แสงสีฟ้าหน้าจออันตรายกว่าที่คิด นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึมเศร้า

แสงสีฟ้าหน้าจออันตรายกว่าที่คิด นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึมเศร้า

‘แสงสีฟ้า’ มีประโยชน์ แต่ถ้าได้รับผิดเวลาจะส่งผลกระทบต่อฮอร์โมน ทำให้นอนไม่หลับ การเต้นหัวใจผิดเพี้ยน เสี่ยงซึมเศร้า และอาจเร่งการเจริญพันธุ์ให้เข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วขึ้นผิดปกติ

KEY

POINTS

  • แสงสีฟ้ามีอยู่ในแสงอาทิตย์ตามธรรมชาติ มีประโยชน์ต่อร่างกายหากได้รับแสงในช่วงกลางวัน แต่ในทางกลับกัน หากได้รับตอนกลางคืนนานๆ โดยเฉพาะก่อนเข้านอน จะส่งผลกระทบต่อ "ฮอร์โมนเมลาโทนิน" 
  • เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่มีอิทธิพลต่อการนอนหลับและจังหวะการเต้นของหัวใจ ทำให้นอนไม่หลับ เชื่อมโยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า โรคเบาหวาน และโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้น
  • อีกทั้งยังมีงานวิจัยบางชิ้นชี้ว่า การรับแสงสีฟ้าจากสมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต อาจนำไปสู่การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้นผิดปกติของวัยเด็กได้ 

อย่างที่หลายคนรู้ว่า “แสงสีฟ้า” จากการเล่นมือถือก่อนนอน ทำให้มีปัญหานอนไม่หลับ แต่บางคนอาจยังไม่รู้ลึกลงไปว่าทำไมแสงสีฟ้าถึงเป็นภัยเงียบต่อสุขภาพอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากระทบการนอนแล้ว ยังส่งผลให้จังหวะการเต้นหัวใจผิดปกติ เสี่ยงโรคทางสุขภาพจิต และอาจผลกระทบต่อการพัฒนาทางสรีรวิทยาและการเจริญพันธุ์ที่ผิดปกติได้

รู้หรือไม่.. แสงสีฟ้ามีอยู่ในแสงอาทิตย์ตามธรรมชาติ และเป็นคลื่นแสงที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์หากได้รับแสงในช่วงกลางวัน โดยคลื่นแสงสีฟ้าจะไปกระตุ้นส่วนต่างๆ ของสมอง ทำให้เรารู้สึกตื่นตัว กระตุ้นการตอบสนองและอารมณ์ต่างๆ อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจของเราสูงขึ้นในระหว่างวัน แสงสีฟ้าสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพและความสนใจ ปรับจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นไปตามนาฬิกาชีวิภาพ และทำให้เรานอนหลับได้ดีขึ้นหลังพระอาทิตย์ตกดิน

แต่ในทางกลับกัน หากได้รับคลื่นแสงสีฟ้ามากเกินไปหลังพระอาทิตย์ตกดิน (มักจะมาจาก หลอดไฟ LED, สมาร์ทโฟน, โทรทัศน์, หน้าจอคอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, อุปกรณ์ E-Reader, คอนโซลวิดีโอเกม) ก็จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ ยิ่งหากได้รับแสงสีฟ้าในช่วงก่อนเข้านอน มันจะเข้าไปยับยั้งการปล่อย “ฮอร์โมนเมลาโทนิน” หรือฮอร์โมนที่ทำให้ง่วงนอน เมื่อฮอร์โมนตัวนี้ลดลง เราก็จะรู้สึกตื่นตัวในตอนกลางคืนจนนอนไม่หลับ 

“แสงสีฟ้า” ยั้บยั้งเมลาโทนินนานกว่าแสงสีเขียว 2 เท่า

นักวิจัยด้านการนอนหลับของ Harvard Medical School ชี้ว่า แสงทุกชนิดสามารถระงับการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินได้ แต่แสงสีฟ้าในตอนกลางคืนจะมีความรุนแรงกว่าแสงสีอื่นมาก โดยนักวิจัยได้ทำการทดลองเปรียบเทียบผลกระทบของการได้รับแสงสีฟ้าเป็นเวลา 6.5 ชั่วโมง เทียบกับการได้รับแสงสีเขียวที่มีความสว่างใกล้เคียงกัน ผลปรากฏว่า “แสงสีฟ้าเข้าไปยั้บยั้งฮอร์โมนเมลาโทนินได้นานกว่าแสงสีเขียวประมาณ 2 เท่า” และทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลงไปได้มากเป็น 2 เท่าเช่นกัน

สตีเฟน ล็อกเลย์ นักวิจัยด้านการนอนหลับของ Harvard กล่าวว่า การได้รับแสงสีฟ้าจะยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีอิทธิพลต่อการนอนหลับและจังหวะการเต้นของหัวใจ แม้แต่แสงสลัวก็สามารถรบกวนจังหวะการเต้นของหัวใจและการหลั่งเมลาโทนินของบุคคลได้ โดยความสว่างเพียง 8 ลักซ์ (ซึ่งสูงกว่าโคมไฟตั้งโต๊ะส่วนใหญ่) ก็มีผลกระทบแบบเดียวกัน เป็นสาเหตุที่ทำให้หลายๆ คนนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งเชื่อมโยงต่อความเสี่ยงการเกิดภาวะซึมเศร้า โรคเบาหวาน และปัญหาหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้น

มีคำอธิบายเพิ่มเติม คือ แสงสีฟ้าจะเข้าไปรบกวนนาฬิกาชีวิตหรือนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythms) ในร่างกาย โดยนาฬิกาชีวิตนั้นจะมีรอบเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง ตามเวลาปกติของโลก และสัมพันธ์กับช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ทีนี้ หากเราได้รับแสงสีฟ้าในช่วงกลางคืนนานๆ จะทำให้สมองตื่นตัว จนนอนไม่หลับ นอนดึก นอนน้อย จึงส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นหรือมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนั่นเอง 

แสงสีฟ้า เชื่อมโยงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดสั่นพลิ้ว และอาจส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ที่ผิดปกติ

ข้อมูลจาก Frontiers ระบุว่า การนอนน้อยส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) ได้มากกว่าปกติถึง 10% และเกิดภาวะหัวใจอ่อนกำลังมากกว่าปกติถึง 13% 

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่ถูกเผยแพร่จากสมาคม European Society for Pediatric Endocrinology เมื่อปีที่แล้ว พบว่า การได้รับแสงสีฟ้าจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้นผิดปกติ ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองกับหนูเท่านั้น (พบว่าหนูตัวผู้และหนูตัวเมียที่ได้รับแสงสีฟ้านานๆ เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้น และเกิดความเสียหายในเซลล์สืบพันธุ์)

ทีมวิจัยยังต้องศึกษาต่อเนื่องเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้เพื่อค้นหาคำตอบว่า วิถีชีวิตสมัยใหม่ส่งผลต่อการพัฒนาทางสรีรวิทยาและสุขภาพในระยะยาวอย่างไร นำไปสู่กลยุทธ์การป้องกันสวัสดิภาพของเด็กในอนาคต

เปิด 5 วิธีลดผลกระทบของแสงสีฟ้าจากหน้าจออุปกรณ์ต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากแสงสีฟ้าได้ โดยวิธีที่ง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ ปิดใช้งานหน้าจอต่างๆ ในยามกลางคืน หากมีความจำเป็นต้องใช้งานหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ควรสวมใส่แว่นตาที่ช่วยกรองแสงสีฟ้า แม้ว่าอาจไม่ได้ผลสำหรับทุกคน แต่การปิดกั้นแสงสีฟ้าด้วยแว่นตาที่ตัดจากเลนส์สีเหลืองอำพัน ก็สามารถลดผลกระทบนั้นลงได้บ้าง อีกทั้งยังมีคำแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้

1. ปิดใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งสมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต คอมพิวเตอร์ ทีวี 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

2. เปลี่ยนมาใช้โคมไฟแสงสีแดงหรือสีส้มแทน แสงสีแดงมีผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจและฮอร์โมนน้อยกว่าแสงสีฟ้า

3. หรี่ความสว่างของหน้าจอบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือตั้งค่าไปที่ “โหมดกลางคืน”  

4. ใช้แอปฯ ลดแสงหน้าจอมือถือ ช่วยกรองแสงสีฟ้า เช่น Blue Light Filter, Lower Brightness Screen Filter, Darker

5. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการนอน หากห้องนอนมีแสงรบกวนมากเกินไปให้ใช้ผ้าปิดตาขณะนอนหลับ