“เพดานแก้ว” กับ เพศหญิง
ชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมพ์ ในเวทีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
อาจไม่ใด้เป็นเพียงชัยชนะทางการเมืองการปกครองของพรรครีพับบลิกัน ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสหรัฐอเมริกา แต่ยังเป็นความพ่ายแพ้ของการเมืองด้านความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างเพศ ในประเทศที่วางตัวว่าเสรีประชาธิปไตยที่สุดในโลก หากแต่ยังขาดความเท่าเทียมในเรื่องนี้
ภาพของสตรีจำนวนหนึ่งที่เป็นผู้สนับสนุนนางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ร่ำไห้ในค่ำคืนของการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง สะท้อนความผิดหวังที่ไม่สามารถมีประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศอย่างชัดเจน เป็นที่น่าสนใจว่าสหรัฐเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าเพียงไม่กี่ประเทศ ที่ยังไม่เคยมีผู้นำของประเทศเป็นผู้หญิงเลย ต่างจากหลายประเทศในยุโรปหรือเอเชีย อย่างเยอรมนี สหราชอาณาจักรเกาหลีใต้ และไต้หวัน ซี่งในปัจจุบันประเทศเหล่านี้มีผู้นำเป็นเพศหญิงทั้งหมด
มีคำเปรียบเปรยที่ว่า “เพดานแก้ว” หรือ glass ceiling หมายถึงอุปสรรคอันเสมือนจะมองไม่เห็นว่ามีอยู่ (เพราะความใสเหมือนแก้ว) แต่ก็เป็นตัวกีดกั้น ซึ่งมีอยู่จริงสำหรับผู้หญิงหรือคนที่ด้อยโอกาสกว่าบางกลุ่ม อย่างคนเพศที่สาม หรือคนกลุ่มน้อยที่แตกต่างทางชาติพันธุ์ สีผิว หรือศาสนา ที่จะเติบโตไปในหน้าที่การงานหรืออาชีพบางประเภท ส่วนใหญ่ธรรมเนียมแบบเพดานแก้วจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกกฎหมาย หมายถึง กฎหมายไม่ได้ให้การยอมรับ แต่ก็เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในหลายๆ สังคม ทั้งสังคมประชาธิปไตย สังคมอำนาจนิยม และสังคมเผด็จการ
ที่มาของปรากฏการณ์ “เพดานแก้ว” สำหรับเพศหญิงนั้น สืบเนื่องจากหลายสิ่ง แต่เข้าใจได้ง่ายที่สุดจากประวัติศาสตร์ที่ผู้ชายเป็นใหญ่ (กว่า) ในสังคมโลก แม้แต่คำว่า “ประวัติศาสตร์” ในภาษาอังกฤษ หรือ “history” ยังเป็นคำประสมระหว่างคำว่า his (ของเขาผู้ชาย) กับ story (เรื่องราว) ตลอดจนความเชื่อและแบบแผนต่างๆ ในสังคม ที่มักจะให้โอกาสกับผู้ชายมากกว่า เหล่านี้ทำให้ทัศนคติต่อเพศหญิงไปจนถึงการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกลายเป็นสิ่งที่คุ้นชิน และอาจเลยไปถึงระดับของอคติและความอยุติธรรมในหลายๆ สังคม
หลายคนมองว่าความก้าวหน้าของผู้หญิง ในพื้นที่ทางการเมืองเป็นตัวชี้วัดที่ดีว่า สังคมหนึ่งๆ ได้สามารถเปิดหรือทะลุเพดานแก้วออกมาได้หรือไม่ เพียงไร เพราะการเมืองเกี่ยวพันกับโครงสร้างทางอำนาจ ซึ่งส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพ นโยบายสาธารณะ และความสัมพันธ์ของคนในสังคมได้โดยตรง
นอกจากการมีผู้หญิงในตำแหน่งผู้นำทางการเมือง นโยบายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศสภาพของรัฐบาล ก็เป็นอีกตัวสะท้อนว่า สังคมนั้นให้ความสำคัญกับการเปิดหรือทลายเพดานแก้วมากน้อยเพียงใด
กรณีของประเทศแคนาดา เป็นบทเรียนที่ดีในเรื่องนี้ เพราะคณะรัฐมนตรีของประเทศนี้มีจำนวนหญิงและชายเท่าเทียมกัน คือมีอย่างละ15 คน พอดิบพอดี นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ซึ่งชนะเสียงส่วนใหญ่ของการเลือกตั้งและสาบานตนเข้าสู่ตำแหน่งเมือเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ให้สัมภาษณ์กับสื่อซึ่งถามเขาว่า ทำไมเขาจึงให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลทางเพศในคณะรัฐมนตรีขนาดนี้ ด้วยคำตอบเรียบๆ ว่า “เพราะนี่มันปีคศ.2015 แล้ว” (“Because it’s 2015!”)
อันที่จริง ไม่ได้มีเพียงแคนาดาที่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ประเทศอย่างฝรั่งเศส ลิกเตนสไตน์ และ ฟินแลนด์ ก็มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ไม่แพ้กัน ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศไม่ได้มีเพียงเรื่องสัดส่วนของจำนวนรัฐมนตรี แต่ยังปรากฏในนโยบายอื่นๆ ที่เน้นเพิ่มโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมศักยภาพให้ผู้หญิงได้พัฒนาและประสบความสำเร็จทัดเทียมผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การจ้างงาน การให้ค่าตอบแทน การป้องกันความรุนแรงต่อผู้หญิง และ การค้าประเวณีหรือการค้ามนุษย์ เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น การใช้คำพูดหรือการแสดงออกของผู้นำทางการเมือง โดนเฉพาะผู้นำทางการเมืองที่เป็นผู้ชายในนานาอารยประเทศในปัจจุบันก็มักจะถูกคาดหวังว่าต้องให้เกียรติผู้หญิง รวมไปถึงคนกลุ่มน้อยและผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ เนื่องจากเป็นคุณลักษณะที่ดีของผู้นำ โดยเฉพาะในสังคมโลกที่มีความหลากหลายอีกทั้งยังคุกรุ่นไปด้วยความขัดแย้ง อันสืบเนื่องมาจากความแตกต่างในด้านต่างๆ
ทว่า สถานการณ์ในหลายๆ ประเทศ กลับไม่เป็นไปในทิศทางอันเป็นอารยะเท่าใดนัก ผู้นำประเทศที่เป็นผู้ชายจำนวนหนึ่งยังคงแสดงออกถึงทัศนะแบบชายเป็นใหญ่ และไม่ให้ความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงเท่าที่ควรจะเป็น
ที่โด่งดังและเป็นประเด็นมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา ก็เห็นจะหนีไม่พ้นโดนัลด์ ทรัมพ์นั่นเอง ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง มีการนำเสนอประเด็นต่างๆเกี่ยวกับทัศนคติและคำพูดในแนวเหยียดเพศ (sexist) ของเขาผ่านสื่อต่างๆมากมาย โดยส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในเรื่องผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศและมีหน้าที่บริการผู้ชาย ทั้งนี้ คนที่จัดทำและเผยแพร่เนื้อหาเหล่านี้ก็น่าจะมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะที่เป็นเพศหญิงไม่พอใจและไม่ลงคะแนนให้ทรัมพ์ แต่กาลกลับไม่เป็นไปตามที่คาด ซ้ำร้ายสถิติที่เปิดเผยออกมาจากการทำ exit โพลแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงอเมริกันผิวขาวประมาณร้อยละ 53 ลงคะแนนให้ทรัมพ์
ในทำนองเดียวกัน ประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์นายโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ก็มีทัศนะต่อเพศหญิงที่ไม่ต่างจากทรัมพ์นักและมักจะแสดงออกในลักษณะเดียวกัน จนเขาได้สมญานามว่า “ทรัมพ์แห่งตะวันออก” (Trump of the East) หรือแม้แต่ผู้นำรัฐบาลทหารในประเทศไทยเอง ก็เคยแสดงออกอยู่เนืองๆ ว่า ไม่ได้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ แถมเมื่อเรามีผู้นำเป็นผู้หญิง ก็กลับไม่ได้เข้าสู่อำนาจด้วยความสามารถของตนเอง และยังถูกล้อเลียน เหยียดหยันจากความเป็นผู้หญิงอยู่ตลอด
ฉะนี้แล้ว พ่อแม่ที่มีลูกสาวคงต้องให้ความหวังลูกของตัวเองต่อไปเหมือนที่ฮิลลารี่ คลินตัน บอกกับผู้สนับสนุนนางว่า “วันหนีง วันหนึ่งจะมีคนทะลายเพดานแก้วนั้น มันจะต้องเกิดขึ้น”