วิจัยชี้ น้ำมันหอมระเหยทำให้ความจำดีขึ้น แนะ 4 กลิ่นลดตึงเครียด-นอนไม่หลับ
กลิ่นน้ำมันหอมระเหยทำให้สมองและความจำดีขึ้น วิจัยชี้ เพิ่มการรับรู้ได้ถึง 226% ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญแนะ 4 กลิ่นช่วย “วัยทำงาน” ลดอาการตึงเครียด-นอนไม่หลับ
KEY
POINTS
- กลิ่นน้ำมันหอมระเหยช่วยส่งเสริมสุขภาพสมอง ทำให้ความจำดีขึ้น โดยวิจัยพบว่าช่วยเพิ่มการรับรู้ได้ถึง 226%
- หากดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยในช่วงนอนหลับ จะทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะ “slow-wave sleep” นำไปสู่การ “นอนหลับลึก” ซึ่งมีความสำคัญในการเสริมสร้างความจำ
- ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากสตูดิโอ PilipiliCandles แนะนำน้ำมันหอมระเหย 4 ชนิด ที่ช่วยให้ “วัยทำงาน” ลดความตึงเครียด-แก้อาการนอนไม่หลับ
หลายคนคงรู้จัก Aromatherapy หรือ ศาสตร์ในการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อบำบัดร่างกายและจิตใจ กันมาบ้าง โดยส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคยกับการใช้น้ำมันหอมระเหยในการนวดผ่อนคลาย หรือใช้กลิ่นช่วยบำบัดจิตใจ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีผลวิจัยชี้ว่า น้ำมันหอมระเหยบางชนิดสามารถส่งเสริมการทำงานของสมอง ทำให้ความทรงจำที่ดีขึ้นระหว่างการนอนหลับได้
Psychologytoday รายงานถึงงานวิจัยดังกล่าวที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Neuroscience ฉบับเดือนกรกฎาคม 2023 ไว้ว่า การสูดดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยระหว่างการนอนหลับ ส่งผลต่อการทำงานของสมองในลักษณะที่ช่วยปรับปรุงการรับรู้และเพิ่มความจำได้อย่างมาก
นักวิจัยพบว่า กลุ่มที่ได้รับการบำบัดด้วยอโรมาเธอราพี มีความสามารถในการรับรู้เพิ่มขึ้นถึง 226%
โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างสูงอายุจำนวน 43 คน ซึ่งมีทั้งเพศชายและหญิงที่มีสุขภาพดี ไม่มีปัญหาหรือป่วยด้วยโรคทางสมองใดๆ ทุกคนมีอายุระหว่าง 60-85 ปี จากนั้นแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่ม แล้วให้กลุ่มแรกเข้ารับการบำบัดด้วยอโรมาเธอราพี เป็นเวลา 2 ชั่วโมงทุกคืนก่อนนอน โดยปล่อยกลิ่นผ่านเครื่องกระจายกลิ่นหอม ส่วนกลุ่มที่สองไม่ได้รับการบำบัดด้วยอโรมาเธอราพี
สำหรับอโรมาเธอราพีที่ใช้ในการทดลอง มาจากน้ำมันหอมระเหยจากพืชธรรมชาติแตกต่างกัน 7 ชนิด ได้แก่ กุหลาบ, ส้ม, ยูคาลิปตัส, มะนาว, เปปเปอร์มินต์, โรสแมรี่, ลาเวนเดอร์ ซึ่งแต่ละคืนก็จะใช้กลิ่นหอมที่แตกต่างกันสลับหมุนเวียนกันไป ทั้งนี้ นักวิจัยได้ทำการทดลองรวมระยะเวลา 6 เดือน
ผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่ได้รับการบำบัดด้วยอโรมาเธอราพี (เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้บำบัด) มีความสามารถในการรับรู้เพิ่มขึ้นถึง 226% โดยวัดผลจากการทดสอบรายการคำศัพท์ที่ใช้กันทั่วไปในการประเมินด้านความจำ แม้ว่าการศึกษานี้ดำเนินการกับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60-85 ปี โดยไม่มีปัญหาด้านการรับรู้เลย แต่ก็มีโอกาสที่ผลการวิจัยนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้คนที่มีอายุน้อยกว่าได้เช่นกัน
การดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยก่อนนอน จะทำให้เข้าสู่ภาวะ “slow-wave sleep” (หลับลึก) ซึ่งมีความสำคัญในการเสริมสร้างความจำ
นักวิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่า เส้นประสาทการรับกลิ่นของมนุษย์ มีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้และการเข้ารหัสหน่วยความจำของสมอง อีกทั้งมันเป็นส่วนหนึ่งของระบบลิมบิกของสมองซึ่งควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของคนเราด้วย อย่างไรก็ตาม กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยไม่ได้ช่วยเพิ่มหน่วยความจำในสมองได้โดยตรง แต่มันมีส่วนช่วยในทางอ้อม
กล่าวคือ เมื่อคนเราได้รับกลิ่นหอมที่ช่วงการนอนหลับ จะทำให้เราเข้าสู่ภาวะ “slow-wave sleep” นำไปสู่เฟสการ “นอนหลับลึก” ซึ่งถือเป็นช่วงที่ร่างกายได้พักผ่อนมากที่สุดของวงจรการนอนหลับ ทั้งนี้ การนอนหลับลึกมีความสำคัญในการเสริมสร้างความจำ การเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน การซ่อมแซมกระดูก เนื้อเยื่อ และสร้างเซลล์ใหม่ในร่างกาย
ดังนั้นนักวิจัยจึงสรุปได้ว่า กลิ่นน้ำมันหอมระเหยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนอนหลับให้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงการนอนหลับที่ผิดปกติในระดับที่ใกล้เคียงกับยานอนหลับ เมื่อคนเรานอนหลับลึกได้มากขึ้น ก็ส่งผลให้สมองทำงานได้ดีขึ้น จึงส่งเสริมความจำดีขึ้นตามไปด้วย
ในขณะเดียวกัน National Sleep Foundation ก็ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า กลิ่นจากน้ำมันหอมระเหย ส่งผลดีต่อระยะเวลาในการนอนหลับ รวมถึงคุณภาพและปริมาณการนอนหลับโดยรวม กลิ่นที่แตกต่างอาจช่วยให้นอนหลับดีขึ้น ไม่ตื่นกลางดึก ช่วยให้ผู้คนตื่นเช้าอย่างสดชื่น (เพราะได้พักผ่อนเต็มอิ่ม) หรือแม้แต่อาจมีอิทธิพลต่อความฝันและการสร้างความทรงจำระหว่างนอนหลับ
น้ำมันหอมระเหยจาก "ลาเวนเดอร์" ถูกนำมาศึกษาในเรื่องการนอนหลับมากที่สุด
สำหรับกลิ่นน้ำมันหอมระเหยจากพืชธรรมชาติที่ถูกนำมาศึกษาเรื่อง ปรับปรุงการนอนหลับมากที่สุด ก็คือ “ลาเวนเดอร์” แต่ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่ากลิ่นจากพืชอื่นๆ ก็ช่วยเรื่องการนอนหลับได้เช่นกัน ได้แก่ น้ำมันธรรมชาติจากดอกมะลิ กุหลาบ คาโมมายล์โรมัน และซีดาร์วู้ด เป็นต้น อีกทั้งน้ำมันหอมจากพืชเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพในการบรรเทาความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าได้ด้วย
สอดคล้องกับความเห็นของ “ศุภรัศม์ อินต๊ะวงศ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันหอมระเหยจากสตูดิโอ PilipiliCandles คลาสสอนทำน้ำหอม เทียนหอม และ Reed diffuser (ก้านไม้หอม) จากน้ำมันหอมระเหย ได้กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หากวัยทำงานมีอาการ “ตึงเครียดหรือนอนไม่หลับ” ก็แนะนำให้ลองหา Reed diffuser ที่ใช้น้ำมันหอมระเหย 4 ชนิดดังต่อไปนี้มาวางไว้ในห้องนอน ได้แก่ ลาเวนเดอร์, ซิตรัส (เปลือกเกรปฟรุต/เปลือกส้ม/เปลือกเลมอน), แซนดัลวู้ดหรือแก่นจันทน์, แพทชูลีหรือพิมเสนเทศ
โดยน้ำมันหอมระเหยจากซิตรัส มีสรรพคุณช่วยให้ผ่อนคลาย บรรเทาความเครียด ลดอาการปวดหัวและอ่อนเพลีย ในขณะที่ ลาเวนเดอร์ แซนดัลวู้ด และแพทชูลี มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับและไมเกรน
เปิดขั้นตอนการทำ Reed diffuser จากน้ำมันหอมระเหยด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ ศุภรัศม์ ยังได้แนะนำถึงวิธีการทำ Reed diffuser แบบโฮมเมดโดยเลือกปรุงกลิ่นที่ชอบได้ด้วยตัวเอง โดยสิ่งที่ต้องเตรียม ได้แก่ น้ำมันหอมระเหยกลิ่นที่ชอบ, ตัวทำละลายน้ำมัน (Diffuser Base), ถ้วยผสม, ขวดปากกว้าง, ก้านไม้อบแห้ง (ก้านหวายปอกเปลือกอบแห้ง ในเนื้อไม้จะมีรูพรุนเพื่อดูดน้ำหอมขึ้นมาแล้วกระจายกลิ่นหอมออกไป)
ส่วนวิธีทำก็เริ่มจากให้เลือกว่าเราต้องการให้กลิ่นน้ำมันหอมที่ช่วยบำบัดในเรื่องใด เช่น ต้องการความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ต้องการให้ช่วยผ่อนคลายความเครียดความวิตกกังวล หรือให้ช่วยเรื่องการนอนหลับ เป็นต้น จากนั้นให้เลือกกลิ่นที่มีคุณสมบัติตามต้องการ แล้วนำมาปรุงผสมรวมกัน ตามหลักวิทยาศาสตร์ของการให้กลิ่น ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
1. Top note เป็นกลิ่นที่กระจายออกมาโดดเด่นที่สุด
น้ำมันมีโมเลกุลเล็ก เจออากาศแล้วกระจายกลิ่นเร็ว ส่วนใหญ่เป็นกลิ่นผลไม้ เปลือกผลไม้ตระกูลส้ม และสมุนไพร เช่น เบอร์กามอต (ช่วยบูสเอเนอร์จี ลดความกังวล เพิ่มความสดชื่น), เกรปฟรุต (ลดความเครียด บรรเทาอาการปวดหัวและอ่อนเพลีย), ส้ม (ลดความกังวล ลดความตึงเครียดระบบประสาท), ยูคาลิปตัส (ช่วยให้หายใจโล่ง บรรเทาอาการปวดหัวและอ่อนเพลีย), ต้นสนไซเปรส (ช่วยคลายเครียด ลดความตึงเครียดระบบประสาท)
2. Middle note เป็นกลิ่นที่สามารถสัมผัสได้มากที่สุด
เป็นหัวใจหลักของกลิ่นน้ำหอม น้ำมันโมเลกุลขนาดกลาง เมื่อเจออากาศแล้วกระจายกลิ่นในระยะกลาง ส่วนใหญ่เป็นกลิ่นดอกไม้ ใบไม้ ใบชา เช่น ลาเวนเดอร์ (ช่วยให้นอนหลับ ลดอาการไมเกรน), ไวท์โรส (ลดความตึงเครียด คลายกังวล), เลสเซอร์ ดอกแพงพวยฝรั่ง (ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น คลายกังวล), ใบชา (ช่วยให้นอนหลับ คลายเครียด โฟกัสได้ดีขึ้น), พริก (ช่วยบูสเอเนอร์จี)
3. Base Note ช่วยเพิ่มความซับซ้อน นุ่มลึก ช่วยให้กลิ่นมีมิติมากขึ้น
น้ำมันโมเลกุลใหญ่ เจออากาศแล้วกระจายกลิ่นได้ช้า ส่วนใหญ่เป็นกลิ่น Seasalt แก่นไม้ และฟีโรโมนจากสัตว์ เช่น โอเชี่ยน (ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น), ซีดาร์วู้ด (ช่วยดับกลิ่น ปรับกลิ่นในห้องให้ดีขึ้น), โรสวู้ด (ขจัดความคับข้องใจ แก้อารมณ์หงุดหงิด), วานิลลา (ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น), กวางมัสก์ (เพิ่มความอิ่มเอมในกลิ่น กลมกล่อม นุ่มนวล)
ทั้งนี้ การปรุงกลิ่นน้ำมันหอมระเหยเพื่อปรับกลิ่นและบรรยากาศในห้องนั้น แนะนำให้มีกลิ่นทั้ง 3 ระดับ เพื่อให้ได้กลิ่นหอมที่มีความกลมกล่อมและมีมิติลงตัวมากขึ้น โดยเริ่มจากการเบลนน้ำมันหอมระเหย 3-4 กลิ่น และไม่ควรเกิน 7 กลิ่น จากนั้นให้ทดลองหยดกลิ่นที่ชอบ (กลิ่นละ 1 หยด) ผสมกันในถ้วยกระดาษก่อน ปรับจนได้กลิ่นที่ชอบ แล้วจดสูตรผสมนั้นไว้ จากนั้นให้นำน้ำมันหอมระเหยมาผสมกันให้ได้ 10 กรัม (คำนวณแต่ละกลิ่นโดยตั้งต้นด้วย 10 แล้วหารด้วยจำนวนหยดที่จดไว้) จากนั้นเอาส่วนผสมที่ปรุงแล้วไปเทใส่ในตัวทำละลายปริมาณ 250 มิลลิกรัม
อย่างไรก็ตาม หากไม่อยากทำเองให้ยุ่งยาก ก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายน้ำมันหอมระเหยพร้อมก้านปักทั่วไป เพียงแต่ให้เลือกกลิ่นที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ อย่างที่แนะนำไปข้างต้นว่า หากเป็นวัยทำงานที่มีความตึงเครียดหรือนอนไม่หลับ ก็ให้เน้นเลือกกลิ่นลาเวนเดอร์ ซิตรัส แซนดัลวู้ด หรือพิมเสนเป็นหลัก ก็จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านั้นได้