เปิดเส้นทาง 'กากแคดเมียม' จุดอ่อนกำกับดูแลขยะอุตสาหกรรม
เปิดเส้นทางกากขอขนย้าย “กากแคดเมียม” จากสารอันตรายที่สามารถสร้างมูลค่าให้ทุนสีเทา บ่งชี้ถึงจุดอ่อนในการกำกับดูแลขยะอุตสาหกรรมของภาครัฐ
จากการตรวจพบสารพิษแคดเมียมที่ชลบุรีเมื่อช่วงต้นเดือนเม.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยมีต้นทางมาจากเหมืองของ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ พีดีไอ ใน อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวน 1,300 ไร่ แบ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน 200 ไร่ และอีกประมาณ 1,000 ไร่ เป็นพื้นที่ฝังกลบกากอุตสาหกรรม ที่เหลือจากการหลอมเหล็ก โดยในพื้นที่ 1,000 ไร่ มีบ่อเก็บกากแร่ 10 บ่อ ยังไม่รวมบ่อเก็บกากแคดเมียมที่ระบุไว้ในเอกสารอีก 8 บ่อ
อย่างไรก็ตาม “ผาแดงอินดัสทรี” ได้แจ้งยกเลิกปิดการทำเหมืองแม่สอด ในปี 2559 ต่อมาในปี 2560 “พีดีไอ” ได้ประมูลซื้อกิจการโรงฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในบริษัท ซิมไบโอร์ อีเลอเม้นท์ ลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม กำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ ต่อมา ปี 2563 บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด หรือ BAFS เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ พีดีไอ อีกทั้ง ปี 2564 พีดีไอ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด หรือ BEYOND
ทั้งนี้ ในช่วง ปี 2560 พีดีไอ ได้ยื่นคำขออนุญาตขนย้ายสิ่งปฏิกูล กากสังกะสีและแคดเมียม ผ่านระบบออนไลน์ โดยระบุว่า ต้องการขนย้ายสิ่งปฏิกูล กากสังกะสีและแคดเมียม จำนวน 3 ครั้ง ครั้งละ 5,000 ตัน รวมทั้งหมด 15,000 ตัน ของบ่อเก็บกากแคดเมียม ที่ 4 และ 5
โดยระบุปลายทางว่า เป็นประเภทโรงงาน 106 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือการนำของเสียจากโรงงาน รวมถึงวัตถุอันตรายมาผลิตเป็นวัตถุดิบ หรือ รีไซเคิล) และประเภท 60 โรงงานผลิต ตบแต่ง ดัดแปลง หรือซ่อมแซมเครื่องมือ หรือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็กหรือ เหล็กกล้า หรือ ถลุงเหล็ก) ใน จ.สมุทรสาคร
รวมทั้งเดือน ก.ค.ปี 2566 บริษัทเจ้าของกิจการเหมืองได้ขนย้ายกากแคดเมียม กากสังกะสี ออกจากโรงงานเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ ที่โรงงาน บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ประกอบกิจการหลอมหล่ออลูมิเนียมแท่ง อลูมิเนียมเม็ดจากเศษอลูมิเนียม และตะกรันอลูมิเนียม (SCRAP AND DROSS) และได้เริ่มขนย้ายกากที่บรรจุในถุงบิ๊กแบค ตั้งแต่เดือน ส.ค.2566 รวมประมาณ 13,450 ตัน จากใบอนุญาตขนย้ายเมื่อ ปี 2560 จำนวน 15,000 ใบ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กากแคดเมียมที่ถูกพบปริมาณรวม 12,421.11 ตัน ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี และ กทม. ประกอบด้วย
1. บริษัท J&B (โรงงานประเภท 106/60) สมุทรสาคร ตรวจพบ 6,151 ตัน
2. บริษัท J&B (โรงงานประเภท 60) สมุทรสาคร ตรวจพบ 227 ตัน
3. โกดังตำบลคลองกิ่ว ชลบุรี ตรวจพบ 4,391.11 ตัน
4. บริษัท ซินหงส์เฉิง สมุทรสาคร ตรวจพบ 1,034 ตัน
5. โกดังคลองมะเดื่อ สมุทรสาคร ตรวจพบ 468 ตัน
6. บริษัท ล้อโลหะไทยฯ แถวบางซื่อ กรุงเทพ ตรวจพบ 150 ตัน
ดังนั้น ยังเหลือกากพิษแคดเมียมอีกประมาณ 1,000 ตัน ที่ยังไม่พบ
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานแก้ไขปัญหาและการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้รายงานผลการประชุมคณะทำงานฯ
ทั้งนี้สรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวข้องกับแคดเมียมทั้งหมด ตั้งแต่ความเป็นมาของเหมืองแร่และโรงถลุง ข้อมูลการพบกากตะกอนแคดเมียม ข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนของแผนการบริหารจัดการขนย้ายกลับโรงงานตาก และปิดบ่อฝังกลบกากแคดเมียมนั้น ภาพรวมมีความครอบคลุมขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วน ซึ่งที่ประชุมมีมติในประเด็นสำคัญ คือ การปรับปรุงบ่อกักเก็บกากแคดเมียมเพื่อเตรียมนำกากกลับไปฝังกลบ กำหนดให้ใช้การฉาบพื้นผิวบ่อใหม่ทั้งหมดซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนในพื้นที่
โดยจะเร่งขนกากตะกอนแคดเมียมที่กระจายอยู่ที่พื้นที่ต่างๆ ทั้งสมุทรสาคร ชลบุรี และ กรุงเทพมหานคร มาเก็บที่โรงเก็บแร่ที่จังหวัดตากก่อน เพราะต้องปรับปรุงโรงเก็บแร่ไม่ให้มีน้ำเข้ามาได้ และทำการปูวัสดุรองพื้นเพื่อป้องกันการรั่วซึม ก่อนจะขนแคดเมียมมารอเพื่อนำลงในบ่อกักเก็บกากแร่ต่อไป
สำหรับรถที่จะใช้ในการขนส่งและวิธีการขนกากตะกอนแคดเมียมนั้น ที่ประชุมเสนอว่าให้ใช้แบบ hybrid คือ ทั้งการใช้รถบรรทุกที่มีการขนกากโดยการใช้วัสดุห่อปิดปกคลุมมา กับการใช้ตู้ container ร่วมกันในการขน และจัเริ่มขนกากได้ปลายเดือนเม.ย.นี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการซื้อขายกากพิษแคดเมียมของ บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ได้ทำสัญญาซื้อขาย โดยผ่านนายหน้าทำสัญญาซื้อขาย กับ บริษัท อิฟง จำกัด ที่ ต.คลองกิ่ว อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยมีใบอนุญาตหล่อหลอมพลาสติก รวมกัน 6 ใบ และคัดแยกของเสียไม่อันตราย
“กากแคดเมียมตรวจพบได้ถูกย้ายมาจาก จ.ตาก ตั้งแต่ปี 2566-เม.ย.2567 มีเหตุให้คาดการณ์ได้ว่าเกิดจากผลประโยชน์ในการลงทุนบนพื้นที่ฝังกลบโครงการและนำแคดเมียมมาเพิ่มมูลค่าเพิ่ม”
แหล่งข่าว กล่าวว่า แผนในการพัฒนาพื้นที่จะต้องนำของเสียอันตรายและปนเปื้อนออกให้หมดจนต้องมีแผนขุด และขนย้ายออกมานี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเกี่ยวกับผลประโยชน์สอดคล้องกับนโยบายรีไซเคิลกากของเสียนำมาใช้ให้เกิดความคุ้มค่า โดยกากแคดเมียมสามารถเอาไปแยกและหลอมเป็นแท่งแคดเมียมได้ แต่ต้องเป็นเตาคิวโพล่า และมีระบบป้องกันอันตรายจากไอระเหย โดยนำไปใช้ได้หลายอย่าง ทั้งตัวเร่งปฏิกิริยา สารเคลือบ และแบตเตอรี่
“แคดเมียมถือเป็นสารอันตราย แต่ข้าราชการระดับสูงกลับบอกว่าสื่อตีข่าวใหญ่จนเกินไป ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ถูกต้อง ทำไมไม่นึกถึงความฟปลอดภัยของประชาชนเลย แสดงว่าที่ผ่านมามีการกระทำในลักษณะนี้มามากแล้วหรือไม่” แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนี้ จะต้องมาดูในเรื่องของขั้นตอนการขออนุญาตขนย้าย ซึ่งขณะนี้รมต.อุตสาหกรรม ได้สั่งย้ายอุตสาหกรรมจังหวัดตากเข้ามาช่วยราชการตั้งแต่ช่วงแรกที่เจอแคดเมียม
อีกทั้ง ยังตั้งคณะทำงานตรวจสอบติดตามเพิ่มเติมจากคณะทำงานเดิมที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม แต่งตั้งขึ้น เพื่อให้มีบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมตรวจสอบเพื่อความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และกระทบต่อชีวิตประชาชน
แหล่งข่าว กล่าวว่า ทางเอกชนที่ขอขนย้ายและโรงหลอมต่างยืนยันว่าขั้นตอนที่ดำเนินการถูกต้อง แต่ตามกฎหมายถือเป็นสารอันตรายที่ไม่ควรขุดขึ้นมา แต่ด้วยประเทศไทยมีกฎหมายที่เอื้อโดยการอ้างมาตรการ EIA หรือ การประเมิณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมักไม่มีมาตรการติดตามการดำเนินการตามจริง ส่งผลให้ EIA ไม่มีมาตรการบทลงโทษที่ร้ายแรง ทำให้การอนุมัติย้ายกากกลับทำได้ง่ายด้วยผ่านแค่อุตสาหกรรมจังหวัดเท่านั้น
“ตอนนี้กระทรวงอุตสาหกรรมต้องทำอย่างอย่างเข้มข้น แต่ในช่วงที่ผ่านมาข้าราชการระดับสูงอาจจะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่ และไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพราะอาจจะเห็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง จึงอาจจะรอนโยบายแต่เรื่องนี้ไม่ว่าใครจะมาบริหารก็ควรที่จะเร่งดำเนินการ ไม่ใช่ปล่อยให้ผลกระทบกระจายวงกว้างแบบนี้ จึงมองว่าเรื่องนี้จะยังคงต้องสืบสวนอีกนาน เพราะต่างก็อ้างว่ามีการขออนุญาตถูกต้องหมด"
ดังนั้น จึงต้องมาดูว่าการออกเอกสารนั้นมีความชอบธรรมหรือไม่ และการขนย้ายไม่ไปที่ปลายทางแต่กระจายไปหลายพื้นที่ อีกทั้งแคดเมียมที่ยังไม่พบนั้น ไม่แน่ใจว่ามีการหลอมแล้วหรือส่งออกไปต่างประเทศแล้วหรือไม่