ภัยความเหงา ส่งผลคนรุ่นใหม่ 'นอนไม่หลับ' มากกว่าคนไม่เหงาสองเท่า?!

ภัยความเหงา ส่งผลคนรุ่นใหม่ 'นอนไม่หลับ' มากกว่าคนไม่เหงาสองเท่า?!

‘ความเหงา’ อาจทำให้เกิดปัญหาการนอนแย่ยิ่งกว่าแสงสีฟ้า? วิจัยใหม่ เผย คนรุ่นใหม่ที่รู้สึกเหงา มีปัญหา ‘นอนไม่หลับ’ มากกว่าคนไม่เหงาเกือบสองเท่า!

KEY

POINTS

  • ไม่ใช่แค่แสงสีฟ้าที่ทำให้หลับยาก แต่งานวิจัยใหม่ล่าสุดของมหาวิทยาลัยรัฐออริกอน (OSU) พบ “ความเหงา” เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่นอนไม่หลับ 
  • กลุ่มตัวอย่างที่ใช้เวลาหน้าจอ 8 -10 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป มีความเสี่ยงนอนไม่หลับเพิ่มขึ้น ในจำนวนนั้น 35% ชี้ว่าตนเองรู้สึกเหงาในระดับสูง ซึ่งทำให้นอนไม่หลับมากกว่าคนไม่เหงาสองเท่า
  • สาเหตุที่ความเหงารบกวนการนอนหลับ เป็นเพราะมันทำให้คนเราไวต่อความเครียดมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่จะนอนไม่หลับในเวลากลางคืนเนื่องจากความกังวล

ยุคนี้วัยทำงานและวัยรุ่นวัยเรียนหลายคนคงเคยมีอาการ “นอนไม่หลับ” กันบ่อยๆ สาเหตุหลักก็หนีไม่พ้นการใช้งานอุปกรณ์ไอทีและเทคโนโลยีต่างๆ อย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป ฯลฯ เป็นเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นต่างยืนยันตรงกันว่า “แสงสีฟ้า” จากหน้าจอเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาการนอนมากขึ้น

ไม่ใช่แค่แสงสีฟ้าเท่านั้นที่เป็นตัวร้ายต่อการนอนหลับที่ดี แต่ล่าสุดมีงานวิจัยชิ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐออริกอน (OSU) สหรัฐอเมริกา ค้นพบว่า “ความเหงา” ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนเรานอนไม่หลับเช่นกัน เผลอๆ อาจส่งผลรุนแรงกว่าแสงสีฟ้าจากหน้าจอด้วยซ้ำ 

คณะนักวิจัยนำโดย เจสซี ดิตช์ (Jessee Dietch), จอห์น ซี (John Sy) และผู้ร่วมงานจากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัย Chaminade ได้ศึกษาเรื่องนี้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวนมากกว่า 1,000 คน และพบว่า การนอนไม่หลับถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ร้ายแรงและอยู่ในระดับระบาดในหมู่ผู้ใหญ่ในช่วงวัยรุ่นในระดับอุดมศึกษา 

'คนเหงา' นอนไม่หลับมากกว่า 'คนไม่เหงา' เกือบสองเท่า

นักวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ใช้เวลาหน้าจอ 8 -10 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนอนไม่หลับเพิ่มขึ้น ในจำนวนนั้นมีผู้เข้าร่วมการทดลองถึง 35% ที่รายงานว่าตนเองรู้สึกเหงาในระดับสูง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะนอนไม่หลับมากกว่าคนที่ไม่เหงา โดยไม่คำนึงถึงเวลาที่ใช้หน้าจอ อีกทั้งพวกเขานอนไม่หลับในอัตราเกือบสองเท่าของผู้เข้าร่วมการทดลอง 65% ที่เหลืออย่างมีนัยสำคัญ

“การใช้เวลาหน้าจอนานเกินไปส่งผลเสียต่อการนอนหลับของคนเราอย่างแน่นอน แต่จากงานวิจัยนี้เราก็พบว่า ความเหงาอาจมีบทบาทในการนอนไม่หลับมากกว่าการใช้เวลาหน้าจอ” จอห์น ซี นักศึกษาคณะจิตวิทยาในฐานะผู้ร่วมวิจัย อธิบาย 

เจสซี ดิตช์ (Jessee Dietch) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา นักจิตวิทยา และผู้ประกอบวิชาชีพด้านการนอนหลับ ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วมการศึกษา กล่าวในแถลงการณ์ว่า “การนอนไม่หลับส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนรุ่นใหม่กลุ่มนักศึกษา มันมักเกี่ยวข้องกับความเครียด ความวิตกกังวล และอารมณ์แปรปรวน รวมถึงผลการเรียนที่ลดลง”

ความเหงาเชื่อมโยงกับการคิดมาก อ่อนไหวต่อความเครียด

ดิตช์บอกอีกว่า สาเหตุที่ความเหงารบกวนการนอนหลับได้นั้น เป็นเพราะทำให้คนเราไวต่อความเครียดมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่จะนอนไม่หลับในเวลากลางคืนเนื่องจากความกังวล อีกทั้งมีเหตุผลสนับสนุนเพิ่มเติมจากนักวิทยาศาสตร์ด้านวิวัฒนาการชื่อดังอย่าง “จอห์น คาซิออปโป และหลุยส์ ฮอว์คเลย์” ที่เคยอธิบายแนวคิดของพวกเขาไว้ว่า 

“ความรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่มั่นคงที่เกิดจากการแยกตัวจากสังคม อาจทำให้บางคนระมัดระวังภัยคุกคามมากขึ้น ซึ่งอาจรบกวนการนอนหลับได้ อีกทั้งความเหงาเชื่อมโยงกับการคิดมาก ความอ่อนไหวต่อความเครียด และภาวะซึมเศร้าด้วย”

จอห์น ซี กล่าวเสริมอีกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความเหงาและการนอนไม่หลับนั้นเป็นแบบสองทาง หมายความว่า ไม่ใช่แค่ความเหงาจะเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ แต่การนอนไม่หลับ (หรือหลับไม่เพียงพอ) ก็เป็นสาเหตุให้เกิดการแยกตัวทางสังคมและความเหงาได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนรุ่นหนุ่มสาวที่เหงา โดดเดี่ยว หรืออยู่คนเดียวลำพัง มีแนวโน้มที่จะประสบกับอาการนอนไม่หลับมากกว่า และความเหงาก็กระตุ้นอาการนอนไม่หลับรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะใช้เวลาหน้าจอนานเท่าใดก็ตาม

ความเหงาเพิ่มความเสี่ยงโรคภัย ทั้งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ซึมเศร้า สมองเสื่อม

ในทำนองเดียวกัน ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ประมาณการว่าผู้ใหญ่ทุกๆ 1 ใน 3 คนกำลังเผชิญกับความรู้สึกเหงา ทั้งนี้ CDC ได้นิยามคำว่า ‘เหงา’ หมายถึง การรู้สึกโดดเดี่ยวหรือขาดการเชื่อมโยงกับผู้อื่น รู้สึกว่าไม่มีความสัมพันธ์ที่มีความหมายหรือใกล้ชิด ผู้ที่ขาดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง หรือผู้ที่ปรารถนาการเชื่อมต่อทางสังคมมากขึ้น

CDC ยังบอกอีกว่า ความเหงาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคภัยได้หลายชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานชนิดที่ 2 โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล การฆ่าตัวตาย การทำร้ายตัวเอง และภาวะสมองเสื่อม

ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่ในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย มีความเสี่ยงเป็นพิเศษที่จะประสบปัญหาการนอนหลับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดิตช์บอกว่า จากการตรวจสอบทั่วโลกเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่านักศึกษามหาวิทยาลัยมีแนวโน้มนอนไม่หลับ มากกว่าคนในกลุ่มอายุเดียวกันที่ไม่ใช่นักศึกษาถึงสองเท่า ทั้งยังเป็นกลุ่มที่รู้สึกเหงาในระดับสูงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ในช่วงวัยอื่นๆ อีกด้วย

บางทีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ แทนที่จะมุ่งเน้นแต่การลดเวลาหน้าจอ แต่ควรมุ่งไปที่สร้างและรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมในเชิงบวกร่วมด้วย อาจเป็นประโยชน์ต่อการนอนหลับได้ อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยบอกว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อระบุเรื่องนี้ให้ชัดเจน