ปัญหาทางด้านการเงิน ของผู้สูงอายุไทย
ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548 สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คือสังคมที่มีประชากรอายุเกิน 60 ปี และ 65 ปี 10% และ 7%ตามลำดับ
จำนวนและอัตราผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่เร็วมาก คือ 4% ต่อปี
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2537 พบว่า อัตราผู้สูงอายุ 6.8% จำนวนผู้สูงอายุ 4,011,584 คน เพิ่มเป็น 16.7% จำนวนผู้สูงอายุ 11,312,447 คน ในปี2560 คาดว่าในปี 2564 ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 20% และเพิ่มเป็น 28% ในปี2574
รายได้ของผู้สูงอายุไทยที่อยู่ในครัวเรือนที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (2,647 บาท/เดือน) ในปี 2545 (46.5%) ปี 2554 (33.8%) ปี 2557(34%) ปี 2558 (34.3%) รายได้หลักที่ได้รับจากบุตร ในปี 2550(52%) ในปี2560 รายได้หลักจากบุตรเหลือเพียง 34.7% มีรายได้จากการทำงานเพียง 31% จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี2554 รายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 20,000 บาท/ปี สูงถึง 33.2% มีรายได้น้อยกว่า 40,000 บาท/ปี 58% รายได้น้อยกว่า 60,000 บาท/ปี 74.5% รายได้น้อยกว่า 80,000 บาท/ปี 85.2% เมื่อพิจารณา
จำนวนรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ผู้สูงอายุได้รับตามกลุ่มวัย พบว่าเมื่อสูงวัยขึ้น จะมีรายได้น้อยลงเพราะไม่ได้ทำงาน ผู้ที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุวัยต้น(อายุ 60-64 ปี) เพราะยังพอมีเรียวแรงที่พอจะทำงานมีรายได้ ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้นแต่มีโรคต่าง ๆ มากมาย แต่รายได้ลดน้อยลง ไม่มีเงินออมพอ
จากการสำรวจล่าสุดของสำนังานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 ระดับการศึกษาของผู้สูงอายุต่ำกว่าประถมศึกษา สูงถึง 68.7% อ่านออกเขียนได้ 83.7% ปริญญาตรี และสูงกว่า 5.4% ทำให้ขาดความรู้ทางด้านการเงิน(Financial Literacy) การบริหารการใช้จ่าย การออม การลงทุน ทำให้ผู้สูงอายุของประเทศไทยมีปัญหาทางด้านการเงินในบั้นปลายของชีวิต
ในปี 2559 รัฐบาลจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ 8 ล้านคน จำนวน 63,219 ล้านบาท ผู้สูงอายุไทยได้รับเบี้ยยังชีพเพียง 600 บาท/เดือน และเงินบำนาญจากประกันสังคมเท่านั้น รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน แต่แรงงานผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีเพียง 300,000 คน หรือ 2.9% ของผู้สูงอายุทั้งประเทศ เป็นการช่วยเหลือแรงงานเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย ไม่ได้สนับสนุนให้มีการนำทักษะและประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ประเทศญี่ปุ่นที่มีผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไปถึง 40 ล้านคน อายุ 65 ปี ขึ้นไป 33 ล้านคน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหาผู้สูงอายุอย่างจริงจัง โดยเตรียมพร้อมด้านระบบสวัสดิการผู้สูงอายุมานานกว่า 30 ปี คนญี่ปุ่นที่มีรายได้น้อยสุดอย่างผู้ใช้แรงงาน เมื่อถึงวัยเกษียณยังได้รับบำนาญประมาณ 30,000 บาท/เดือน ที่มาจากกองทุนประกันสังคม และกองทุนบำนาญแห่งชาติ ถ้ามีการรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันผู้สูงอายุและประกันต่าง ๆ ที่ซื้อไว้บางคนมีรายได้หลังเกษียณเฉลี่ยถึง 100,000 บาท/เดือน ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีบ้านพักผู้สูงอายุ 5,000 แห่ง ผู้ให้บริการคือบริษัทเอกชนกว่า 500 ราย ทำให้การดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 10% เป็นบ่อทองคำของผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้อง
ผมอยากเห็นพรรคการเมืองที่เสนอตัวรับใช้ประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไปให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุไทย นำกรณีศึกษามาศึกษาวิเคราะห์ ตั้งแต่เรื่องระบบบำนาญแห่งชาติ เงินบำนาญประกันชีวิตทั้งข้าราชการ คนงาน และพนังานบริษัท การประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นทำได้ดีมาก
ถ้าทำได้สำเร็จก็จะช่วยแก้ปัญหาทางด้านการเงินของผู้สูงอายุไทย ช่วยเพิ่มโอกาสผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุอายุที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
วันนี้ถือโอกาสเรียกร้องเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งรวมถึงตัวผมเองด้วยครับ...