“บางจาก-เอสซีจี-เฟรเซอร์สฯ” เคลื่อนแผนลงทุนมุ่ง “คอร์ปอเรตคาร์บอนต่ำ”

“บางจาก-เอสซีจี-เฟรเซอร์สฯ” เคลื่อนแผนลงทุนมุ่ง “คอร์ปอเรตคาร์บอนต่ำ”

“บางจาก –เอสซีจี-เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” ตบเท้าเข็นธุรกิจสู่เน็ตซีโร่ แนะรัฐตั้งหน่วยงานกลางผลักดันนโยบาย หนุนภาคเอกชนเคลื่อนแผนลงทุนใหม่มุ่งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชู ‘วัน แบงค็อก’ ต้นแบบ Net Zero ดึงพันธมิตรร่วมซัพพลายเชนแห่งความยั่งยืน

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ฉลอง 60 ปี จัดสัมมนา “60 Years OF EXCELLENCE” วานนี้ (18 ก.ย.) เวที “The Future of sustainability growth” โดยให้ความสำคัญกับ Carbon Neutrality หรือการบรรลุความสมดุลระหว่างปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศกับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยบนเวทีสัมมนาวันที่ 18 ก.ย. 2567 ภายใต้แนวคิด “Towards The Prosperous ACMECS” ในหัวข้อ “A Conversation on the Sustainable Future” ว่า บางจากมีความพร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนด้านพลังงาน ซึ่งการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศจะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกภาคส่วน ไม่เพียงกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อบังคับให้ทุกฝ่ายเดินหน้าตามเป้าหมาย แต่จะต้องมาหาแนวทางร่วมกันเพื่อไปสู่เส้นทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

“บางจาก-เอสซีจี-เฟรเซอร์สฯ” เคลื่อนแผนลงทุนมุ่ง “คอร์ปอเรตคาร์บอนต่ำ”

อย่างไรก็ดี บางจากถือเป็นองค์กรอันดับแรกๆ ที่ตื่นตัวต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2011 เริ่มจากการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายในองค์กร และวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บางจากลงเม็ดเงินลงทุนกว่า 6 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และมาลงทุนในพลังงานทดแทน เป็นต้น

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทดแทนที่มุ่งสู่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างต้นทุนทางธุรกิจ และสร้างผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 5% เท่านั้น ดังนั้น วันนี้ถือว่าอยู่ในช่วงของทางแยกระหว่างเป้าหมายการสร้างธุรกิจเพื่อความยั่งยืนรักษ์โลก แต่อีกด้านผู้ประกอบการก็ต้องทำรายได้ และสร้างผลกำไรให้แก่นักลงทุน

ในส่วนของบางจากยังคงเดินหน้าตามเป้าหมายลดคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามแผนในช่วงแรกตั้งเป้าลดให้ได้ 30% และที่ผ่านมาได้ริเริ่มจากการดำเนินงานภายในองค์กร อาทิ การปลูกต้นไม้ ปลูกป่าลดการปล่อยก๊าซฯ และตอนนี้ก็ยังหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิตสินค้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซฯ เพิ่มขึ้น

แนะตั้งวันสต็อปลดขั้นตอนขออนุญาต

รวมไปถึงธุรกิจใหม่ที่บางจากกำลังดำเนินการ คือ น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ที่พัฒนามาจากน้ำมันเหลือใช้จากการปรุงอาหาร นอกจากช่วยลดการปล่อยก๊าซแล้วยังเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันมีพันธมิตรจากผู้ขายน้ำมัน และสายการบินติดต่อมาเพื่อขอใช้น้ำมัน SAF แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าเชื้อเพลิงปกติถึง 2 เท่า แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้ก็ตื่นตัวและพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซฯ ลดของเสียจากน้ำมันเหลือใช้ โดยบางจากคาดว่าโครงการนี้จะเกิดในไตรมาส 2/2568

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลสร้างกรอบความเข้าใจในนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ผู้ประกอบการทุกฝ่ายร่วมมือกัน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ต้องการความร่วมมือนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสิ่งเหล่านี้ อีกทั้งควรมีหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประสานติดต่อเรื่องนี้จุดเดียว เพราะที่ผ่านมาพบว่าการประสานงานขอใบอนุญาตต้องดำเนินการหลายภาคส่วน 

ยกตัวอย่างในโครงการที่บางจากดำเนินการก่อนหน้านี้ คือ บริการจักรยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีบริการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ต้องประสานงานขอใบอนุญาตทั้งจากกระทรวงคมนาคม และหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ดังนั้น หากมีการจัดตั้งศูนย์กลางเรื่องนี้จะทำให้หลายโครงการเดินหน้าได้เร็วขึ้น

“เอสซีจี”​ลดปล่อยก๊าซฯขั้นแรก 25%

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขั้นแรก 25% หลังจากนั้นจะขยับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยหนึ่งในโครงการที่ได้ริเริ่มดำเนินการ คือ ลดการใช้ถ่านหิน โดยนำวัสดุชีวมวลมาพัฒนาด้วยเทคโนโลยีใช้ทดแทนถ่านหิน ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซไปได้ถึง 50% จากการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ อีกทั้งยังลดอุณหภูมิในการผลิตปูนซีเมนต์ลงด้วย

อย่างไรก็ดี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้ ปัจจุบันได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคโดยสามารถทำยอดขายได้ 70% จากการขายปูนซีเมนต์ในปัจจุบัน และเอสซีจีมองว่า นี่คือทิศทางการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจปูนในการมีส่วนร่วมลดคาร์บอน และนี่คือจุดแข็งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเรื่องการใช้วัสดุชีวภาพเข้ามาเป็นส่วนหลักของการลดคาร์บอน ถือเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเร่งสนับสนุน และภาคเอกชนต้องจับมือเป็นพันธมิตรในการผลักดัน

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเอสซีจียังได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อดำเนินโครงการลดการทิ้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับปรุงและนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยเมื่อไม่นานมานี้ร่วมกับโฮมโปร นำตู้เย็นเก่า แอร์เก่ามาแยกวัสดุ หลังจากนั้นนำพลาสติกกลับมาดีไซน์ออกแบบใหม่และนำมาขาย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดคาร์บอน และธุรกิจเติบโต

“บางจาก-เอสซีจี-เฟรเซอร์สฯ” เคลื่อนแผนลงทุนมุ่ง “คอร์ปอเรตคาร์บอนต่ำ”

ชูวัน แบงค็อก โปรเจกต์ลดคาร์บอน

นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด  กล่าวในเวที “The Future of sustainability growth” ฉายภาพว่า แนวทางการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ใน“วัน แบงค็อก” ซึ่งเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรใจกลางกรุงเทพฯ มีเจตนารมณ์ในการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ด้วยการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ เอสซีจี ในการจัดการวัสดุก่อสร้าง ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy)ในหลายๆ ด้าน เช่น การบดย่อยเศษหัวเสาเข็มกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบการผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป การรีไซเคิลเศษอิฐมวลเบาที่เหลือใช้จากการก่อสร้างผลิตเป็นแผ่นอิฐมวลเบาขนาดใหญ่

“นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญในการยกระดับมาตรฐานโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในไซต์ก่อสร้างและยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต”

นายปณต กล่าวต่อว่า เทรนด์ความยั่งยืน ที่บริษัทนำมาใช้นั้นได้ศึกษาเทรนด์โลกและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตามเป้าหมายที่มีแผนการลงทุนใน 20ประเทศ ทั้งโครงการที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล อาคารสำนักงาน ฯลฯ เพื่อให้สามารถลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) ตามปณิธานของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

“ความยากสุดในการทำงานคือการดึงพาร์ตเนอร์ในซัพพลายเชนเข้ามาร่วมมือ เพื่อกำหนดมาตรฐานใหม่ในด้านการทำงานร่วมกันเพื่อคุณคุณภาพ ความยั่งยืน ภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”

ยกตัวอย่าง การคิดค้นสูตรส่วนผสมใหม่ในการผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปจากคอนกรีตที่เหลือใช้ ที่นำมาจากการก่อสร้างในโครงการวัน แบงค็อก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้ง รวมถึงเป็นความร่วมมือในการพัฒนาแผนการจัดการขยะจากการก่อสร้างโครงการแบบองค์รวมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นดำเนินการ เพื่อลดเศษวัสดุจากการก่อสร้างอย่างยั่งยืน

“บางจาก-เอสซีจี-เฟรเซอร์สฯ” เคลื่อนแผนลงทุนมุ่ง “คอร์ปอเรตคาร์บอนต่ำ”