ตลาด“ธุรกิจของเล่น”กระตุกเศรษฐกิจโลก กลุ่ม “Kidult ”กำลังซื้อสำคัญ
สนค. มองตลาดของเล่น รายได้ไม่ใช่เล่น ๆ ชี้ ธุรกิจปรับใช้ Pop Culture ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใหญ่หัวใจเด็ก กลุ่ม “Kidult” ขับเคลื่อน”ตลาดของเล่นโลก”เติบโต ด้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย ปี 2566 สร้างรายได้กว่า 19,677.21 ล้านบาท
KEY
POINTS
Key Point
- Euromonitor International เผย ยอดขายของเล่นและเกมทั่วโลกในปี 2023 มีมูลค่า 2.73 แสนล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.1 %
- คาดปี 2028 มูลค่า ของเล่นและเกมทั่วโลก 3.48 แสนล้านดอลลาร์
- กลุ่ม “Kidult” กำลังซื้อสูงดันตลาดขายของเล่นขยายตัว
- ปี 2566 ไทยส่งออก“ของเล่น” มูลค่า 8,776.24 ล้านบาท
- กลุ่ม “Kidult” ขับเคลื่อน”ตลาดของเล่นโลก”เติบโต
“ธุรกิจของเล่น”ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องจับตามองอีกธุรกิจหนึ่ง เพราะธุรกิจของเล่นไม่ได้จำกัดอยู่แค่"เด็ก"เท่านั้น แต่หากแต่เกิดกลุ่มที่ชื่อว่า ‘Kidult’ ขึ้นมาในอุตสาหกรรมของเล่น ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างคำว่า Kid (เด็ก) และ Adult (ผู้ใหญ่)
กลุ่ม “Kidult” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ ที่มีความนิยมในการสะสมของเล่นและมีกำลังการซื้อสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองในวัยเด็ก และการสะสมเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต รวมถึงความนิยมของเล่นในกลุ่ม Art Toy ได้สร้างกระแสสำคัญในวงการของเล่นทั่วโลก
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ยอดขายของเล่นและเกมของโลกฟื้นตัวขึ้นในปี 2023 แม้จะมีปัจจัยกดดันด้านเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก Euromonitor International บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก ระบุว่ายอดขายของเล่นและเกมทั่วโลกในปี 2023 มีมูลค่า 2.73 แสนล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.1 % จากปี 2022 และคาดว่าในช่วงปี 2023 - 2028 จะขยายตัวต่อเนื่องด้วยอัตราเฉลี่ย 2.4 % ต่อปี จนทำให้มีมูลค่า 3.48 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2028
ทั้งนี้ ส่วนแบ่งตลาดตามภูมิภาคพบว่า ปี 2023 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด มูลค่า 9.95 หมื่นล้านดอลลาร์ สัดส่วน 36.48 % รองลงมาคือ อเมริกาเหนือ มูลค่า 8.40 หมื่นล้านดอลลาร์ สัดส่วน 30.80% และยุโรป มูลค่า 6.11 หมื่นล้านดอลลาร์ สัดส่วน 22.40 %
ข้อมูลจาก Euromonitor International ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันผู้ซื้อกลุ่ม “Kidults” และกระแส “Pop Culture” มีอิทธิพลอย่างมากในการขับเคลื่อนตลาดของเล่นและเกมโลกให้เติบโต โดย Kidults ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อ จึงมีพฤติกรรมการใช้จ่ายกับของเล่นหรือของสะสมที่ช่วยให้นึกถึงวัยเด็ก (Nostalgia)
สอดคล้องกับที่บริษัทของเล่นและเกมชั้นนำในหลายประเทศ ใช้ Pop Culture เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อ มีการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ของตนเข้ากับแบรนด์ ตัวละครจากภาพยนตร์หรือการ์ตูน หรือสื่อบันเทิง ทั้งที่เคยได้รับความนิยมในอดีตและกำลังเป็นที่นิยมปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงตอบสนองความต้องการของกลุ่ม Kidults แต่ยังเป็นวิธีที่ช่วยสร้างการรับรู้ได้เป็นวงกว้างให้กับผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว สร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขายตามมา
“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์”ผอ.สนค. กล่าวว่า ตลาดของเล่นและเกมยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง โดย Kidults และ Pop Culture เป็นปัจจัยน่าจับตามอง ที่แสดงให้เห็นว่าตลาดของเล่นไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มเด็กอีกต่อไป แต่กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อ
จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการควรสร้างความร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จาก Pop Culture สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับความทรงจำวัยเด็ก เพื่อกระตุ้นความสนใจและตอบสนองความต้องการซื้อของ Kidults ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเสริมสร้างแบรนด์ให้มีความแตกต่าง เพิ่มมูลค่าทางการตลาด และสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าระยะยาวได้ โดยเฉพาะในตลาดของสะสม
ขณะที่"ธุรกิจของเล่น"ในประเทศไทย มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ‘ธุรกิจของเล่น’ โดดเด่น ทั้งสายการผลิตและการขาย โดยข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี ระหว่างปี 2565-2566 พบว่า ในปี 2566 มีการจัดตั้งธุรกิจของเล่นจำนวน 120 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 49 ราย คิดเป็น 69.01% มูลค่าทุนจดทะเบียน 2,736.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 40.90 ล้านบาท คิดเป็น 31.52% โดยตลอดปี 2566 ธุรกิจ ของเล่นสร้างรายได้รวมถึง 19,677.21 ล้านบาท พร้อมเติบโตแบบก้าวกระโดดและทำกำไรอยู่ที่ 467.62 ล้านบาท
“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม ”อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่จะเห็นได้ว่าตลาดของเล่นมีการซื้อขายอย่างคึกคักทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยในปี 2566 “ของเล่น”ไทยสามารถส่งออกไปสู่ต่างประเทศได้หลายประเทศ สร้างมูลค่าการส่งออกได้มากถึง 8,776.24 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งไทยมี ข้อได้เปรียบด้านความสมบูรณ์และคุณภาพของวัตถุดิบอย่างไม้และยางพาราที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตของเล่น
ข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า “ธุรกิจของเล่น” ไม่ใช่เล่นๆ เพราะรายได้ในแต่ละปีเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วย กลุ่ม Kidults และ Pop Culture ดึงความต้องการและมีกำลังซื้อสูง ทำให้ธุรกิจของเล่นสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับโลกการค้า