ความน่าเชื่อถือของสื่อทีวี

ความน่าเชื่อถือของสื่อทีวี

ในชีวิตนี้เคยเกี่ยวข้องกับสื่อโดยตรงเพียงครั้งเดียว ประมาณปี 2518-2519 ที่ไปทำหน้าที่หน่วยงานที่ผลิตสื่อหนังสือพิมพ์ของรัฐบาล

ชั่วคราวช่วงสั้นๆไม่ถึงปี แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้สื่อข่าว เขียนข่าว วิเคราะห์ข่าว หรือประจำกองบรรณาธิการ แต่ทำด้านธุรกิจจัดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ออกวางแผงทั่วประเทศ นอกจากเวลามีการประชุมร่วมกันทั้งหน่วยงานก็ได้ฟังวิธีการทำงานของผู้สื่อข่าว การทำสกู๊ปข่าว การเขียนข่าวอยู่บ้าง

ช่วงเรียนหนังสือก็มีโอกาสบางช่วงบางตอนของการเรียนต้องเรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการสื่อสาร ตั้งแต่ผู้ส่งสาร ตัวสาร และผู้รับสาร พอมีความรู้นิดๆหน่อยๆ ไม่ถือว่าเป็นการศึกษาเรื่องสื่อสารมวลชนโดยตรงจริงๆจังๆ จึงไม่อาจพูดได้ว่ามีความรู้ด้านนี้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม การที่ได้ทำงานกับหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนก็เกี่ยวข้องกับสื่อไม่น้อย รวมทั้งการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยระดับบัณฑิตศึกษาก็ต้องอ่านงานนิพนธ์ของนักศึกษาที่หลายคนเขียนเรื่องเกี่ยวกับสื่อ

แต่สิ่งที่สนใจคือผลกระทบของสื่อที่มีต่อประชาชนผู้รับสื่อ หรือที่มักเรียกว่าผู้เสพสื่อ ซึ่งเราในฐานะประชาชนก็ถือว่าเป็นผู้รับสื่อด้วยเช่นกัน ประเด็นมีอยู่ว่า สื่อบ้านเรามีความเป็นกลางในการเสนอข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบแค่ไหน

พยายามจะแยกแยะว่าส่วนที่เป็นธุรกิจกับที่ไม่เป็นธุรกิจนั้น ย่อมต่างกัน สื่อธุรกิจนั้นต้องสร้างรายได้และผลกำไรให้กับบริษัท ต้องทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ สร้างเรทติ้ง สร้างอันดับ ยิ่งเรทติ้งสูงยิ่งมีโฆษณาเข้ามากบริษัทก็มีรายได้และกำไรมาก แต่ถ้าไม่ใช่สื่อธุรกิจ อย่างนี้วัตถุประสงค์ย่อมต่างกัน ลักษณะของสื่อนั้นจะเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจในข้อเท็จจริงของเรื่องราวที่ประชาชนสนใจ สื่อประเภทนี้จึงต้องมีจรรยาบรรณสูง มีความเป็นกลาง และให้ข้อมูลประชาชนอย่างเป็นอิสระ ไม่เอนเอียงเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้ประชาชนผู้รับสื่อได้ตัดสินใจเอง อย่างนี้จึงจะถือว่าสื่อนั้นได้ทำหน้าที่ของสื่ออย่างดีแล้ว

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของสื่อที่ไม่ใช่ธุรกิจในบ้านเรายังไม่เป็นที่ยอมรับในความเป็นกลางของสื่อ การนำเสนอข่าวมักเสนอในแนวทางที่เป็นกระแสในสังคมมากกว่าให้ความเป็นจริงหลายๆด้านให้ประชาชนผู้รับสื่อได้ตัดสิน พูดง่ายๆก็คือสื่อไม่ได้ทำหน้าที่สื่อสารแต่ทำหน้าที่ตัดสินแล้วเอาสิ่งที่สื่อตัดสินแล้วให้ประชาชนรับรู้ อย่างนี้ ไม่น่าถูกต้อง สื่ออาจเลือกข้างได้ แต่ก็ต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ในประเทศพัฒนาแล้วเช่นสหรัฐ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง สื่อไม่ว่าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ จะมีความชัดเจนว่าจะอยู่ข้างเดโมแครตหรือรีพับลิกัน แต่การทำสื่อก็ยังรักษาความเป็นกลางและทำอย่างมีจรรยาบรรณ

วิธีหนึ่งที่ผู้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์หรือดูข่าวโทรทัศน์จะตัดสินว่าสื่อนั้นเป็นกลางหรือไม่ก็คือการนำเสนอข่าวที่ให้โอกาสทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น และไม่เอาความเห็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นข้อสรุปของข่าวนั้น

แต่ที่พบเห็นในสื่อบ้านเราก็คือสถาบันสื่อส่วนใหญ่เมื่อจะเล่นข่าวใดข่าวหนึ่งก็มักจะเจาะเฉพาะด้านที่มีความเห็นตรงกับที่สื่อต้องการ โดยที่ไม่ได้ทำข่าวความเห็นอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เนื้อหาข่าวจึงออกมาด้านเดียวตลอด โดยเฉพาะด้านที่สถานีข่าวนั้นเห็นพ้อง ส่วนด้านอื่นก็ต้องตกข่าวไปโดยปริยาย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว การเสนอข่าวจะให้มีมากกว่าหนึ่งด้านเสมอ แม้จะเป็นเสียงของฝ่ายที่ไม่ค่อยแสดงออก ก็ต้องพยายามให้โอกาสแสดงความเห็น ไม่ใช่ปล่อยให้ผ่านเลยไป กลายเป็นว่าคนเสียงดังไม่กี่คนกลายเป็นข่าวตลอดเวลา แต่คนอีกมากมายที่ไม่ได้เห็นด้วย ไม่เป็นข่าว

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นตรรกะที่ถูกต้องแค่ไหนสำหรับการนำเสนอข่าวแบบเลือกข้างที่เห็นบ่อยๆ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ฝ่ายที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรม แม้เพียงไม่กี่คน สื่อก็ทำข่าวเผยแพร่ประโคมกระพือ แต่ฝ่ายที่ไม่ได้เคลื่อนไหว กลับไม่มีสื่อให้ความสนใจ ทั้งๆที่คนเหล่านั้นเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสังคมด้วยซ้ำ

มีกฎหนึ่งเรียกว่ากฎของพาเรทโต้ หรือ Pareto Principle ที่อธิบายว่าสังคมมนุษย์นั้นจะมีประมาณ 20% ที่กระตือรือล้นทำกิจกรรมอย่าง active ในขณะที่อีก 80% ที่เหลือมักไม่ค่อยกระตือรือล้น ไม่ค่อยมีกิจกรรม เป็นประเภท passive ดังนั้นเสียงของคน 20% จึงมักดังกลบเสียงของคน 80% อยู่เสมอ ทั้งๆที่เป็นเสียงส่วนน้อย

ล่าสุดที่เห็นคือกรณีทวงคืนผืนป่าที่ใช้สร้างบ้านพักข้าราชการศาลยุติธรรมที่เชียงใหม่ นักข่าวที่ไปทำข่าวจะพยายามสัมภาษณ์ถามกลุ่มคนที่มารวมตัวกันไม่กี่คน ซึ่งคำตอบก็แน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร ในขณะที่คนเชียงใหม่ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ไม่เคยมีใครไปสอบถามความเห็นเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีคำถามว่าความเห็นของคนกลุ่มเล็กๆที่สื่อไปสอบถามความเห็นนั้น ทำไมจึงกลายเป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ทั้งจังหวัดไปได้

คนกลุ่มเล็กๆที่มาทำกิจกรรมทวงคืนผืนป่านั้น เขาก็คงไม่ได้คาดหมายว่าคนทั้งจังหวัดจะเห็นด้วยกับเขา แต่เมื่อพวกเขามีความเห็นเช่นนี้ เขาก็มีสิทธิที่จะแสดงความเห็นของพวกเขา แต่สื่อไม่ไปถามคนอื่นนอกกลุ่มนี้เอง แต่กลับนำเอาความเห็นของคนกลุ่มเล็กไปขยายออกสื่อเสมือนหนึ่งว่าเป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่ ทั้งๆที่การสอบถามความเห็นนั้นไม่ได้เป็นไปตามระเบียบวิธีวิจัย ไม่ได้เป็นกลุ่มตัวอย่าง ไม่เป็นการสุ่มตามหลักวิชาการ แต่เอาความเห็นที่ได้มาแสดงผลว่าเป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่ที่เรียกว่าgeneralization ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าถูกต้อง

สถานีทีวีบางช่องเช่นไทยพีบีเอสที่เป็นทีวีอิสระ เรียกตัวเองว่าเป็นสื่อเสรีด้วยซ้ำ ก็ไม่ต่างกับช่องทีวีธุรกิจอื่นๆ การนำเสนอข่าวต่อประชาชนเป็นการเสนอข่าวด้านเดียวมาตลอด และเป็นเช่นนี้มานานแล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องทวงคืนผืนป่าที่สร้างบ้านพักข้าราชการศาลยุติธรรมที่เชียงใหม่ การเสนอข่าวแบบนี้ถือว่ากระทำอย่างลำเอียงและเลือกปฏิบัติ และน่าจะผิดจรรยาบรรณด้วยซ้ำ แต่การทำข่าวและเสนอข่าวของไทยพีบีเอสก็ดูเหมือนจะไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทั้งๆที่เปลี่ยนผู้บริหารและคณะกรรมการบริหารมาหลายคนหลายชุด

ไม่ทราบว่าคนอื่นคิดอย่างไร แต่ทุกครั้งที่เห็นการเสนอข่าวที่ไม่เป็นธรรมแบบนี้ ก็อดคิดไม่ได้ว่าความเป็นธรรมของสังคมอยู่ที่ไหนในสายตาสื่อ