รู้ทันไม่เสียที กลโกงแก๊งคอลเซ็นเตอร์
แม้จะมีข่าวผู้ที่ถูกหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ แต่ก็ยังคงมีผู้ตกเป็นเหยื่ออยู่เนืองๆ
บางที ผงไม่เข้าตาตัวเอง ก็ยากที่จะเข้าใจ ทางที่ดี ควรศึกษากลโกงของมิจฉาชีพเอาไว้ ก็เป็นวัคซีนที่จำเป็น
วัคซีนข้อแรกที่สำคัญที่สุดคือ “มีสติรู้เท่าทัน” ข้ออ้างที่มิจฉาชีพใช้ มักเป็นเรื่องที่ทำให้เหยื่อตกใจกลัว หรือตื่นเต้นดีใจ บ้างก็อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐ/สถาบันการเงิน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ในบางครั้งอาจจะมีระบบโทรศัพท์อัตโนมัติเพื่อให้ดูเป็นการติดต่อจากองค์กรขนาดใหญ่
โดยเรื่องโจรเหล่านี้นำมาหลอก มักจะเกี่ยวกับหัวข้อดังนี้
๐ บัญชีของคุณอายัด/หนี้บัตรเครดิต: เป็นข้ออ้างที่มิจฉาชีพนิยมใช้มากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะมี และทำให้ตกใจได้ง่าย โดยจะอ้างว่าท่านมีหนี้ ทำให้บัญชีถูกอายัด
๐ พัวพันการค้ายาเสพติด/ฟอกเงิน/มีคดีความ: เมื่อพบว่าเหยื่อมีเงินจำนวนมากในบัญชี มิจฉาชีพจะหลอกว่ามีคดีความ และให้เหยื่อโอนเงินเพื่อนำเงินมาตรวจสอบก่อน
๐ เช็คเงินคืนภาษี: เป็นข้ออ้างที่มักใช้ช่วงที่มีการขอคืนภาษี โดยจะหลอกว่าเหยื่อได้รับเงินคืน แต่ต้องไปทำธุรกรรมที่หน้าตู้เพื่อยืนยันตัวตน แต่แท้จริงแล้ว เป็นการทำธุรกรรมโอนเงินให้ไปกับมิจฉาชีพ
๐ คุณคือผู้โชคดี: หลอกให้เหยื่อดีใจ โอนเงินจำนวนเล็กน้อยเพื่อแลกรับรางวัลใหญ่
๐ ข้อมูลส่วนตัวของท่านหาย: หลอกถามข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปปลอมแปลงในการทำธุรกรรมต่างๆ
๐ โอนเงินผิด/อนุมัติเงินกู้: มิจฉาชีพมักจะหลอกว่ามีการโอนเงินผิด หรือมีผู้นำเอกสารของเหยื่อไปขอวงเงินสินเชื่อ แล้วให้เหยื่อโอนเงินกลับมายังบัญชีของมิจฉาชีพ เพื่อทำการตรวจสอบ หรือคืนเงินที่มีผู้โอนไปผิด
ปัญญาป้องกัน ในอนาคต มิจฉาชีพอาจหาวิธีการใหม่ๆ ดังนั้นเราควรศึกษาวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
๐ ข้อมูลจริงหรือไม่ เมื่อมิจฉาชีพโทรมา ขอให้ท่านตรึกตรองว่าข้อมูลที่ได้รับเหล่านั้นมีมูลความจริงหรือไม่ เช่น คุณมีบัญชี/บัตรเครดิตธนาคาร หรือได้มีการทำธุรกรรมตามที่ถูกกล่าวอ้างหรือไม่
๐ ไม่ทำรายการ/โอนเงิน มิจฉาชีพจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านตู้ ATM หรือตู้ฝากเงินอัตโนมัติโดยมักให้เลือกเมนูภาษาอังกฤษ มิจฉาชีพจะถือสาย พร้อมกับบอกขั้นตอนการโอนจนกว่าเหยื่อจะโอนเงินสำเร็จ
๐ ไม่ให้ข้อมูล ทั้งข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงรหัสต่างๆ ในทุกๆ ช่องทาง
๐ ตรวจสอบข้อมูล ให้ขอหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ และวางสายเพื่อติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานหรือสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึง
๐ เผื่อแผ่คนรอบข้าง นอกจากเราจะต้องระวังภัยที่เกิดขึ้นกับตนเองแล้ว เราควรให้ความรู้เรื่องมิจฉาชีพกับคนรอบตัว เช่น ผู้สูงอายุในครอบครัว หรือคนที่มีแนวโน้มจะถูกหลอกลวงได้ง่าย เป็นต้น
ถ้าพลาดแล้วล่ะ จะทำอย่างไร
๐ รวบรวมข้อมูล หลักฐาน และเอกสารที่เกี่ยวข้องติดต่อสถาบันการเงินเพื่อระงับการโอนเงินดังกล่าว รวมถึงแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
๐ แจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI (1202), 191, ปปง. (1710)
ท้ายที่สุดแล้ว อย่าให้ความกลัว ความโลภ มาบังตา ทำให้เราขาดสติ ตกประหม่า และเสียท่ามิจฉาชีพ เป็นดีที่สุด!