ปรัชญาทำงาน 'ธรรมศักดิ์' ซีอีโอ SCG มอง 'ปัญหา' คือสิ่งที่ต้องร่วมแก้ให้เร็ว

ปรัชญาทำงาน 'ธรรมศักดิ์' ซีอีโอ SCG มอง 'ปัญหา' คือสิ่งที่ต้องร่วมแก้ให้เร็ว

ปรัชญาในทำงานของ "ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม" ซีอีโอ SCG มอง "ปัญหา" ที่มีให้เป็น "ความสุข" และที่ต้องแบ่งปันความสุขให้ร่วมกันแก้ไขเพื่อก้าวไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน

KEY

POINTS

  • ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง CEO SCG ต้นปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าคนที่มาดูแลธุรกิจขนาดใหญ่สินทรัพย์กว่า 8 แสนล้านบาท ต้องมองธุรกิจทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
  • ส่วนตัวต้องวางเป้าหมายทั้งระยะกลางไปสู่ความสำเร็จในระยะยาวที่อยากจะเปลี่ยน Portfolio ของ SCG ไปสู่ low Carbon ถือเป็น New s-curve จะสร้าง Margin ได้
  • ปรัชญาการทำงานจะคิดเสมอว่า เมื่อเจอปัญหาจะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไข และปัญหาต่างๆ ให้เร็ว

 

ในช่วง 110 ปี ที่ผ่านมาของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ผ่านวิกฤติหลายครั้งที่กระทบกับธุรกิจ ซึ่งขนาดของวิกฤติแตกต่างตามสถานการณ์ ไล่ตั้งแต่ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โรงงานปูนซิเมนต์บางซื่อถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดเมื่อปี 2487 

จนถึงวิกฤติครั้งล่าสุดที่มีแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2565 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 นำมาสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจให้เหลือ 3 กลุ่ม คือ 1.ซีเมนส์ 2.เคมีภัณฑ์ 3.กระดาษและบรรจุภัณฑ์ 

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า จากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และวิกฤติต่าง ๆ ส่งผลให้ต้องอยู่ในโลกที่ทีความผันผวนสูง โดยจะเห็นได้ชัดว่าในแต่ละปีจะเกิดเหตุการณ์เซอร์ไพรส์ต่าง ๆอาทิ โควิด เทรดวอร์ สงครามระหว่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น ในช่วง 5-10 ปีต่อจากนี้ เอสซีจีได้เตรียมใจว่าคงต้องเจอเรื่องเซอร์ไพรส์อีกแน่นอน

"เราไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ จึงต้องเตรียมพร้อมและอยู่กับมันให้ได้ SCG มองทิศทางดำเนินงานในช่วง 3-5 ปี หากหวังจะทำธุรกิจให้ได้เพียงแค่กำไรนั้นง่ายมากโดยไม่ต้องปรับอะไรมากและอยู่กับธุรกิจที่สร้างคาร์บอนสูงต่อไป แต่หากจะมองไปในระดับ 40-50 ปี หรือ 100 ปี ต้องมองอีกแบบและต้องเดินไปสู่เป้าหมาย Net Zero ควบคู่กับการสร้างผลกำไร จึงต้องมุ่งพัฒนาสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด"

อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าคนที่มาดูแลธุรกิจขนาดใหญ่สินทรัพย์กว่า 8 แสนล้านบาท นั้นจะต้องมองธุรกิจทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว และเมื่อได้เข้ามาบริหาร SCG ตนเองต้องวางเป้าหมายทั้งระยะกลางไปสู่ความสำเร็จในระยะยาวที่อยากจะเปลี่ยน Portfolio ของ SCG ไปสู่ low Carbon ถือเป็น New s-curve จะสร้าง Margin ได้

ดังนั้น จากปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างปีนี้ โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และอื่นๆ จึงต้องแก้ไขทีละเรื่อง ส่วนการพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างการเติบโตแม้จะเหนื่อยแต่จะไม่หยุดที่จะช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ เพราะทุกการทำงานไม่ว่าจะตำแหน่งไหน และทำงานอะไรนั้นถือว่าเหนื่อยหมด

"สำหรับปรัชญาการทำงานจะคิดเสมอว่า เมื่อเจอปัญหา ทุกคนในองค์กรต้องช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไข และปัญหาต่างๆ จะแก้ไขไปได้อย่างรวดเร็ว"

นายธรรมศักดิ์ กล่าวถึง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐส่งผลกระทบการค้าทั่วโลก ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบ เช่น เมื่อสินค้าจากจีนไม่สามารถส่งไปสหรัฐได้จะไหลเข้ามายังประเทศไทยและอาเซียน

ดังนั้น หากธุรกิจไทยไม่รีบปรับตัว อาทิ ด้านการลดต้นทุน จะโดนกดดันจากสินค้าราคาถูกจากจีนที่มีขนาดที่ใหญ่กว่าไทยมาก และอีกมุมมองเมื่อจีนไม่สามารถขายไปสหรัฐได้จึงต้องซื้อขายกับกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงไทย จึงเป็นกลยุทธ์ที่มองว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถขายของเข้าสหรัฐได้

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าของที่ขายให้เมืองไทยอยู่ ๆ จะขายให้สหรัฐจะต้องเข้ากฎเกณฑ์ มาตรฐานของสหรัฐด้วย อาจใช้เวลาในการปรับตัวในบางสินค้า ซึ่งสินค้าใดปรับตัวได้ก่อนก็จะยังคงอยู่รอดได้ ดังนั้น สงครามการค้าที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ อีเอสเอ็มที่อาจจะปรับตัวได้น้อยกว่า แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยชะลอการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

“ภาครัฐอาจจะต้องชะลอการเอาสินค้าราคาถูกจากจีน เซฟการ์ด โปรโมทตัว Local Content ของจีนหรือประเทศอื่นที่จะมาลงทุนในบ้านเราเพื่อ Support Local Economy เกิดการจ้างงานของประเทศไทยจะแก้ปัญหาระยะยาวได้”

ในอีกมุมสินค้าจากประเทศจีนที่เข้ามาไทยจำนวนมาก ในส่วนของ SCG เองมีความกังวลด้านผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ราคาถูก โดยเฉพาะ Polypropylene (PP) ซึ่งได้วัตถุดิบราคาถูกจากรัสเซีย ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา SCG ได้ปรับตัวหารือกับสหรัฐฯ ในเรื่องของการนำเสนอสินค้าต่างๆ ล่าสุดในปีนี้สามารถขายปูนคาร์บอนต่ำให้สหรัฐกว่า 1.3 ล้านตันแล้ว

“SCG มีโปรแกรม Go Together โดยเปิดบ้านช่วยให้ความรู้แก่เอสเอ็มอี นำเสนอเทคนิคการปรับปรุงคุณภาพสินค้าว่าจะลดต้นทุน พัฒนาธุรกิจเพื่อให้ผ่าน Audit ของสหรัฐฯ มาตรฐานแรงงาน การใช้พลังงานสะอาดลดต้นทุน เรามีหลายโปรเจค อีกทั้ง มาตรการปรับขึ้นค่าแรงก็จะเข้ามาผลกระทบต่อต้นทุนถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้เรื่อย ๆ การใช้หุ่นยนต์ให้เหมาะกับระดับแรงงานจะต้องเข้ามาเสริม รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ให้เหมาะกับงาน เป็นต้น”

สำหรับแผนธุรกิจปี 2568 หากมองผลประกอบการ 3 ไตรมาส ปี 2567 พบว่า กำไรปีต่อปีลดลง 40% ถือว่าเยอะ และเมื่อแยกธุรกิจที่ลงคือปิโตรเคมี แต่เมื่อซูมจะเห็นว่ากระแสเงินสดลงแค่ 10% SCG จึงมั่นใจว่าจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ 

อีกทั้งธุรกิจปิโตรเคมีในไทยยังถือว่ามีกำไร แต่ที่ดึงกำไรคือธุรกิจที่เวียดนาม เพราะเป็นคอมเพล็กซ์ใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มดำเนินการใน 3 ปีแรก การเดินเครื่องยังไม่นิ่งและยังไม่มีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับวิธีการแก้ของ SCG ในเวียดนาม จะเร่งแก้ไขระยะสั้น คือ การจ่ายหนี้คืนเพื่อลดต้นทุนด้านดอกเบี้ย ส่วนค่าเสื่อม ให้เป็นไปตามหลักทางบัญชี พร้อมเดินคอมเพล็กซ์เมื่อมีกำไร ซึ่งวัตถุดิบโพรเพนจะราคาถูกช่วงซัมเมอร์ จึงควรกลับมาเดินเครื่องในช่วงนั้น 

ส่วนระยะกลางและระยะยาว ต้องปรับวัตถุดิบเป็นอีเทนโดยการลงทุน LSP เพื่อรับก๊าซอีเทนสหรัฐจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแข่งขันอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลก เพิ่มความยืดหยุ่นของวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งขณะนี้ราคาประมาณ 300 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อคูณ 1 ล้านตัน จะเป็นเงิน 300 ล้านดอลลาร์ต่อปี หาก Advantage ได้ 300 ดอลลาร์ต่อตัน ไม่กี่ปีจะคืนทุนได้