“ทำงานหลังเกษียณ” ความสุขผู้สูงวัย..ไฟยังแรง
สวัสดีค่ะ เมื่อไม่นานมานี้หลายคนคงได้ข่าวที่ประเทศไทยเรามีนโยบายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่เกษียณจากงานประจำแล้ว
ให้ได้มีโอกาสกลับเข้าสู่ชีวิตการทำงาน โดยมีมาตรการส่งเสริมทางภาษีให้บริษัทนายจ้างที่รับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทำงานบริษัทสามารถหักลดหย่อนภาษีได้2 เท่า ซึ่งทำให้เกิดความตื่นตัวให้หลายๆ บริษัทเริ่มหันมาพิจารณารับคนวัยเกษียณเข้าทำงานค่ะ
ดิฉันจึงจะขอนำแนวคิดของตัวอย่างกิจการเพื่อสังคมรายหนึ่งในฮ่องกง ที่มีไอเดียในการรับคนสูงวัยเข้าทำงานและพบว่าเป็นโมเดลที่น่าสนใจและได้ผลไม่น้อยทีเดียว นั่นก็คือร้านอาหาร “Gingko House” ที่มีความพิเศษและแตกต่างจากร้านอาหารอื่นๆ ตรงที่พนักงานเสิร์ฟที่นี้จะมีผมสี “ดอกเลา” หรือเป็นผู้สูงวัยเสียเป็นส่วนใหญ่ค่ะ
โดยทั่วไปแล้วผู้สูงวัยส่วนมากมักไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการ “เกษียณ” เมื่อครบกำหนดถึงอายุการเกษียณการทำงานตามกฎหมาย เช่นประเทศไทยเราโดยมากกำหนดไว้ที่ 60 ปี หรือบางองค์กรอาจอยู่ที่ 55 ปี แต่ก็ยังมีผู้สูงวัยอีกมากที่ยังต้องการทำงานและต้องการมีรายได้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ร้านอาหาร Gingko House ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมแห่งนี้จึงสนับสนุนรับผู้สูงวัยเข้าทำงาน เพื่อเติมเต็มความต้องการของพวกเขาในการยังคงมีชีวิตหน้าที่การงานที่ดีแม้ว่าอายุจะเลยวัยเกษียณแล้วก็ตาม
ร้านอาหาร Gingko House ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2006 โดยกลุ่มอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน โดยพวกเขาเห็นจากการที่ได้สัมผัสว่าผู้สูงอายุนั้นต้องรู้สึกแย่ขนาดไหนเมื่อต้องพบกับความยากลำบากในการหางานทำอีกครั้ง พวกเขาจึงพยายามทำให้สังคมรับรู้ ด้วยการรับผู้สูงวัยเข้าทำงาน ปัจจุบันจึงมีผู้สูงวัยแล้วกว่า 2,000 รายที่ได้รับการจ้างงานโดย Gingko House ที่มีสาขาอยู่หลายแห่งทั่วทั่วฮ่องกง
ตัวอย่างของผู้สูงวัยรายหนึ่งที่ทำงานที่ร้านอาหารแห่งนี้คือ “จอร์ช ฟง มานชุน” วัย 72 ปี ที่รู้สึกว่าการยังคงมีงานทำนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตอย่าง “มีความหมาย” เพราะการมีงานทำทำให้ใจของเขานั้นปราศจากเรื่องกังวลอื่นๆ เพราะมุ่งมั่นอยู่กับการทำงาน ซึ่งทำให้ร่างกายของเขานั้นยังคงแข็งแรงและทำประโยชน์ต่อสังคมได้
โดยก่อนหน้านี้ที่เขาต้องเกษียณจากงานประจำก่อนหน้านี้ เขารู้สึกเหมือนกำลังสูญเสียมากกว่าจะรู้สึกดีใจหรือตื่นเต้น แต่โชคดีที่ Gingko House เปิดโอกาสให้เขาได้กลับมาเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิตอีกครั้ง แม้ผู้สูงวัยบางคนอาจจะรู้สึกดีใจที่จะได้มีเวลาว่างเพื่อทำให้ในสิ่งอื่นๆ ที่ชอบทำ แต่การทำงานก็เป็นความชอบอย่างหนึ่งของเขา
ผู้สูงวัยอีกรายหนึ่งที่เป็นพนักงานของร้าน คือ“เจสสิกา ซิว ซุยฉิง” ที่มีอายุ72 ปีเช่นเดียวกัน เธอกล่าวว่าการได้กลับมาทำงานอีกครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตของเธอไปเลยทีเดียว โดยทำให้รู้สึกมีความมั่นใจและมีความสุขมากขึ้น และเธอรู้สึกเปรียบเสมือนว่าการได้รับการจ้างานอีกครั้งในวัยหลังหกสิบปีนั้นเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของชีวิต เพราะก่อนหน้านี้เธอคิดว่าเธอคงไม่มีประโยชน์ คงไม่มีใครจ้างและเธอคงทำอะไรเพื่อสังคมไม่ได้อีกแล้ว
สำหรับซุยฉิง ภารกิจของเธอคือการเป็นฝ่ายแคชเชียร์และฝ่ายบริการลูกค้า เธอบอกว่าเธอชอบพบปะพูดคุยกับลูกค้า ซึ่งก็เป็นงานที่คล้ายๆ กับเมื่อตอนที่เธอเป็นผู้จัดการโรงแรมก่อนหน้านี้ และแม้ทุกวันนี้เธออาจจะเดินช้าลงหรือเดินกระย่องกระแย่งไปบ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่สาเหตุที่จะหยุดเธอจากการรับบทบาทหรืองานใหม่ๆ ได้ ปัจจุบันเธอจึงร่วมงานกับภัตตาคารแห่งนี้มากว่า 8 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพนักงานผู้สูงอายุมีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย ทางร้านอาหารGingko House จึงใช้ระบบครึ่งกะ เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานเพียง 4-6 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้พนักงานสูงอายุยังสามารถเลือกทำงานในตำแหน่งต่างๆได้ตราบเท่าที่พวกเขายังทำงานได้
เธอบอกว่าลูกค้าหลายรายประทับใจที่เห็นผู้สูงวัยทำงาน ครั้งหนึ่งเมื่อเธอทำหน้าที่เสิร์ฟอาหาร นักศึกษาพากันมาหาเธอแล้วพูดจากับเธออย่างเคารพและให้เกียรติ รวมถึงยังเชื้อเชิญให้เธอร่วมถ่ายรูปด้วยกัน
ทั้งนี้ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ GingkoHouse“เคนเนธ ชอย มันคิน” กล่าวว่าเขาไม่ต้องการให้การรับผู้สูงอายุเข้าทำงานเป็นเพียง “กิมมิค” ของร้านอาหารแห่งนี้ แต่เขาคิดว่าคุณภาพของทั้งอาหารและบริการต่างหากที่ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีกครั้ง โดยทางร้านยังมีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจออกไปโดยการจ้างงานผู้สูงวัยมากขึ้นต่อไปในอนาคตอีกด้วp
“สิ่งที่เราทำคือ เราต้องการให้ธุรกิจนี้เป็นแบบ Win-Win นั้นคือทั้งลูกค้า ทั้งทางร้าน และผู้สูงวัย ต่างก็ได้ประโยชน์”
ผู้สูงวัยบางคนอาจต้องการหาความมั่นคงทางการเงินและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ตัวเองในวัยชรา ขณะที่ยังมีผู้สูงวัยอีกหลายคนที่ “อายุเป็นเพียงตัวเลข” ยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง และต้องการตอบโจทย์ในชีวิตตนเองด้วยการทำงานที่พวกเขารัก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบใด เราก็คงเห็นเทรนด์นี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามยุค “สังคมผู้สูงอายุ” ในปัจจุบันค่ะ