มหัศจรรย์ 70/20/10 (ตอนจบ)

มหัศจรรย์ 70/20/10 (ตอนจบ)

ช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาทองที่องค์กรไทยควรเริ่มต้นขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวออกไปจากสภาพแวดล้อมเดิม

มีองค์กรชั้นนำมากมายที่บริหารจัดการในแนวทาง 70/20/10 โดยแบ่งเวลาในการปฏิบัติงานของพนักงานเป็น 3 ส่วน คือ ร้อยละ 70 ใช้ไปในการทำงานประจำวัน ร้อยละ 20 ใช้ไปในการพัฒนาตนเองและปรับปรุงงานให้ดีขึ้น และร้อยละ 10 ใช้ไปในการคิดสร้างสรรค์หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไปจากธุรกิจหลัก นี่เองจึงเหตุผลว่าทำไมองค์กรเหล่านี้จึงสามารถพัฒนากระบวนการใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลอดจนรูปแบบธุรกิจใหม่ ที่แตกต่างหลากหลายไปจากเดิม หรืออาจไปไกลจากธุรกิจเดิมจนกลายเป็นธุรกิจใหม่ในที่สุด โดยตัวเลข 70/20/10 นี้ มีการอ้างอิงถึงใน 3 ส่วนสำคัญคือ ด้านการศึกษา ด้านกลยุทธ์ และด้านการจัดการ

ตัวเลข 70/20/10 ที่เราพบเห็นในทุกวันนี้ไม่ใช่อะไรใหม่ เพียงแต่ในอดีตเป็นหลักที่ใช้ในด้านการศึกษาหาความรู้ของคน รูปแบบของการเรียนรู้และพัฒนาดังกล่าวได้มีการศึกษาวิจัยและสังเกตการณ์ ตลอดต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จนถึงปัจจุบันได้ใช้ในการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้น

 Morgan McCall และเพื่อนร่วมงานที่ทำงานด้วยกันที่ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำเชิงสร้างสรรค์ (Center for Creative Leadership – CCL) มักได้รับการยกย่องและให้การยอมรับว่าเป็นผู้ให้กำเนิดอัตราส่วนที่ว่า 70:20:10 ร่วมกับผู้ช่วยของเขา 2 คนคือ Michael M. Lombardo และ Robert W. Eichinger โดยเผยแพร่ข้อมูลจากผลการศึกษาของ CCL ไว้ในสมุดวางแผนที่เรียกว่า The Career Architect Development Planner ของปี 1996

ผลสำรวจจากกลุ่มผู้จัดการที่มีสมรรถนะสูงและประสบความสำเร็จในการบริหารงาน ที่ทำร่วมกันของทั้ง 3 คนนี้ แสดงให้เห็นเป็นสัดส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้

    ร้อยละ 70 ผู้จัดการที่มีประสิทธิผลสูง ใช้ไปในการดูแลความเรียบร้อยของงานภายใต้ความรับผิดชอบหลัก
    ร้อยละ 20 ใช้ไปในการดูแลคน หรือผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรง
    ร้อยละ 10 ใช้ไปในการเรียนรู้ เข้าอบรม เสริมทักษะ และการอ่าน

อัตราส่วน 70:20:10 ที่มักใช้ไปเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาในช่วงแรกนั้น ไม่เพียงแต่อยู่บนฐานของผลการศึกษาโดย CCL เท่านั้น แต่จากการสำรวจและข้อมูลเชิงประจักษ์อื่นๆล้วนแต่ชี้ให้เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของงานในกระบวนการ ในขณะที่เหลือเกิดขึ้นรอบๆงานและนอกเหนืองาน

สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นซึ่งระบุไว้ในโครงการ “การศึกษารูปแบบการเรียนรู้ของผู้ใหญ่” โดย Professor Allen Tough ในทศวรรษ 1960 และ 1970 พบว่าส่วนใหญ่ของการเรียนรู้เกิดขึ้นด้วยตนเองภายในสถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งส่งผลที่เป็นประโยชน์อย่างมาก อาจกล่าวได้ว่า การเรียนรู้นั้นเกิดจากการวางแผนโดยตัวผู้เรียนเอง แม้ว่าในเวลานั้น Tough จะไม่ได้แยกออกมาเป็นสัดส่วน 70:20:10 ให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ก็ได้รับการยกย่องว่านั่นคือสิ่งที่เขาค้นพบ

องค์กรมากมายรับเอาอัตราส่วน 70:20:10 นี้ไปใช้ ตัวอย่างองค์กรชั้นนำที่มีแบรนด์ระดับโลก อาทิ ผู้ผลิตเลนส์แว่นตาชั้นนำของฝรั่งเศส (Essilor) ซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการจัดการองค์กร (SAP, Oracle) บริษัทที่ปรึกษา (Ernst & Young,KPMG, PwC) ผู้ผลิตรองเท้าชั้นนำ (Nike) บริษัทซอฟท์แวร์และระบบปฏิบัติการอันดับหนึ่ง (Microsoft) ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ (Dell, HP) ธนาคารและสถาบันการเงิน (American Express, Bank of America, Goldman Sachs, ANZ Bank) ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ (Coca-Cola) และอีกหลายบริษัทในหลายธุรกิจอุตสาหกรรม

ความสำคัญและคุณค่าของอัตราส่วน 70:20:10 ได้ทลายกรอบการเรียนรู้แบบเดิม ทำให้ไม่จำกัดไว้แค่การเรียนรู้ในห้องเรียนและตามโครงร่างเนื้อหาหลักของหลักสูตรเท่านั้น หากแต่ได้ขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์จากสถานที่ปฏิบัติงาน (on the job training - OJT) และการเรียนรู้ผ่านสังคมรอบข้าง โดยเป็นไปเพื่อการปรับปรุงและการขยายผลการฝึกอบรมและการเรียนรู้แบบเดิมให้ไปสู่สถานที่ทำงาน (ซึ่งสอดรับกับแนวคิดการจัดการความรู้ Knowledge Management ที่ฮิตมากในปัจจุบัน) ตัวเลข ‘70’ หมายถึงการเรียนรู้ภายในกระบวนการ ในสถานที่ทำงาน และการสนับสนุนต่างๆเพื่อให้ผลการดำเนินงานดีขึ้น ในขณะที่ตัวเลข ‘20’ เป็นการเรียนรู้ผ่านสังคมและคนรอบข้าง (KM เรียกกว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Knowledge sharing และการร่วมกลุ่มเป็นชุมชนนักปฏิบัติ Community of Practice – CoP) รวมไปถึงการโค้ช การเป็นพี่เลี้ยง และการให้คำปรึกษาแนะนำ ผ่านเครือข่ายเชิงสังคม

ด้านกลยุทธ์ ในปี 2002Charles Jennings ผู้บริหารระดับสูงด้านการเรียนรู้ และนวัตกรที่พัฒนาแนวทางการเรียนรู้ขององค์กรแบบใหม่ๆ ได้นำเอาอัตราส่วน 70:20:10 มาพัฒนาให้เป็นตัวแบบเชิงกลยุทธ์เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจริงที่ Reuters โดย Jennings ได้เผยแพร่บทความ หนังสือ เพื่อขยายแนวคิด 70:20:10(Learning & Development Model) ให้เป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับนักพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้ใช้งาน เขายังได้ให้คำปรึกษากับองค์กรมากมายทั่วโลกเกี่ยวกับการนำหลัก 70:20:10 นี้ไปใช้ในทางปฏิบัติ

ด้านการจัดการ หลักการ 70/20/10 ได้กลายเป็นตัวแบบนวัตกรรมในการจัดการธุรกิจ ที่นำเสนอโดย Eric Schmidt และนำมาใช้ที่ Google ในปี 2005 ตัวแบบนี้มีบทบาทอย่างมากในการบ่มเพาะให้เกิดวัฒนธรรมนวัตกรรม (Productive Lifestyle หรือ Innovative Culture) โดยพนักงานทุกคนควรจะใช้เวลาทั้งหมดในสัดส่วนดังนี้

    ร้อยละ 70 ของเวลา ควรใช้ไปในงานหลักของธุรกิจ
    ร้อยละ 20 ของเวลา ควรใช้ไปในการทำโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก การพัฒนาต่อยอดให้ธุรกิจหลักดีขึ้น (Adaptive หรือ Incremental innovation)
    ร้อยละ 10 ของเวลา ควรใช้ไปในโครงการที่ไม่สัมพันธ์โดยตรงกับธุรกิจหลัก และนี่เองที่นำไปสู่แนวคิดสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรมใหม่ (Transformative หรือ Breakthrough innovation)

ถ้าเราค้นหารูปภาพจากคำค้น “70/20/10” ท่านจะเห็นโมเดลน่าสนใจของบริษัทชั้นนำหลากหลาย ที่สื่อให้เห็นกลยุทธ์การจัดการองค์กร กรณีตัวอย่างที่ Coca-Cola ได้รณรงค์ด้วยการขยายความกลยุทธ์ 70:20:10 นี้ว่าเป็น Now/Next/New สัดส่วนของเวลาตามความสูงของขวด ซึ่งสะท้อนตัวตนของ Coke ได้เป็นอย่างดี

เชื่อว่าช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาทองที่สำคัญ สำหรับองค์กรของไทยมากมาย ที่ควรเริ่มต้นขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวองค์กรออกไปจากสภาพแวดล้อมเดิม (Comfort zone) ที่เริ่มไม่เหลือความได้เปรียบในการแข่งขันแล้ว ไปสู่ความสามารถใหม่ที่นำเอาความรู้ความสามารถเดิมที่สั่งสมมา พัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่จนถึงการสร้างนวัตกรรมให้ได้ในที่สุด