"ความทันสมัย”: เส้นทางคดเคี้ยวของจีน
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศว่าจะพาจีนบรรลุ “ความทันสมัย” ให้ได้ในปี ค.ศ. 2035 คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ “อะไรคือ ความทันสมัย” และเพราะเหตุ
สี จิ้นผิง จึงเลือกใช้คำนี้เป็นเป้าหมายของจีน
ถ้าจะตอบคำถามเหล่านี้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจเส้นทางคดเคี้ยวของประวัติศาสตร์จีนเสียก่อน
คนจีนมักเล่าถึงประวัติศาสตร์ยุคใกล้ว่า เริ่มต้นตั้งแต่สงครามฝิ่นในปี ค.ศ. 1840 ก่อนหน้าสงครามฝิ่น คนจีนหลงคิดว่าตนเป็นศูนย์กลางของโลก เพิ่งมาเริ่มตาสว่างว่า โลกตะวันตกเขาไปถึงไหนกันแล้ว หลังจากที่แพ้สงครามฝิ่นแก่อังกฤษ
ตั้งแต่นั้นมา ปัญญาชนจีนเริ่มสนใจคำภาษาอังกฤษว่า “Modernization” และต่างคนต่างเริ่มถวายฎีกาเสนอความเห็นว่า จะพัฒนาจีนให้เป็นประเทศทันสมัยทัดเทียมกับตะวันตกได้อย่างไร คำว่า “ความทันสมัย”(และความคิดว่าจีนล้าหลัง) จึงเป็นเหมือนเสี้ยนแทงใจชนชั้นนำจีนมาตลอด
คำตอบแรกสุดที่ปัญญาชนจีนคิดได้ ก็คือ จีนล้าหลังเรื่อง “วัตถุและเทคโนโลยี” แม้ว่าจีนจะเหนือกว่าตะวันตกในเรื่องระบบการปกครอง และวัฒนธรรม (เพราะลัทธิขงจื๊อประเสริฐที่สุดในโลก)
ปัญญาชนจีนในสมัยแรกๆ มองว่า “ความทันสมัย” คือการมีอาวุธยุทโธปกรณ์ทัดเทียมกับตะวันตก ดังนั้นจึงเกิดช่วงปฏิรูปครั้งแรกในราชสำนักจีน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1861 – 1895 โดยเน้นที่การลงทุนซื้ออาวุธและเทคโนโลยี
แต่สุดท้ายพอถึงเวลารบจริง แม้จะมีอาวุธชั้นนำแล้ว แต่กองทัพจีนกลับแพ้ไม่เป็นท่า
ในปี ค.ศ. 1895 คนจีนเริ่มตาสว่าง (และตาค้างด้วย) เมื่อจีนพ่ายแพ้ให้แก่ญี่ปุ่นอย่างราบคาบ ก่อนหน้านี้ที่แพ้ให้แก่อังกฤษ และประเทศตะวันตก ชนชั้นนำจีนยังพอรับได้ แต่มาพ่ายแพ้ให้ประเทศที่ราชสำนักจีนไม่เคยมองอยู่ในสายตาอย่างญี่ปุ่น แสดงว่าต้องมีอะไรที่ราชสำนักจีนทำผิดพลาดแน่ๆ
จึงนำมาสู่คำตอบใหม่ของปัญญาชนจีนว่า แท้จริงแล้ว จีนล้าหลังเรื่อง “ระบบการเมือง” เพราะเมื่อดูความสำเร็จของญี่ปุ่น จะเห็นว่าญี่ปุ่นได้ดำเนินการปฏิรูปการเมือง ระบบราชการ และระบบกฎหมาย
จักรพรรดิกวางซวี่โปรดแนวคิดดังกล่าว และเริ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปรอบที่สองในปี ค.ศ. 1898 โดยเน้นปฏิรูปเชิงสถาบัน เช่น เปลี่ยนระบบการคัดเลือกข้าราชการ ปฏิรูปการบริหารจัดการกองทัพ ปฏิรูประบบการศึกษา วางแผนตั้งรัฐสภาและให้จักรพรรดิอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฯลฯ
การปฏิรูปครั้งนี้ มีอีกชื่อหนึ่งว่า “การปฏิรูป 100 วัน” เพราะเริ่มต้นได้เพียง 100 วัน พระนางซูสีไทเฮาก็ปฏิวัติ ยึดอำนาจจากจักรพรรดิกวางซวี่ และเด็ดหัวพวกปฏิรูปหมด
ต่อจากนั้นไม่นาน ราชวงศ์ชิงก็ล่มสลาย นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองต่อเนื่องตามมาอีกยาวนาน
ปัญญาชนจีนในยุควุ่นวายได้เริ่มเสนอคำตอบใหม่อีกครั้ง โดยมองว่าหัวใจของ “ความทันสมัย” อยู่ที่ “วัฒนธรรมความคิด” จนเกิดการรณรงค์ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 ซึ่งได้ชื่อว่า“การรณรงค์วัฒนธรรมใหม่” ของนิสิตนักศึกษาในปักกิ่ง
ปัญญาชนจีนรุ่นนั้นมองว่าความล้าหลังของจีนอยู่ที่วัฒนธรรมเก่าอย่างวัฒนธรรมขงจื๊อ และจีนจะ “ทันสมัย” ได้ ต้องอาศัยคน 2 คน คือ Mr. Science (นายวิทยาศาสตร์) กับ Mr. Democracy (นายประชาธิปไตย) ถ้าคนจีนยังไม่รู้จัก 2 คนนี้ ก็ไม่มีหวังจะเป็นประเทศทันสมัยได้
ผลจากการรณรงค์วัฒนธรรมใหม่ นำไปสู่การศึกษาวัฒนธรรมความคิดของตะวันตกอย่างจริงจัง
หนึ่งในกระแสความคิดที่ได้รับการบุกเบิก ก็คือ แนวคิด “มาร์กซิสต์” ซึ่งปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากปัญญาชนคนรุ่นใหม่ของจีนในยุคนั้น เพราะเป็นเสมือน “ทางสายกลาง” ไม่เดินตามแบบประเทศทุนนิยมตะวันตก (ซึ่งคนจีนตอนนั้นไม่ชอบและเห็นว่ารังแกจีน) ขณะเดียวกันก็มีรากเหง้าจากวัฒนธรรมความคิดตะวันตกที่เป็นวิทยาศาสตร์ (แตกต่างจากความคิดล้าหลังโบราณของขงจื๊อ)
ถัดจากนั้น จีนได้เผชิญความวุ่นวาย ความแตกแยก และสงครามกลางเมืองเรื่อยมา จนในปี ค.ศ. 1949 เหมา เจ๋อตง จึงประกาศชัยชนะ และก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่เหมาเจ๋อตงกลับดำเนินนโยบายผิดพลาดอย่างมโหฬารทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง
จีนค่อยกลับมาเริ่มต้นพัฒนาอย่างจริงจังอีกครั้ง เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิง ขึ้นมามีอำนาจ และเริ่มนโยบายเปิดและปฏิรูปในปี ค.ศ. 1978 เติ้ง เสี่ยวผิงยึดแนวคิดของมาร์กซ์ว่า ลักษณะทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดระบบการเมือง กฎหมาย และวัฒนธรรม
เติ้งเสี่ยวผิงบอกว่า จีนยังเป็นเศรษฐกิจเกษตรกรรมที่ยากจน ด้วยเหตุนี้ จึงยังติดกับดักสังคมศักดินาแบบโบราณ ดังนั้น ถ้าจีนอยากเป็น “สังคมทันสมัย” ในทุกมิติ จะต้องเริ่มต้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก โดยเน้นพัฒนาพลังการผลิต เพื่อสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและสังคมเมือง
เมื่อเข้าใจเส้นทางคดเคี้ยวของจีนดังที่กล่าวมา ก็นำไปสู่ข้อสังเกต 3 ข้อ ครับ
หนึ่ง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเลือก “ความทันสมัย” ให้เป็นเป้าหมายสำคัญของจีน เพราะนี่เป็นคำที่มีประวัติการต่อสู้มาอย่างยาวนาน
นับตั้งแต่ที่จีนแพ้สงครามฝิ่น ปัญญาชน และชนชั้นนำจีน มีฉันทามติตรงกันมาตลอดว่า จีนจะต้องเปลี่ยนผ่านจากสังคมโบราณเป็นสังคมสมัยใหม่ (ไม่มีใครเห็นว่าอยู่แบบเดิมดีแล้ว) การเมืองเรื่องการพัฒนาของจีนที่ผ่านมา อยู่ที่การนิยาม “ความล้าหลัง” และ “ความทันสมัย” เป็นหลัก
สอง คำว่า “ความทันสมัย” เป็นเรื่องการเปรียบเทียบตนเองกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก และความต้องการรื้อฟื้นอดีตที่ยิ่งใหญ่ของจีน
นอกจากนั้น “ความทันสมัย” ยังมีหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ระบบการเมือง และวัฒนธรรมความคิด
แต่เติ้งเสี่ยวผิงได้ให้หลักไว้ว่า ถ้าทำให้เศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้ (ความหมายของเติ้งคือ เป็นประเทศอุตสาหกรรม) ระบบการเมืองและวัฒนธรรมความคิดก็จะค่อยๆ ปรับตัวตาม ดังนั้น ที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก
สาม แนวคิด “ความทันสมัย” ของจีนในปัจจุบัน ไม่มีแนวคิดว่าต้องเป็นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง
ดังนั้นในการสร้าง “ระบบการเมืองสมัยใหม่” ของจีน จึงจำเป็นต้องเสาะหาทางเลือกใหม่ เช่น พัฒนาระบบธรรมาภิบาลแบบใหม่ สร้างระบบการคาน และถ่วงดุลอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์ สร้างระบบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ สร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างพรรคและรัฐที่เหมาะสม ฯลฯ ซึ่ง “การปฏิรูปการเมือง” เหล่านี้ ล้วนมีความท้าทายทางทฤษฎีว่า เป็นไปได้จริงหรือไม่ในการนำแบบพรรคเดียว
ถ้าเป็นไปไม่ได้ ก็คงต้องถามว่า จีนจะเรียกตนเองว่าเป็นประเทศทันสมัยได้จริงหรือ