ทำงานยังไงให้มีความสุข? วิจัยเผย เน้นความก้าวหน้าอย่าเป็น Perfectionist
ไขรหัส ทำงานยังไงให้มีความสุข? นักวิจัยฮาร์วาร์ดเผย มุ่งเน้นที่ความก้าวหน้าอย่าเป็น Perfectionist จะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า
KEY
POINTS
- นักวิจัยฮาร์วาร์ดไขรหัสที่จะทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้นได้ ความลับที่ค้นพบคือ การมุ่งเน้นไปที่ความก้าวหน้ามากกว่าความสมบูรณ์แบบในอาชีพการงานของคุณ จะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่
- วัยทำงานควรหาคำตอบว่า อะไรเป็นสิ่งที่กระตุ้นพลังให้เราลุกไปทำงานได้ในแต่ละวัน รู้ลำดับความสำคัญในชีวิตว่าคืออะไร และยอมรับการแลกเปลี่ยนที่จำเป็น
- การละทิ้งอุดมคติของ “งานในฝัน” ไม่ได้หมายความว่าจะต้องละทิ้งความทะเยอทะยาน แต่เป็นการหันมาโฟกัสที่อาชีพปัจจุบัน และทำมันให้น่าพอใจและสมดุลมากขึ้น
ใครๆ ก็อยากทำงานในฝัน แต่ชีวิตจริงอะไรๆ ก็คงไม่เป็นอย่างที่คิดเสมอไป ‘ไม่เลือกงานไม่ยากจน’ จึงน่าจะเป็นวลีที่ใช้ได้กับวัยทำงานยุคนี้มากที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้วคนเราสามารถมีความสุขกับการทำงานทุกงานได้ แค่เปลี่ยนวิธีคิดในแง่บวก โดยนักวิจัยฮาร์วาร์ดเปิดเผยว่า คนที่มีความสุขกับอาชีพการงานของพวกเขามักจะมีแนวคิดแบบเดียวกัน นั่นคือ ไม่มีงานใดสมบูรณ์แบบ
ไมเคิล บี. ฮอร์น (Michael B. Horn) ผู้เขียนร่วมงานวิจัย ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำ Harvard Graduate School of Education ได้ร่วมกับ อีธาน เบิร์นสไตน์ (Ethan Bernstein) อาจารย์จาก Harvard Business School และ โรเบิร์ต โมเอสต้า (Robert Moesta) ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา The Re-Wired Group พวกเขาทำการศึกษาและสัมภาษณ์พนักงานออฟฟิศในระดับต่างๆ กว่า 1,000 คนมานานกว่า 10 ปี
ตั้งแต่ซีอีโอของบริษัท Fortune 500 ไปจนถึงผู้จัดการฝ่ายของหลากหลายองค์กรธุรกิจ จนในที่สุด กลุ่มนักวิจัยฮาร์วาร์ดอาจไขรหัสที่จะทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้นได้
โฟกัสที่งานปัจจุบัน มุ่งเน้นความก้าวหน้า และทำมันให้น่าพอใจ
ความลับที่พวกเขาค้นพบก็คือ การมุ่งเน้นไปที่ความก้าวหน้ามากกว่าความสมบูรณ์แบบในอาชีพการงานของคุณ จะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าการไล่ตาม “งานในฝัน” ของคุณเสียอีก
ไมเคิล บี. ฮอร์น บอกว่า อย่างแรกที่วัยทำงานควรหาคำตอบก็คือ อะไรเป็นสิ่งที่กระตุ้นพลังให้กับตัวคุณเพื่อลุกไปทำงานได้ในแต่ละวัน ต้องรู้ว่าลำดับความสำคัญในชีวิตคุณคืออะไร และยอมรับการแลกเปลี่ยนที่จำเป็นเพื่อไปถึงจุดที่คาดหวังในอาชีพการงาน
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยฮาร์วาร์ดไม่ได้บอกว่าให้เลิกไขว่คว้างานในฝัน เพียงแต่บางครั้งหากจังหวะชีวิตมันยังไม่ได้จริงๆ ก็แค่วางมันลงไว้ก่อน อีกทั้งการละทิ้งอุดมคติของ “งานในฝัน” ไม่ได้หมายความว่า จะต้องละทิ้งความทะเยอทะยาน แต่เป็นการหันมาโฟกัสที่อาชีพปัจจุบันและทำมันให้น่าพอใจและสมดุลมากขึ้น
อย่าติดกับดัก Perfectionist ความก้าวหน้าไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบเสมอไป
ความก้าวหน้าไม่ได้มีแค่เรื่องของการเลื่อนตำแหน่ง ได้ขึ้นสวัสดิการ หรือขึ้นเงินเดือนเท่านั้น แต่บางครั้งความก้าวหน้าก็ยังเป็นเรื่องของการยอมลดเงินเดือนเพื่อทำงานที่มีความหมายมากกว่า หรือการเลือกงานที่ทำให้ใช้ชีวิตใกล้ชิดครอบครัวมากขึ้น หรือการเลือกทำงานอิสระที่อาจไม่มั่นคงเท่างานประจำ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนอาชีพไปเลยก็ได้
“เมื่อคุณตัดสินใจที่จะทำงานที่ไหนสักแห่ง คุณก็กำลังจ้างนายจ้างเพื่อช่วยให้คุณก้าวหน้าในหน้าที่การงาน คุณต้องเลือกเองว่าจะใช้เวลากับงานอย่างไร ใช้เวลากับใคร และต้องแลกกับอะไร หากทางเลือกเหล่านั้นไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าที่คุณต้องการ อาจนำไปสู่ความไม่พึงพอใจในงาน และเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว” ฮอร์น อธิบายเพิ่มเติม
ก่อนที่จะตัดสินใจครั้งสำคัญเกี่ยวกับอาชีพการงาน ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนตำแหน่ง หรือการลาออกจากงาน ฮอร์นแนะนำให้พิจารณาถึงสิ่งสำคัญที่สุดและผลประโยชน์ที่ได้รับด้วย ยกตัวอย่างเช่น คุณเต็มใจที่จะยอมรับการทำงานหลายปีมากขึ้น เพื่อรอให้ได้ตำแหน่งงานที่มีโอกาสเติบโตในอาชีพการงานหรือไม่? หรือเลือกทำงานในตำแหน่งที่ค่อนข้างจู้จี้จุกจิกเพื่อแลกกับเงินเดือนที่สูงขึ้น? แบบไหนจะให้ผลประโยชน์ต่อชีวิตคุณในตอนนี้มากกว่ากันก็ควรเลือกหนทางนั้น
อย่างไรก็ตามโปรดจำไว้ว่า ลำดับความสำคัญของคุณจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เมื่อเราโตขึ้นในอีกหลายปีถัดไป ความต้องการของเราก็อาจเปลี่ยนไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากตอนนี้คุณกำลังเก็บเงินเพื่อซื้อบ้าน คุณอาจต้องการหางานที่เพิ่มรายได้ให้สูงสุด แต่ในอนาคต คุณอาจต้องการงานที่ให้สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ..นี่คือความแตกต่างของแต่ละช่วงวัยทำงาน
ไม่คาดหวังก็ไม่ผิดหวัง ยอมรับข้อแลกเปลี่ยนในงานได้ก็มีความสุขมากขึ้น
ฮอร์นเน้นย้ำว่า การยอมรับข้อแลกเปลี่ยนบางอย่างในงาน ที่ตรงกับความต้องการของคุณบางประการ (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด) ไม่ใช่การยอมแพ้ แต่สามารถช่วยให้คุณกำหนดความคาดหวังที่เป็นไปได้ในโลกความจริง สำหรับความก้าวหน้าในอาชีพการงานของคุณ และมันจะทำให้คุณมองการทำงานโดยรวมในแง่บวกมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น
จากการสัมภาษณ์พนักงานกลุ่มตัวอย่างหลายคนตามงานวิจัยข้างต้น ฮอร์นพบว่าพนักงานที่มีความพึงพอใจกับงานของตนมากที่สุด และมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับทิศทางอาชีพการงานของตนนั้น พวกเขาต่างเข้าใจดีว่า “ไม่มีงานใดที่สมบูรณ์แบบ” แต่การค้นหางานที่ตรงกับค่านิยมของตนหรือทำให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งที่ดีเพื่อบรรลุเป้าหมายในระยะยาว อาจเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จที่ซื่อสัตย์และบรรลุได้มากที่สุด
“หากคุณไม่คำนึงถึงข้อแลกเปลี่ยนในอาชีพของคุณตั้งแต่แรก คุณอาจรู้สึกหมดหวัง ผิดหวัง และหงุดหงิดในภายหลัง แต่ถ้าเราวางกรอบความคิดที่ดีตั้งแต่ต้น ก็จะช่วยให้ทำงานนั้นได้อย่างมีความสุข” ฮอร์นอธิบาย
ท้ายที่สุดนักวิจัยฮาร์วาร์ดสรุปให้ว่า การมีความชัดเจนเกี่ยวกับลำดับความสำคัญของชีวิต และการยอมรับในข้อแลกเปลี่ยนบางอย่างในอาชีพการงาน จะสามารถช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกสิ่งที่สอดคล้องกับค่านิยมของตนเองได้ดีขึ้น ทำให้คุณเข้าใกล้อาชีพที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายชีวิตของคุณมากขึ้นนั่นเอง