ร่างพ.ร.บ.การจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. ....มีอะไรบ้างที่ต้องปรับปรุง (ตอน ๑)

กรอ.เห็นถึงความรุนแรงของปัญหามลพิษอุตสาหกรรม ได้ยกร่างพ.ร.บ.การจัดการกากอุตสาหกรรม และเปิดให้บุคคลทั่วไปแสดงความคิดเห็นจนถึงวันที่ 1 เม.ย.นี้
ที่มาที่ไปของปัญหา
เมื่อหลายปีมานี้ได้มีเหตุการณ์น่าเศร้าจากการที่มีอุบัติเหตุในโรงงาน หรือผู้ประกอบการบางคนปล่อยของเสียอุตสาหกรรมลงไปทำร้ายทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างไม่พึงให้อภัย
เช่น การลักลอบขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสีที่เป็นสารอันตรายออกนอกพื้นที่ การระเบิดที่โรงงานผลิตน้ำแข็งจนปล่อยแก๊สพิษออกมา
กรณีเพลิงไหม้โรงงานเก็บสารเคมีที่ระยอง กรณีสารเคมีรั่วไหลจากถังเก็บในโรงงานย่านพระราม 2 ฯลฯ รวมแล้วมากกว่า 7 ครั้ง ในปีพ.ศ. 2567 เพียงปีเดียว
น้ำเสียชุมชน vs น้ำเสียอุตสาหกรรม
น้ำเสียชุมชนประกอบด้วยสารอินทรีย์ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เศษอาหาร น้ำมัน ไขมัน ที่อย่างมากก็เพียงทำให้น้ำเน่าเหม็น แต่น้ำเสียอุตสาหกรรมมีได้ทั้งสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบและกระบวนการผลิตบางอุตสาหกรรมมีแต่สารอินทรีย์ที่ย่อยง่ายแบบน้ำเสียชุมชน จึงมีโทษไม่แตกต่างกันนัก
แต่บางอุตสาหกรรมมีสารอินทรีย์ที่ย่อยยากและเป็นพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง ยารักษาโรค โพลีเมอร์พลาสติก บางอุตสาหกรรมมีสารอนินทรีย์ที่ส่วนใหญ่เป็นพิษ เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม สารมลพิษพวกนี้จะคงค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นหลายสิบปี
การที่จะดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงต้องเพ่งไปที่น้ำเสียอุตสาหกรรมมากกว่าน้ำเสียชุมชน และนี่คือสิ่งที่จะนำมาพิจารณากันโดยละเอียดในบทความนี้
กรอ.เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่างพระราชบัญญัติจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ.
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เล็งเห็นถึงความรุนแรงของปัญหามลพิษอุตสาหกรรมมานานพอสมควร และได้เริ่มหามาตรการมาแก้ปัญหานี้ โดยเร็วๆนี้ได้ร่างกฎหมายขึ้นมา 1 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การจัดการกากอุตสาหกรรม
และขณะนี้ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปแสดงความคิดเห็นต่อร่างฯนี้จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2568 ผู้สนใจอาจเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ที่ เว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย
ส่วนผู้เขียนทั้งสองคนในฐานะนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสนใจปัญหาสังคมไปพร้อมกัน อยากจะให้ความคิดเห็นของตัวเองในภาคต่อยอดแก่สาธารณชนไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย เพราะเรามองปัญหามลพิษอุตสาหกรรมนี้กว้างไกลกว่าเพียงแค่พ.ร.บ.กากฯฉบับนี้เท่านั้น
ของเสียอุตสาหกรรมมีมากกว่ากากอุตสาหกรรม
สิ่งแรกที่อยากจะพูดถึง คือ อยากขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม(กอ.) และกรอ.มองภาพให้ใหญ่และกว้างกว่าเพียงแค่กากอุตสาหกรรมตามชื่อร่าง พ.ร.บ.นี้
เหตุผลคือคำว่า'กาก'นั้นหมายถึงเฉพาะส่วนที่เป็นของแข็ง ขณะที่ของเสียอุตสาหกรรม (industrial wastes) นั้นมีสารมลพิษทั้งที่อยู่ในรูปของของเหลว
เช่น สารอินทรีย์ที่ทำให้เน่า สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย( Volatile Organic Compounds: VOCs) สารอนินทรีย์ โลหะหนัก วัตถุอันตราย รวมทั้งสารพิษอื่นๆ และส่วนที่อยู่ในรูปแก๊สหรือสารมลพิษอากาศ เช่น VOCs, PM2.5, Carbon Dioxide, Ozone, เบนซีน โลหะหนัก และอื่นๆ
ดังนั้น พ.ร.บ.ที่จะออกมาจึงควรใช้บังคับกับทุกประเภทของของเสียอุตสาหกรรมทั้งหมด มิใช่เพียงกากอุตสาหกรรมที่เป็นของแข็งเท่านั้น
มิฉะนั้นก็ต้องออกกฎหมายบังคับแยกเป็นกากของแข็ง ของเหลว และแก๊ส ซึ่งบ่อยครั้งที่จะมีปะปนออกมาในทั้ง 3 สถานะ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดช่องโหว่และใช้จัดการกับปัญหาจริงไม่ได้
แน่นอน ที่จะมีคนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เหตุผลน่าจะเป็นว่าจะใช้เวลานานมากเกิน กว่าจะได้เป็นกฎหมายออกมา ซึ่งเราจะขอกลับมาพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้งในช่วงหลังของบทความนี้
ผลกระทบไม่มีเพียงแค่น้ำเน่า น้ำกินไม่ได้
ปัญหาจากทั้งกากและของเสียอุตสาหกรรมสามารถมีผลกระทบต่อไม่ใช่เฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อมแต่เพียงอย่างเดียว ทว่าสามารถมีไปได้ถึงระบบสังคมและเศรษฐกิจด้วย ในร่างพ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมฉบับนี้ได้ให้คำจำกัดความของผู้ได้รับผลกระทบ โดยหมายถึงเพียงแค่คนหรือสุขภาพของคนเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริงผลกระทบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนอย่างเดียว สรรพสัตว์ทั้งหลายหรือแม้กระทั่งจุลินทรีย์ในดินในน้ำที่เป็นหน่วยสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งระบบนิเวศ ตลอดจนระบบสิ่งแวดล้อมก็ได้รับผลกระทบและเสียหายด้วยเช่นกัน
ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ
นอกจากนั้น หากเกิดอุบัติเหตุโรงงานหรือมีโรงงานหนึ่งๆ ปล่อยของเสียที่เป็นพิษออกมา จนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง แล้วไปทำให้ประชาชนโดยรอบต้องเจ็บป่วย ทั้งแบบปัจจุบันทันด่วน
เช่น ระบบหายใจเสียหาย ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ทำงานไม่ได้ และแบบที่มีผลสะสมในระยะยาว เช่น เป็นมะเร็งหรืออื่นๆ อันล้วนทำให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลรักษา
หรือเกิดการปนเปื้อนของเสียอุตสาหกรรมสู่ดินและแหล่งน้ำ ทำให้เกษตรกรสูญเสียความสามารถในการเพาะปลูกและ/หรือเกิดการปนเปื้อนในผลผลิตการเกษตร ทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสภาพเศรษฐกิจของเกษตรกรได้อย่างมาก
ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือทำให้ประกอบอาชีพไม่ได้หรือได้ไม่ปกติเหมือนเดิม โดยเฉพาะหากบุคคลผู้นั้นเป็นกำลังหลักในการนำรายได้มาสู่ครอบครัว
สมาชิกทุกคนในครอบครัวนั้นก็จะตกทุกข์ได้ยากลำบากไปด้วย ทั้งที่เขาเหล่านั้นไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด
สิ่งเหล่านี้นี้คือผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่อาจตามมาจากการปล่อยของเสียอุตสาหกรรมลงสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งภาครัฐและรัฐบาลจึงควรปรับวิธีคิดและมองให้เห็นภาพใหญ่เช่นที่กล่าวมาข้างต้น และกำหนดคำนิยามให้ครอบคลุมผลกระทบดังกล่าวให้ครบถ้วน จึงจะเป็นการสมควรและยุติธรรมต่อทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม
(ในตอน ๒ เราจะพูดถึงผลกระทบในแง่มุมต่างๆที่ยังไม่ได้คำนึงถึงกันมาก่อน)
เอกสารอ้างอิง :- https://www.tcc.or.th/chemical-spill-67/