พีระพันธุ์ สั่งผู้ว่าฯกฟผ. ด่วนที่สุด เบรกจ้างเหมา-ขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะ
"พีระพันธุ์" สั่งผู้ว่าฯ กฟผ. ด่วนที่สุด! เบรกโครงการจ้างเหมา-ขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะ วงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท ตามข้อเสนอ "พลโท ดร.เจียรนัย" บอร์ดกฟผ.
รายงานข่าวระบุว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เรื่อง การจัดซื้อจัดจ้าง งานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1
โดยสิ่งที่ส่งมาด้วย คือ 1. สำเนาหนังสือ พลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สอาด ลงวันที่ 12 พ.ย. 2567 และ 2. สำเนาหนังสืออุทธรณ์ของบริษัท อิตาเลียน ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 15 พ.ย. 2567
ด้วย พลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีหนังสือที่แนบมา 1 แจ้งว่า ได้คัดค้านการอนุมัติผลการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด- ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 โดยวิธีพิเศษ ในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท ในการประชุมกลั่นกรองของคณะกรรมการบริหาร กฟผ. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ความละเอียดตามสำเนาหนังสือที่แนบมา 1 ต่อมา บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) มีหนังสือที่แนบมา 2 ขออุทธรณ์และขอความเป็นธรรมจากการพิจารณาผู้ชนะการประกวดราคางานจ้างเหมาขุด-ขนดิน และถ่าน ที่เหมืองแม่เมาะ 2 รายการ โดยวิธีพิเศษงาน หจจชสพ. 33/2567 ความละเอียดในหนังสือที่แนบมา 2 ซึ่งสมควรได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวกี่ยวโดยด่วน
จึงขอให้ท่านระงับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะไว้จนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น
สำหรับ พลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สอาด ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการ (บอร์ด) กฟผ. อดีตเคยเป็นประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2563 ตามการเสนอของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในยุครัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชน ซึ่งมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรม และเร่งรัดการปฏิบัติราชการในขณะนั้น และยังเคยเป็นแกนนำ ตท.29 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิสำนักปลัดกลาโหม
ทั้งนี้ ครม. วันที่ 20 ก.พ. 2567 ได้อนุมัติ 10 รายชื่อบอร์ดกฟผ.ชุดใหม่ ภายหลังมีการเปิดรับสมัครตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ ที่มี นายประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีมติคัดเลือกบอร์ดกฟผ. จำนวน 10 คน ประกอบด้วย
1. นายประเสริฐ สินสุขประเสิริฐ ประธานกรรมการ
2. รองศาสตราจารย์กุลยศ อุดมวงศ์เสรี กรรมการ
3. พลโท เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการ
4. รองศาสตราจารย์ฐากูร ศิริยุทธ์วัฒนา กรรมการ
5. นางสาวนิรมาณ ไหลสาธิต กรรมการ
6. นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ กรรมการ
7. นายพรพจน์ เพ็ญพาส กรรมการ
8. ศาสตราจารย์พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการ
9. นายวรากร พรหโมบล กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงพลังงาน)
10. นายอัครุตม์ สนธยานนท์ กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)
โดยจบปริญญาตรี วทบ. (โยธา) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 40
ปริญญาโท วิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ปริญญาเอก รีโมทเซนซิ่งและเอริทซายน์ มหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา
นายทหารประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, ประธานกรรมการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ที่ปรึกษาธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
อนุกรรมการกลั่นกรองโครงการและงบประมาณ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ กสทช.
อนุกรรมการบริหารความเสี่ยง สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบอร์ด ธอส. ฯลฯ
ประสบการณ์ อาทิ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, กรรมการเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศแห่งชาติ, กรรมการบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, ยุติธรรม, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และที่ปรึกษาคดีพิเศษ ดีเอสไอ
อาจารย์กองวิชาคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า บังคับหมวดทหารม้า กองร้อยทหารม้ารักษาพระองค์ที่ 2 กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์