ร่าง พ.ร.บ.การจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. ....มีอะไรบ้างที่ควรต้องปรับปรุง (ตอน2)

ในตอนที่ 2 นี้ เราจะพูดถึงผลกระทบต่อแหล่งน้ำ ดิน และอากาศ และสิ่งอื่นๆที่นอกเหนือจากคน รวมทั้งมาตรการฟื้นฟูระบบทั้งหมด
หากพิจารณาเฉพาะ พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมนี้ มลพิษก็ไม่ใช่มีแค่ในแหล่งน้ำ
ในช่วงต้นของร่าง พ.ร.บ.กากฯ ฉบับนี้ ได้กำหนดสภาพปัญหาไว้ให้ครอบคลุมเพียงการรั่วไหลของสารพิษลงสู่ชุมชนและแหล่งน้ำเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ของเสียจากกากอุตสาหกรรมสามารถถูกระบายลงดินและสู่อากาศด้วย รัฐจึงควรกำหนดใน พ.ร.บ.ให้ครอบคลุมปัญหาให้ได้ทั้งหมด ทั้งในดิน น้ำและอากาศ
มิฉะนั้น วิธีการที่ทำขึ้นก็จะแก้ไขปัญหาในแหล่งน้ำได้เพียงส่วนเดียว ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมดจะไม่ได้รับการแก้ไขจนลุล่วงไปได้จริง หรือซ้ำร้ายไปกว่านั้น อาจเกิดช่องโหว่ทางกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถเอาผิดหรือจัดการกับกรณีปัญหาการปนเปื้อนลงดินหรือสู่อากาศได้
๐ เยียวยาอย่างเดียวไม่พอ ต้องฟื้นฟูด้วย
ในส่วนที่พูดถึง "สภาพปัญหา" ในร่าง พ.ร.บ.กากฯ นี้ ได้พูดถึงเฉพาะเรื่องของการเยียวยาอันหมายถึงการแก้ไขปัญหาเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุม มาตรการที่ถูกต้องคือนอกจากการเยียวยาแล้วยังต้องรวมถึงการฟื้นฟูทั้งหมดด้วย หมายถึงต้องทำทุกวิถีทางที่จะทำให้สภาพการณ์กลับมาเหมือนเดิม ทั้งด้านระบบสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ระบบชุมชน ระบบสุขภาพ ระบบเศรษฐกิจของผู้ได้รับผลกระทบ
๐ ผลกระทบไม่ได้มีต่อคนเท่านั้น มีมากกว่านั้นมาก
มีข้อสังเกตว่า เมื่อเราพูดถึงผู้ได้รับผลกระทบเรามักหมายถึงเพียงแค่มนุษย์หรือคน แต่ในระดับสากลได้มีกฎหมายออกมาเป็นรูปธรรมแล้วว่า สิ่งแวดล้อมก็สามารถเป็นผู้เสียหายได้ และสามารถที่จะเรียกร้องความเสียหายนั้นได้ด้วย
โดยกลุ่มคนหรือคนสามารถเป็นตัวแทนของสิ่งแวดล้อม ฟ้องร้องเรียกความเสียหายจากผู้ก่อให้เกิดปัญหา หรือแม้กระทั่งภาคราชการและ/หรือรัฐบาลได้
จึงอยากเสนอให้ กอ.และ กรอ.สังวรและตระหนักรู้ถึงแนวโน้มนี้ของโลก โดยคิดการใหญ่และพิจารณาประเด็นใหม่ตามสากลโลกนี้ไปพร้อมๆกันกับการปรับปรุงพ.ร.บ.ของกรอ.ครั้งต่อๆไปแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ทันกาลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน
และก็เช่นกัน ประเด็นที่มีคนกังวล เกรงว่าการออกกฎหมายมลพิษอุตสาหกรรมในลักษณะภาพใหญ่เช่นนี้จะยิ่งล่าช้า ไม่ทันการ เราจะขอกลับมาอธิบายเหตุผลของเราในเรื่องนี้อีกครั้งในตอนท้าย
๐ กากอุตสาหกรรมมีมากกว่า e-wastes
หากเราจะยังไม่มองไปไกลๆ แต่จะพิจารณาเพียงร่าง พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมของกรอ.ที่มีอยู่ในขณะนี้ก่อนในระยะสั้นๆหรือระหว่างกาล (interim) เราก็มีข้อคิดเห็นว่าร่างพ.ร.บ.กากฯฉบับนี้กินความแคบไป โดยไปเน้นแต่เฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์และซากรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว ในขณะที่คำว่ากากอุตสาหกรรมนั้นกินความมากกว่านั้นมาก เช่น รวมไปถึงกากที่เกิดจากระบบบำบัดน้ำเสียที่มีโลหะหนัก หรือกากแบตเตอรี่ เป็นต้น
การกำหนดนิยามกากอุตสาหกรรมไว้เพียงแค่ที่เขียนไว้เดิมนั้น จึงไม่สะท้อนถึงปัญหาที่มีอยู่ ได้จริง ทำให้การแก้ปัญหาทั้งหมดเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวของปัญหา
และทำให้การแก้ไขกากมลพิษอุตสาหกรรมทั้งหมดเป็นผลสัมฤทธิ์อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ได้จริง ไม่ได้ เราจึงขอเสนอให้ปรับปรุงร่างฯนี้เสียใหม่เพื่อให้ครอบคลุมกากทั้งหมด มิฉะนั้นจะต้องมาออกพ.ร.บ.ฉบับอื่นๆ ตามมาอีก ก็จะยิ่งเสียเวลามากไปกว่าเดิม
๐ อปท.รับผิดชอบกากอุตสาหกรรมไม่ได้
เรื่องที่สำคัญมาก คือในร่าง พ.ร.บ.นี้บอกว่า ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีสถานที่รวบรวมและกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายเป็นของตัวเอง อปท.ก็ไม่จำเป็นต้องมาขออนุญาตจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกำหนดให้ อปท.เพียงแจ้งให้ กรอ.ทราบเท่านั้น
ตรงนี้มีข้อที่ต้องพึงสังวรไว้อย่างมาก เพราะ อปท.มีหลายขนาด หลายระดับความสามารถ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 มีความรู้และความชำนาญรวมทั้งทักษะทางเทคนิคไม่พอที่จะจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อนนี้ได้เลยแม้แต่น้อย
การโยนปัญหาที่ยากนี้ไปให้อปท. น่าจะทำให้เกิดปัญหาทวีคูณมากขึ้นไปกว่าเดิม เพราะจะไม่มีหน่วยงานที่มีศักยภาพพอมาคอยเฝ้ากำกับดูแลการทำงานของอปท. และจัดการให้ไม่เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจได้
๐ ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบซากรถยนต์ไม่ใช้แล้ว
ในร่างพ.ร.บ.กากฯ ฉบับนี้บอกว่า ผู้ก่อกำเนิดรถยนต์ซึ่งน่าจะหมายถึงผู้ผลิตรถยนต์ออกมาจำหน่าย ต้องเป็นผู้รับผิดชอบซากรถยนต์ที่ทิ้งสะเปะสะปะทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นที่เอกชน ที่สาธารณะ ที่รกร้างว่างเปล่าก็ตาม คำถามที่ต้องร่วมกันพิจารณาคือภาระและภารกิจนี้ควรเป็นของเจ้าของรถผู้เอาซากรถยนต์ไปทิ้ง หรือของผู้ผลิตรถยนต์ คำถามนี้ต้องถกกันให้ตกผลึกก่อนมิฉะนั้นจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้อย่างมาก
(ในตอนที่ 3 เราจะพูดถึงขยะอุตสาหกรรมที่มาปะปนกับขยะชุมชน และความยากลำบากในการออกกฎหมายของไทย)
หมายเหตุจากกองบรรณาธิการ...กรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องประกอบการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ....ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย และเว็บไซต์ กรอ. ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม-1 เมษายน 2568 ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปสามารถศึกษาข้อมูล และส่งความคิดเห็นได้ผ่านทางสองช่องทางดังกล่าว