เปิดคู่มือ ‘เอสซีจี' รับโลกผันผวน สร้างโอกาสธุรกิจยุค ‘ภูมิรัฐศาสตร์’

เปิดคู่มือ ‘เอสซีจี' รับโลกผันผวน สร้างโอกาสธุรกิจยุค ‘ภูมิรัฐศาสตร์’

SCG ชี้ภูมิรัฐศาสตร์กดดันการค้าโลก เป็นทั้งวิกฤติ-โอกาสธุรกิจไทย เร่งพัฒนาสินค้าตีตลาดใหญ่ เปิดบ้านเป็นพี่เลี้ยงให้ SME ไทยปรับตัว พัฒนาโปรดักส์สร้างมูลค่าเพิ่มในช่วง "ปิโตรเคมี" ขาลง ย้ำฐานะทางการเงินยังแข็งแกร่ง ขณะที่ปรัชญาการทำงาน "เรียกปัญหาว่าความสุข

KEY

POINTS

  • ภูมิรัฐศาสตร์จากมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐส่งผลกระทบการค้าทั่วโลก ไทยจะได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบ เช่น เมื่อสินค้าจากจีนไม่สามารถส่งไปสหรัฐได้จะไหลเข้ามายังประเทศไทยและอาเซียน
  • หากธุรกิจไทยไม่ปรับตัว จะโดน Pressure จากสินค้าจากจีนราคาถูกเข้ามาไทย และเมื่อจีนไม่สามารถขายไปสหรัฐฯ ได้จึงต้องซื้อขายกับกลุ่มอาเซียน จึงเป็นกลยุทธ์ที่มองว่าจะทำอย่างไรให้ขายของเข้าสหรัฐได้
  • SCG มีโปรแกรม Go Together เปิดบ้านช่วยให้ความรู้แก่เอสเอ็มอี พัฒนาธุรกิจเพื่อให้ผ่าน Audit ของสหรัฐฯ มาตรฐานแรงงาน การใช้พลังงานสะอาดลดต้นทุน เรามีหลายโปรเจค 

จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้กระทบกับเศรษฐกิจวงกว้าง โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ดังนั้น ธุรกิจไทยจะต้องเร่งปรับตัวรับกับเทรนด์การยอมรับของผู้บริโภคในตลาดการค้าหลักโดยเฉพาะสินค้าโลว์คาร์บอน 

ในขณะที่สินค้าไร้มาตรฐานต่างล้นทะลักเข้ามาจำนวนมากในประเทศไทย ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่างต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อหาตลาดใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มเอสเอ็มอีเท่านั้น องค์กรขนาดใหญ่สินทรัพย์กว่า 8 แสนล้านบาท อย่าง SCG ต้องมุ่งปรับ Portfolio พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าตอบรับกับผู้บริโภคทั่วโลก  

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐส่งผลกระทบการค้าทั่วโลก ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบ เช่น เมื่อสินค้าจากจีนไม่สามารถส่งไปสหรัฐได้จะไหลเข้ามายังประเทศไทยและอาเซียน

ดังนั้น หากธุรกิจไทยไม่รีบปรับตัว อาทิ ด้านการลดต้นทุน จะโดน Pressure จากสินค้าราคาถูกจากจีนที่มีขนาดที่ใหญ่กว่าไทยมาก และอีกมุมมองเมื่อจีนไม่สามารถขายไปสหรัฐได้จึงต้องซื้อขายกับกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงไทย จึงเป็นกลยุทธ์ที่มองว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถขายของเข้าสหรัฐได้

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าของที่ขายให้เมืองไทยอยู่ ๆ จะขายให้สหรัฐจะต้องเข้ากฎเกณฑ์ มาตรฐานของสหรัฐด้วย อาจใช้เวลาในการปรับตัวในบางสินค้า ซึ่งสินค้าใดปรับตัวได้ก่อนก็จะยังคงอยู่รอดได้ ดังนั้น สงครามการค้าที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เอสเอ็มอีที่อาจจะปรับตัวได้น้อยกว่า แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยชะลอการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

“ภาครัฐอาจจะต้องชะลอการเอาสินค้าราคาถูกจากจีน เซฟการ์ด โปรโมทตัว Local Content ของจีนหรือประเทศอื่นที่จะมาลงทุนในบ้านเราเพื่อ Support Local Economy เกิดการจ้างงานของประเทศไทยจะแก้ปัญหาระยะยาวได้”

ในอีกมุมสินค้าจากประเทศจีนที่เข้ามาไทยจำนวนมาก ในส่วนของ SCG เองมีความกังวลด้านผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ราคาถูก โดยเฉพาะ Polypropylene (PP) ซึ่งได้วัตถุดิบราคาถูกจากรัสเซีย ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา SCG ได้ปรับตัวหารือกับสหรัฐฯ ในเรื่องของการนำเสนอสินค้าต่างๆ ล่าสุดในปีนี้สามารถขายปูนคาร์บอนต่ำให้สหรัฐกว่า 1.3 ล้านตันแล้ว

“SCG มีโปรแกรม Go Together โดยเปิดบ้านช่วยให้ความรู้แก่เอสเอ็มอี นำเสนอเทคนิคการปรับปรุงคุณภาพสินค้าว่าจะลดต้นทุน พัฒนาธุรกิจเพื่อให้ผ่าน Audit ของสหรัฐฯ มาตรฐานแรงงาน การใช้พลังงานสะอาดลดต้นทุน เรามีหลายโปรเจค อีกทั้ง มาตรการปรับขึ้นค่าแรงก็จะเข้ามาผลกระทบต่อต้นทุนถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้เรื่อย ๆ การใช้หุ่นยนต์ให้เหมาะกับระดับแรงงานจะต้องเข้ามาเสริม รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ให้เหมาะกับงาน เป็นต้น”

สำหรับแผนธุรกิจปี 2568 หากมองผลประกอบการ 3 ไตรมาส ปี 2567 พบว่า กำไรปีต่อปีลดลง 40% ถือว่าเยอะ และเมื่อแยกธุรกิจที่ลงคือปิโตรเคมี แต่เมื่อซูมจะเห็นว่ากระแสเงินสดลงแค่ 10% SCG จึงมั่นใจว่าจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ 

อีกทั้งธุรกิจปิโตรเคมีในไทยยังถือว่ามีกำไร แต่ที่ดึงกำไรคือธุรกิจที่เวียดนาม เพราะเป็นคอมเพล็กซ์ใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มดำเนินการใน 3 ปีแรก การเดินเครื่องยังไม่นิ่งและยังไม่มีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับวิธีการแก้ของ SCG ในเวียดนาม จะเร่งแก้ไขระยะสั้น คือ การจ่ายหนี้คืนเพื่อลดต้นทุนด้านดอกเบี้ย ส่วนค่าเสื่อม ให้เป็นไปตามหลักทางบัญชี พร้อมเดินคอมเพล็กซ์เมื่อมีกำไร ซึ่งวัตถุดิบโพรเพนจะราคาถูกช่วงซัมเมอร์ จึงควรกลับมาเดินเครื่องในช่วงนั้น 

ส่วนระยะกลางและระยะยาว ต้องปรับวัตถุดิบเป็นอีเทนโดยการลงทุน LSP เพื่อรับก๊าซอีเทนสหรัฐจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแข่งขันอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลก เพิ่มความยืดหยุ่นของวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งขณะนี้ราคาประมาณ 300 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อคูณ 1 ล้านตัน จะเป็นเงิน 300 ล้านดอลลาร์ต่อปี หาก Advantage ได้ 300 ดอลลาร์ต่อตัน ไม่กี่ปีจะคืนทุนได้

ส่วนเศรษฐกิจเวียดนาม ทางการเมืองถือว่าเรียบร้อยแล้ว เมื่อได้เลขาธิการคนใหม่สามารถบริหารนโยบายได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ เศรษฐกิจเวียดนามที่คาดว่าปี 2567 จะโต 6% ปี 2568 ตั้งเป้าโต 8% และปี 2569 โตกว่า 10% โดยสิ่งที่ผู้นำเวียดนามแก้ปัญหาที่รื้อรังที่สะสมมานานคือ 

1. ปัญหาไฟฟ้าที่ไม่เสถียร ซึ่งตอนนี้สามารถแก้ปัญหาได้ภายใน 3 เดือน โดยบริษัทที่ลงทุนด้านพลังงานสะอาดสามารถจ่ายไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งสมาร์ทกริดได้แล้ว

2.นโยบายการยุบรวมกระทรวง เพื่อลดขนาดและขั้นตอนการทำงาน เช่น นำเอา 3 กระทรวง มาเหลือ 1 กระทรวง ซึ่งถ้าทำได้จริงก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และถ้าเวียดนามทำได้ ไทยก็เป็นไปได้เพียงแต่ต้องตั้งใจทำจริง ๆ อีกทั้ง SCG มีธุรกิจในเวียดนามใหญ่อันดับ 2 รองจากประเทศไทย โดยสัดส่วนธุรกิจในไทยที่ 50% เวียดนาม 20% ถัดมาเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ ตามลำดับ

“เวียดนามถือเป็นอีกประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ อันดับ 2-3 ดังนั้น มีโอกาสที่จะถูกเรียกคุย เพียงแต่ว่าเวียดนามมี Special Position ที่ Balance ระหว่างทางจีนและสหรัฐ และเป็นประเทศที่มีทรัพยากรและแรงงานที่มีการเติบโตสูง และสามารถปรับตัวได้”

ถึงเวลาหั่นทิ้งธุรกิจกำไรน้อย สร้างการเติบโตธุรกิจใหม่

นายธรรมศักดิ์ กล่าวถึงการตัดทิ้งธุรกิจที่ไม่ทำกำไรว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา SCG ได้ทดทองพัฒนาธุรกิจใหม่มากมายเพื่อตอบรับกับ New Business แต่ต้องยอมรับว่า การทำธุรกิจใหม่มีทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ เมื่อมองเห็นแล้วว่าจะไปได้ดีจะใส่เงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโต 

ส่วนธุรกิจไหนดูแล้วว่าจะไม่สำเร็จก็ไม่ควรยื้อไว้แล้วโยกบุคลากรให้ไปอยู่ในกลุ่มอื่นที่สร้าง Impact ได้มากกว่า ซึ่งการสตรีมไลน์ธุรกิจจะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ว่าคนที่ทำไม่เก่ง แต่ดูแล้วผลตอบแทนในธุรกิจไม่เวิร์คไม่คุ้ม

“อย่างธุรกิจขนส่ง SCG EXPRESS ที่รู้จักกันในนามแมวดำ ที่ต้องยุติลงถือว่าเติบโต แต่ผลตอบแทนทางการเงินน้อย และจะต้องถมเงินไปอีกเท่าไหร่ แล้วใครจะได้ประโยชน์ หากเทียบกับธุรกิจรีไซเคิล โพลิเมอร์ที่คุ้มกว่า เราต้องทำในสิ่งที่ดีกว่าและคุ้มกว่าในระยะยาว เป็นธรรมชาติของการทำธุรกิจ”

ทั้งนี้ จะเห็นว่า SCG ได้ขยายธุรกิจก้าวสู่ธุรกิจใหม่ตอบรับเทรนด์โลก เช่น พลังงานสะอาด ซึ่งลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ผ่านการทำ Rondo Heat Battery ซึ่งสิ่งไหนที่ขยายธุรกิจด้านสมาร์ท กริด ซึ่งสร้างผลตอบแทนทางการเงินระยะยาว และกล้าปิดธุรกิจเก่าที่ไม่เวิร์ค สรุปแล้วมีทั้งเปิดใหม่และตัดทิ้งไป

นายธรรมศักดิ์ กล่าวถึงราคาหุ้นของ SCG ช่วงนี้ที่อาจมีขึ้นและลงว่า นักลงทุนอาจมองว่าปิโตรเคมีขาลง ซึ่งราคาหุ้นขึ้นกับ Cycle การลงทุน ทั้งการลงทุนระยะสั้นระยะยาว ซึ่งการลงทุนจะต่ากันไป จังหวะการลงทุนต้องดูว่าอยากจะลงทุนในช่วงไหน แต่อยากให้ความมั่นใจว่าการลงทุนในกลุ่มหุ้นลักษณะขึ้นๆ ลงๆ สำคัญที่สุดเลยบริษัทนั้นจะต้องมีความมั่นคงทางการเงิน 

“SCG จ่ายเงินกู้คืนไม่มีปัญหาด้านการเงิน มีการเปลี่ยนแปลง Portfolio สร้างธุรกิจใหม่จากสินทรัพย์กว่า 8 แสนล้านบาท การลงทุนในธุรกิจใหม่จึงค่อยๆ ลงทุนในจังหวะที่ไม่เกินตัวและตรงไปตรงมา”

อย่างไรก็ตาม เรื่องของ Cycle ธุรกิจปิโตรเคมียอมรับว่าไม่มีใครทายถูก ซึ่งปัญหาภูมิรัฐศาสาตร์จะเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก อีกทั้ง หากสหรัฐฯ หันมาสนับสนุนให้ผลิตน้ำมันเยอะขึ้น ก็อาจจะไม่ดีในเรื่องของ Global Complex แต่จะดีกับธุรกิจปิโตรเคมี เพราะราคาวัตถุดิบจะลดลงด้วย Margin ดีขึ้น แต่จะในระยะยาวหรือไม่ยังไม่สามารถมีใครตอบได้

ปรัชญาการทำงานมอง “ปัญหา” เป็นความสุข

นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง CEO SCG ต้นปีที่ผ่านมา ยอมรับว่าคนที่มาดูแลธุรกิจต้องมองระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ตอนเข้ามาตนมีเป้าหมายระยะยาวที่อยากจะเปลี่ยน Portfolio ของ SCG ไปสู่ low Carbon ถือเป็น New s-curve จะสร้าง Margin ได้ ดังนั้น จากปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างปีโดยเฉพาะภูมิรัฐศาสตร์ ฯลฯ จะต้องแก้ไขทีละเรื่อง ส่วนการพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างการเติบโตแม้จะเหนื่อยแต่จะไม่หยุดที่จะช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ เพราะทุกการทำงานนั้นเหนื่อยหมด

“สำหรับปรัชญาการทำงานจะคิดเสมอว่า เมื่อเจอปัญหาจะเรียกปัญหาว่าความสุข ดังนั้น จึงต้องแบ่งปันความสุขให้ช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ และปัญหาต่างๆ จะแก้ไขไปได้อย่างรวดเร็ว”