SCG เร่งแผนสกัดกำไรทรุด ขายสินทรัพย์ ปิดบางธุรกิจ

SCG เร่งแผนสกัดกำไรทรุด ขายสินทรัพย์ ปิดบางธุรกิจ

“เอสซีจี” รับเศรษฐกิจโลกผันผวน “ปิโตรเคมี” อ่อนตัวยาว ฉุดกำไรไตรมาส 3 ปี 67 ลด 10% จากช่วงเดียวกันปี 66 เปิด 4 ทางรอด “ลดต้นทุนองค์กร-ลดเงินทุนหมุนเวียน-เลิกกิจการ-ขายสินทรัพย์” ปัจจัยลบ “เทรดวอร์-ตะวันออกกลาง-เงินบาท” หวังเศรษฐกิจจีนฟื้น-งบภาครัฐ ดันปิโตรเคมีโต

ผลประกอบการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี งวด 9 เดือนแรก ปี 2567 มีรายได้ 380,660 ล้านบาท ใกล้เคียงปีก่อน จากปริมาณการขายของเอสซีจี เคมิคอลส์ และเอสซีจีพี โดย EBITDA38,768 ล้านบาท ซึ่งลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไร 6,854 ล้านบาท ลดลง 75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ปัจจัยมาจากค่าใช้จ่ายการเดินเครื่องโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals : LSP) ส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่ลดลง ขณะที่กำไรไม่รวมรายการพิเศษ ลดลง 46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

สำหรับไตรมาส 3 ปี 2567 มีรายได้ 128,199 ล้านบาท โดย EBITDA 9,879 ล้านบาท กำไร 721 ล้านบาท ลดลง 81% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่า

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอสซีจีคาดว่ารายได้ของปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเพียง 3% เพราะเศรษฐกิจโลกผันผวนรุนแรง วัฏจักรปิโตรเคมีทั่วโลกอ่อนตัวลากยาว สงครามตะวันออกกลาง สินค้าจากจีนมาแข่งขันในประเทศมากขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาทผันผวน นับเป็นความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจและมีแนวโน้มยืดเยื้อทำให้เอสซีจีระมัดระวัง และรัดกุมขึ้นผ่าน 4 แนวทาง คือ

1.ลดต้นทุนภาพรวมองค์กร 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2568 

2.ลดเงินทุนหมุนเวียนลง 10,000 ล้านบาท ภายในไตรมาส 1 ปี 2568 

3.ขายสินทรัพย์ เพิ่มความคล่องตัวและมุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ประกอบกับยกระดับประสิทธิภาพการผลิต รักษา EBITDA ให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ต่อเนื่อง อาทิ เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนโรงงานปูนซีเมนต์ในไทย 50% ภายในปีนี้ การใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติผลิตกระเบื้อง แม่นยำ รวดเร็ว ลดวัสดุเหลือใช้

4.ยกเลิกกิจการที่ไม่ทำกำไร เช่น SCG Express และธุรกิจด้านดิจิทัลเทคโนโลยี OITOLABS ในประเทศอินเดีย นอกจากนี้มีกิจการที่อยู่ระหว่างการพิจารณายกเลิก โดยหวังว่าธุรกิจอื่นที่จะปิดตัวจะสรุปได้ภายในกลางปีหน้า

เลิกกิจการที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ

กรุงเทพธุรกิจตรวจสอบข้อมูลบริษัทที่เอสซีจีจะยกเลิกกิจการเพราะไม่ทำกำไร โดยบริษัท เอสซีจี เอ็กซ์เพรส จำกัด แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า จดทะเบียนวันที่ 22 ก.ย.2559 ทุนจดทะเบียน 1,463 ล้านบาท 

สำหรับธุรกิจที่ดำเนินการให้บริการขนส่งพัสดุด่วนทั้งแบบทั่วไปและพัสดุประเภทอาหารที่ต้องการการควบคุมอุณหภูมิเป็นพิเศษ เพื่อตอบโจทย์ขยายธุรกิจลูกค้าในตลาด E-Commerce รวมทั้งบริการของลูกค้ากลุ่มธุรกิจ B2B (ธุรกิจถึงธุรกิจ) B2C (ธุรกิจถึงลูกค้าผู้บริโภค) และ C2C (ผู้บริโภคถึงผู้บริโภค)

ในขณะที่ผลดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง โดยปี 2566 ขาดทุน 184 ล้านบาท , ปี 2565 ขาดทุน 247 ล้านบาท , ปี 2564 ขาดทุน 212 ล้านบาท , ปี 2563 ขาดทุน 216 ล้านบาท และปี 2562 ขาดทุน 305 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัท เอสซีจี เอ็กซ์เพรส จำกัด ได้ประกาศผ่านเว็บไซต์ถึงการหยุดขนส่งพัสดุ B2C และการให้บริการตัวแทนจุดพัสดุมาตั้งแต่เดือน มี.ค.2567

ส่วนบริษัท Oitolabs Technologies Private Limited จำกัด (OITOLABS) ประเทศอินเดีย ที่บริษัทเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด (SCG CBM) เข้าไปถือหุ้น 100% ได้เข้าไปซื้หุ้นในปี 2563 จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ของ SCG CBM โดยประเมินว่าจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การลงทุนดังกล่าวมีมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์ หรือ 62.4 ล้านบาท โดย OITOLABS เชี่ยวชาญการพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ ซึ่งมีบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์ digital platform development ที่ SCG CBM นำมาพัฒนาธุรกิจยุคดิจิทัลได้รวดเร็ว และตอบโจทย์แผนกลยุทธ์ของ SCG CBM ในการขยายธุรกิจค้าปลีกช่องทางออนไลน์และออฟไลน์สำหรับลูกค้าในอาเซียน

กระแสเงินสดแกร่งลงทุนปีนี้4หมื่นล้านบาท

นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า เอสซีจียังมีกระแสเงินสด 4.8 หมื่นล้านบาท งบลงทุนทั้งปีที่ 4 หมื่นล้าน ใช้ไปแล้ว 3.4 หมื่นล้าน โดยการแก้เกมระยะยาวเป็นเรื่องจำเป็น การจะรอดพ้นระยะนี้และปีหน้าแค่อดทนเพราะยังมีเงินสด แต่จะให้มีกำไรระยะยาวต้องลดต้นทุน

ทั้งนี้หากจีนไม่แก้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจเม็ดพลาสติกจะไหลออก อีกทั้งสิ้นปีของทุกปีผู้ผลิตรายใหญ่อย่างสหรัฐจะดั้มราคาออกมา ทำให้ต้นทุนไตรมาส 4 ราคาพลังงานขึ้นหมด แม้ช่วงนี้ราคาน้ำมันลงเพราะสงครามตะวันออกกลางดูเหมือนไม่บานปลาย

“ปัจจัยบวกปีหน้า คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนถ้าฟื้นจะดีทั่วโลก รวมถึงงบประมาณภาครัฐจะช่วยเสริม ส่วนปัจจัยที่ต้องจับตาคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีหรัฐ แม้ว่าใครจะมาแต่ปัญหาเทรดวอร์ยังไม่หมดและถ้ารุนแรงจะทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาในไทย เพราะเพื่อนบ้านปิดประตู แต่ไทยรับหมด รวมถึงการขยายวงสงครามตะวันออกกลางจะส่งกระทบต้นทุนพลังงานและเงินบาทที่ผันผวน”

อย่างไรก็ตาม เอสซีจียังลงทุนอาเซียนต่อเนื่อง โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายเติบโต 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนจากเวียดนามและอินโดนีเซีย

กลุ่มธุรกิจเอสซีจี เคมิคอลส์ (เอสซีจีซี) ยังมีความท้าทายจากสถานการณ์วัฏจักรปิโตรเคมีขาลงจึงต้องสร้างศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาว โดยการลงทุน LSP เพื่อรับก๊าซอีเทนสหรัฐจะลดต้นทุนการผลิตแข่งขันอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลก และเพิ่มความยืดหยุ่นของวัตถุดิบในการผลิต 

ส่วนระยะยาว Inclusive Green Growth เป็นโอกาสและความได้เปรียบทางธุรกิจ จึงลงทุน 700 ล้านดอลลาร์ (2.3 หมื่นล้านบาท) คาดจะแล้วเสร็จปลายปี 2570

“โครงการ LSP เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2567 ผลิตได้ 74,000 ตัน โดยมุ่งบริหารจัดการการผลิตโรงงาน 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานระยองโอเลฟินส์ โรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ และโรงงาน LSP ให้เหมาะสมกับราคาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และเศรษฐกิจโลก”

กลุ่มเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ เร่งต่อยอดเทคโนโลยีก่อสร้างด้วย 3D Printing และพัฒนาวัสดุที่แข็งตัวและให้กำลังอัดคล้ายปูนซีเมนต์ชนิดพิเศษ (Special Cementitious Materials) รองรับการผลิตขึ้นรูปในตลาดโลก ล่าสุดลงนามกับบริษัท Samsung E&A เกาหลีใต้ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและวัสดุเหลือใช้จากงานก่อสร้าง รวมทั้งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ

“ล่าสุด SCG International ส่งมอบปูนมอร์ตาร์ล็อตแรกไปยังประเทศซาอุดิอาระเบีย พร้อมขยายตลาดไปเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (SAMEA) รองรับภาคธุรกิจและการก่อสร้างในภูมิภาค ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,112,600 กิโลกรัมคาร์บอน เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 117,116 ต้น”

กลุ่มเอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล รุกตลาดค้าปลีกศักยภาพสูงสำหรับสินค้าและบริการเรื่องบ้านที่โตต่อเนื่อง ล่าสุดขยายโมเดิร์นเทรด Mitra 10 ในอินโดนีเซีย เปิดเพิ่มอีก 2 สาขาที่เมืองจาบาเบกา และซามารินดา โดยมีแผนขยายสาขาอีก 4 แห่งภายในปี 2567

กลุ่มเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง รุกนวัตกรรมวัสดุตกแต่งภูมิทัศน์ ร่วมสร้าง จ.ร้อยเอ็ด แลนด์มาร์คภาคอีสาน ด้วยการออกแบบ

ชูวัฒนธรรมสร้างอัตลักษณ์ เลือกใช้บล็อกและกระเบื้องปูพื้นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิต 40% ได้รับรอง SCG Green Choice และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

กลุ่มเอสซีจี เดคคอร์ (SCGD) มุ่งลดต้นทุน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ติดตั้ง Hot Air Generator ที่นิคมอุตสาหกรรมหนองแค ลดต้นทุน16.8 ล้านบาทต่อปี พร้อมเดินหน้าตลาดเวียดนามสร้างการเติบโตล่าสุดเร่งปรับไลน์ผลิตกระเบื้องเซรามิกเป็นกระเบื้องพอร์ซเลนขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 2.5 ล้านตารางเมตร

รวมทั้งยังขยายช่องทางจัดจำหน่ายโดยเปิดร้านจำหน่ายกระเบื้องเซรามิกและสุขภัณฑ์ V-Ceramic ร้านแรกทางภาคใต้ของเวียดนาม

กลุ่มเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ เติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการและผลักดันการใช้พลังงานสะอาดกำลังผลิตรวม 526 เมกะวัตต์ จากโครงการภาครัฐและเอกชนโดยร่วมกับธนาคารกสิกรไทย ลงนามการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว1,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการ Solar Private PPA (Power Purchase Agreement)กำลังผลิต88.5 เมกะวัตต์

อีกทั้งการเชื่อมต่อด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะโดยมีแผนขยายผลที่กลุ่มโรงงานบริษัทโตโยต้า ในนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี สำหรับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานความร้อนจากพลังงานสะอาด Rondo Heat Battery มีความคืบหน้าโครงการติดตั้งที่โรงงานปูนซีเมนต์ เอสซีจี จ.สระบุรี แล้ว45%จะเริ่มเดินเครื่องจักรไตรมาส 2ปี 2568

กลุ่มเอสซีจีพี ขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และโซลูชันที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีศักยภาพเติบโตสูง ล่าสุดร่วมมือกับ Once Medical Company Limited พัฒนาโซลูชันเข็มฉีดยาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูงเพื่อเสริมศักยภาพการผลิตของ VEM Thailand และขยายเครือข่ายลูกค้าได้ครอบคลุมขึ้น