วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย

วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย

การที่เราจะเข้าใจในความเป็นประชาธิปไตยของไทย หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง

มิใช่เพียงเพราะการศึกษาสถาบันทางการเมืองหรือพฤติกรรมทางการเมืองของประเทศหรือสังคมนั้นๆ เท่านั้น เพราะการสร้างประชาธิปไตยต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านวัฒนธรรมทางการเมืองซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยในประเทศนั้นประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

วัฒนธรรมทางการเมืองคืออะไร

วัฒนธรรมหมายความถึงแนวความคิด แนวปฏิบัติ หรือเทคนิควิธีดั้งเดิมที่ใช้ร่วมกัน โดยกลุ่มคนพวกเดียวกัน ฉะนั้น วัฒนธรรมทางการเมืองจึงหมายถึงแบบแผนของทัศนคติและความเชื่อของบุคคล ที่มีต่อระบบการเมืองของกลุ่มสมาชิกของระบบการเมืองหนึ่ง โดยวัฒนธรรมทางการเมืองในแต่ละชุมชนก็จะมีความเป็นตัวของตัวเองซึ่งถูกกำหนดขึ้นหรือได้รับอิทธิพลจากสภาวะแวดล้อม เช่น ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา โดยผ่านกระบวนการขัดเกลาทางการเมือง (political socialization) โดยสถาบันต่างๆ เช่น ครอบครัว เพื่อน โรงเรียน กลุ่มสังคมและสื่อมวลชน เพื่อที่จะถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมืองจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่อง และมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมต่างๆ อยู่เสมอ

ประเภทของวัฒนธรรมธรรมทางการเมือง

1) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบดั้งเดิมจำกัดวงแคบ (parochial political culture) คือวัฒนธรรมทางการเมืองของบุคคลที่ไม่รู้และไม่สนใจการเมือง และไม่คิดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเมือง คนที่มีความคิดแบบนี้จึงไม่คิดที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้ประชาชนมีสำนึกทางการเมืองต่ำ ขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองพูดง่ายๆ แบบภาษาเหนือ ก็คือ “บ่ฮู้ บ่หัน” ไม่สนใจอะไรทั้งนั้นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

2) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า (subject political culture) คือวัฒนธรรมทางการเมืองที่บุคคลในสังคมสนใจการเมืองบ้าง แต่เข้าใจการเมืองในลักษณะที่ยอมรับอำนาจของผู้ปกครอง ดังนั้น จึงไม่สนใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง พูดง่ายๆ แบบภาษาเหนือก็คือ “เอาเปิ้นว่า” หรือ “เขาเอาอย่างไรก็เอาอย่างนั้น” นั่นเอง

3) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม (participant political culture) คือวัฒนธรรมทางการเมืองที่บุคคลสนใจการเมืองและตระหนักว่าการเมืองมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเขาในทุกด้าน พวกเขาจึงกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีกิจกรรมทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

ความสำคัญของวัฒนธรรมทางการเมือง

1) วัฒนธรรมทางการเมืองช่วยสร้างความชอบธรรม (legitimization) ให้กับระบอบการปกครอง เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองทำให้ประชาชนยอมรับระบอบการปกครองนั้นๆ เช่น วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้าก็จะยอมรับระบอบเผด็จการ หลายๆ ประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมือง จึงได้มีการผลิตซ้ำวัฒนธรรมทางการเมืองที่สนับสนุนระบอบการปกครองอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ เช่น จีนหลังการปฏิวัติ ค.ศ.1949 ก็สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองให้เหมาะกับระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ สหภาพโซเวียตก็สร้างค่านิยมแบบ Soviet Man ขึ้นมา จอมพล ป.พิบูลสงครามก็ปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมือง “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” และล่าสุดก็มีการสร้างค่านิยม 12 ประการเพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมืองขึ้นมา

2) วัฒนธรรมทางการเมืองช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตัวอย่างเช่น กรณีอาหรับสปริง ส่วนของไทยก็คือกรณีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่คณะราษฎรที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงล้วนแล้วแต่เป็นผู้ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือยุโรปและส่วนใหญ่จากฝรั่งเศส จึงได้รับวัฒนธรรมทางการเมืองที่เน้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุด หรือกรณี 14 ตุลา 16 และพฤษภา 35 ก็เช่นกัน

วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย

ประเทศไทยเราจากอดีตที่ผ่านมา คนไทยเรามีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้ามากกว่าแบบมีส่วนร่วม จึงทำให้เกิดผลคือการเมืองไทยถูกครอบงำด้วยข้าราชการและทหารติดต่อกันมา แต่จากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังปี 2500 เป็นต้นมา ทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ในสังคมไทย ซึ่งคนกลุ่มใหม่นี้เป็นผู้ได้รับการศึกษาในแบบตะวันตก เป็นกลุ่มคนที่เติบโตมากับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มีความมั่นใจในตัวเองและติดต่อกับชาติที่เป็นประชาธิปไตยมาก ทั้งอิทธิพลจากสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้เขาเหล่าได้รับรู้รับทราบถึงความเป็นไปในโลกกว้าง ทำให้พวกเขาต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น

กอปรกับการเปลี่ยนของชุมชนชนบทไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อาชีพชาวนาถูกแปรสภาพไปเป็นผู้รับจ้างทำนาหรือเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำนาผ่านโทรศัพท์มือถือ วัฒนธรรมทางการเมืองของชนบทได้เปลี่ยนแปลงไปตามการขยายตัวของเมืองใหญ่ การติดต่อสื่อสาร การเข้ามาทำงานในเมืองของคนจากชนบทและกลับไปรับใช้สังคมบ้านเกิด ทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองในชนบทเกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น มีการสำนึกในการปกครองท้องถิ่นที่เชื่อว่าไม่มีใครรู้ปัญหาของท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่นเอง มีการรณรงค์จังหวัดจัดการตนเองกันอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศ

จึงสามารถกล่าวได้ว่า ปัจจุบันวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยกำลังเคลื่อนจากวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า ไปสู่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม แน่นอนว่าในช่วงระยะของการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรมทางการเมืองหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมทางการเมืองหนึ่ง ย่อมเผชิญกับการต่อต้านของกลุ่มวัฒนธรรมทางการเมืองเดิม สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยหรือมีการสะดุดเป็นระยะๆ หรือในบางครั้งก็ถอยหลัง แต่ถึงอย่างไรก็คงต้องเดินหน้าอยู่ดี

ภาวะของวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยเราจึงอยู่ในระหว่างการยื้อยุดฉุดกระชากกันและกัน ระหว่างวัฒนธรรมทางการเมืองเก่ากับวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ จนทำให้เกิดภาวะประหลาดขึ้น ดังคำกล่าวของ Antonio Gramsci ที่เคยว่าไว้นานแล้ว คือ “The old world is dying away,and the new world struggles to come forth : now is time of monster.” นั่นเอง