมากมายให้แก่พระสงฆ์เพื่อทำไปสร้างถาวรวัตถุทางศาสนาต่างๆ ซึ่งในหลายกรณีเป็นเรื่องที่ตลกมากๆ เช่น จะสร้างพระแก้วมรกตจำลองให้ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นต้น แต่การทำบุญเพื่อที่จะให้สังคมได้มีโอกาสร่วมกันเรียนรู้ต่างๆ กลับลดลงอย่างมาก หากจะให้โอกาสเรียนรู้ก็จำกัดตัวเหลือแค่เรียนรู้เรื่องธรรมเฉพาะเรื่องเฉพาะประเด็นเท่านั้น
แน่นอนว่า ตลาดของหนังสือและโอกาสการเรียนรู้ของสังคมกว้างขวางมากกว่าเดิม ผู้คนสามารถหาหนังสืออ่านได้ง่ายดายกว่าเมื่อก่อนมาก ดังที่จะเห็นได้ว่าการพิมพ์หนังสือแจกงานศพที่เริ่มมีเมื่อต้นทศวรรษ 2460เป็นการคิดในเรื่องการทำบุญให้แก่ผู้คนในสังคมได้มีโอกาสอ่านและเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เพราะในสมัยนั้นการพิมพ์หนังสือแจกนั้นมีต้นทุนที่สูงมาก หนังสือจึงมีน้อยมาก สมเด็จกรมพระดำรงราชานุภาพจึงทรงเลือกให้การตายให้เป็นประโยชน์ในการศึกษาด้วยการสนับสนุนให้พิมพ์หนังสือแจกงานศพเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย
แต่การที่ตลาดหนังสือขยายตัวออกกว้างขวางนี้ ไม่ได้กีดขวางการทำบุญทางด้านการศึกษาแต่ประการใด เพราะหากใส่ใจที่จะทำบุญก็สามารถสร้างความหลากหลายของหนังสือที่จะพิมพ์แจกได้ ซึ่งก็จะเป็นคุณค่าต่อการเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้ง เช่นว่า หากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติคิดในเรื่องนี้ให้ดี ก็สามารถจะเป็นตัวกลางให้เกิดการเชื่อมต่อการทำบุญแก่สังคมได้อย่างกว้างขวาง แต่เผอิญไม่ยอมคิดกันต่างหาก ผมไม่รู้เหมือนกันว่าสำนักงานพระพุทธฯทำอะไรกันอยู่ นอกเหนือจากการดูว่าเจ้าอาวาสวัดไหนสร้างถาวรวัตถุเข้าตาเข้าเกณฑ์ก็จะวางการเลื่อนสมณศักดิ์ให้ท่านนั้นๆ
หนังสือที่มีคุณค่าอีกมากมายอีกมากมายที่สำนักพิมพ์ทั่วไปไม่พิมพ์ขาย หากสำนักพระพุทธฯ/กระทรวงศึกษาสนับสนุนด้วยการมีคณะกรรมการสักหนึ่งชุดคอยช่วยให้คำแนะนำในการเลือกหนังสือ รวมทั้งมีกองทุนสนับสนุนการพิมพ์แลกกับหนังสือจำนวนหนึ่งที่จะมอบให้หน่วยงานเพื่อแจกไปตามห้องสมุด หากคิดทำกันอย่างนี้ งบประมาณก็ใช้ไม่มากและจะเอื้อให้เกิดการสืบต่อความรู้เพื่อสังคมต่อไป ที่สำคัญ หากคิดกันในลักษณะนี้ จะเสริมสร้างการคิดถึงเรื่องการทำบุญเพื่อสังคมให้กลับมาเข้มแข็งอีกโสดหนึ่งด้วย
กล่าวได้ว่าสังคมไทยไม่สืบต่อการคิดถึงการบุญเพื่อสังคม จึงทำให้ “บุญ-กรรม” กลายเป็นเรื่องของปัจเจกชนไม่เกี่ยวข้องกับสังคม ขณะเดียวกัน การทำบุญทำทานจึงผันแปรไปจากการแสวงหาทนทางไปสู่การคิดเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นเพื่อบรรลุสู่ “อนัตตา” มาสู่การทำบุญเพื่อ “แก้กรรม” ของปัจเจกชน
จึงไม่แปลกใจที่ ลัทธิพิธี "แก้กรรม" จึงขยายตัวอย่างมากในสังคมไทยช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
การทำบุญเพื่อสังคมเป็นเรื่องที่เราทั้งหมดต้องคิดกันให้มากขึ้นนะครับ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว การประกาศว่าเมืองไทยเป็นเมืองพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นลมปากมากขึ้นเรื่อยๆ
การ “ทำบุญ” เพื่อคนตายเป็นการก่อสร้างประเพณีสำคัญมากมายขึ้นในโลกนี้ เพราะการมีชีวิตกับความตายเป็นเสมือนสองหน้าของเหรียญเดียวกัน ความตายจึงไม่ได้แยกออกจากการมีชีวิตอยู่ ความตายจึงสะท้อน “ความหมายของชีวิต”
“ความหมายของชีวิต” ที่ผู้คนสำนึกหรือยอมรับ ย่อมมีผลอย่างลึกซึ้งต่อพฤติกรรมทางสังคม เพราะ “ความหมายของชีวิต” ย่อมรวมเอาอุดมคติ วิธีคิด โลกทัศน์ เป้าหมายในชีวิต ตลอดจนวิธีการในการบรรลุเป้าหมายของชีวิตที่คนคนหนึ่งจะเลือกใช้ ซึ่ง “ความหมายของชีวิต” นี้มิได้เป็นของปัจเจกบุคคลโดดๆ เพราะบุคคลไม่ว่าจะมีจิตสำนึกแบบปัจเจกชนนิยมหรือไม่ก็ตาม ย่อมได้รับอิทธิพลจากสังคมและวัฒนธรรมที่ตนใช้ชีวิตอยู่