องค์กรใหญ่ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดในยุคดิจิทัล
ไม่ว่าองค์กรเล็กหรือใหญ่ก็ต้องเผชิญวิกฤติดิจิทัล
กระแสการมาของยุคดิจิทัลเปรียบเสมือนคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว บางองค์กรมองเห็นวิกฤติเป็นโอกาส วางแผนเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่บางองค์กรถูกคลื่นซัดพังเสียหายเพราะปรับตัวไม่ทัน
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ผู้ประกอบการธุรกิจจะอยู่อย่างไรให้รอดในขณะที่การถูก "Disrupt" จากเทคโนโลยีเกิดขึ้นอยู่ทุกขณะและเกิดได้กับแทบทุกวงการธุรกิจ
ไม่ว่าองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างก็ต้องเผชิญวิกฤติยุคดิจิทัลในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แต่ความแตกต่างของขนาดองค์กรก็ส่งผลต่อความรวดเร็วในการปรับตัว จากผลการสำรวจพบว่าองค์กรยักษ์ใหญ่ 500 อันดับแรกของโลก มีอายุเฉลี่ยน้อยลงจาก 60 ปี เหลือเพียง 15 ปี ซึ่งสาเหตุเกิดจากการขยับตัวที่ล่าช้าเนื่องจากมีกระบวนการที่เยอะและซับซ้อน
อีกทั้งองค์กรใหญ่มักขาดสิ่งที่เรียกว่า “Survival instinct” หรือสัญชาติญาณความต้องการเอาตัวรอดอย่างที่บริษัทขนาดเล็กมี เนื่องจากมีรายได้ที่ค่อนข้างคงตัว มีชื่อเสียงที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้มองไม่เห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง เพราะมองว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นดีเพียงพออยู่แล้ว ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อธุรกิจในยุคดิจิทัล
กล่าวได้ว่า "Change or Die" ไม่เปลี่ยนคุณก็ไม่รอด แนวทางการเอาตัวรอดสำหรับองค์กรขนาดใหญ่จึงหนีไม่พ้นต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล ซึ่งควรคำนึงถึง 4 องค์ประกอบต่อไปนี้ 1.จุดแข็งขององค์กร โดยองค์กรใหญ่ที่มีชื่อเสียงและอยู่มานานย่อมมีบางอย่างที่เป็นจุดแข็ง การต่อยอดจุดแข็งนั้นและเสริมสร้างความเป็นเอกลักษณ์(Unique) ให้แก่แบรนด์จึงยังคงเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย
2.วิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร วิสัยทัศน์ที่ผู้นำยุคนี้ควรมีคือสนใจเรียนรู้และกล้าลองเสี่ยงกับสิ่งใหม่ๆ ยอมรับความผิดพลาดได้และไม่ยึดติดกับความคิดเดิมของตนเองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ ความเก่งอย่างเดียวไม่เป็นตัวการันตีความสำเร็จในยุคนี้ แต่ต้องเป็นคนที่เข้าใจวิธีในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ด้วย
3.การหาพันธมิตร การปรับตัวโดยเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะต้องใช้เงินลงทุนและรับความเสี่ยงสูง มีองค์กรใหญ่หลายแห่งทั่วโลกที่ตัดสินใจใช้วิธีนี้แล้วล้มครืนลงทันที ดังนั้นการหาพันธมิตรเข้ามาช่วยโดยหาองค์กรขนาดเล็กที่ทันสมัยและมีรูปแบบธุรกิจใกล้เคียงกัน หรือองค์กรที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะมาช่วยส่งเสริมธุรกิจของคุณก็ถือเป็นวิธีหนึ่งในการปรับตัว
4.การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาปรับใช้ ก่อนจะนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาใช้ต้องมีความเข้าใจและรู้ว่าจะนำเทคโนโลยีอะไรมาเพื่อพัฒนาสิ่งใดในองค์กร เพื่อให้สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมและตรงเป้าหมาย
ในวันหนึ่งเมื่อเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากจนเป็นเรื่องปกติ เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยทำงานแทนเราในหลายๆด้าน จนทำให้สินค้าและบริการที่สร้างโดยเครื่องจักรมีราคาต่ำลง ในขณะที่แรงงานมนุษย์จะกลายเป็นจุดขายระดับพรีเมียมที่ผู้บริโภคในยุคนั้นโหยหามากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ในอนาคตอาหารทั้งหมดจะถูกปรุงขึ้นโดยเชฟที่เป็นหุ่นยนต์ แต่หากลูกค้าต้องการลิ้มรสอาหารจากเชฟระดับโลกที่เป็นมนุษย์ ก็ให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจมีราคาสูงกว่า เมื่อถึงเวลานั้นการปรับตัวขององค์กรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่คงต้องเกิดขึ้นอีกครั้ง
โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หน้าที่ของเราคือต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ลองคิดดูว่าบริษัททุกวันนี้หากไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานคงถือเป็นเรื่องแปลก ต่างจากเมื่อ 30 ปีก่อนที่ดูเป็นเรื่องปกติ
ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องหา "สิ่งปกติ" ของผู้บริโภคในยุคนั้นๆ ให้พบแล้วตามให้ทันหรือพัฒนาต่อยอดไอเดียใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการผู้บริโภค ผมคิดว่าคำพูดของชาร์ลส์ ดาร์วินที่มีมานานยังคงทรงพลังอยู่ นั่นคือ “ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงหรือฉลาดที่สุดจะอยู่รอดแต่เป็นผู้ที่รู้จักปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงต่างหากที่จะยืนหยัดอยู่ได้”