ร่างพ.ร.บ.การจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. ....มีอะไรบ้างที่ควรต้องปรับปรุง (ตอนที่ ๓)

ร่างพ.ร.บ.การจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. ....มีอะไรบ้างที่ควรต้องปรับปรุง (ตอนที่ ๓)

ในตอนนี้ เราจะพูดถึงภาวะการณ์ที่ขยะอุตสาหกรรมไปปนเปื้อนกับขยะชุมชน จะจัดการอย่างไร และวิธีคิดในการออกกฎหมายแบบใหม่ ให้ทันโลก

ถ้ามีกากอุตสาหกรรมมาทิ้งรวมลงในขยะชุมชน ขยะรวมนั้นจะถือว่าเป็นขยะอุตสาหกรรมหรือไม่ และใครควรเป็นผู้รับผิดชอบในการกำจัด

ในข้อ 14 ของร่างพ.ร.บ.กากฯฉบับนี้บ่งว่า การขนส่ง จุดแยก หรือที่พักรวมขยะชุมชน ที่อปท.รับผิดชอบอยู่นั้น หากมีกากอุตสาหกรรมปะปนเข้ามารวมอยู่ในขยะชุมชนด้วย ก็ให้ถือเสียว่าเป็นการขนส่งหรือการรวบรวมกากอุตสาหกรรมไปตามพ.ร.บ.นี้ของกรอ.ด้วย

และจะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องแจ้งรวมทั้งไม่ต้องขออนุญาตจากอธิบดี กรอ. อปท.เพียงแต่ต้องแจ้ง อธิบดี กรอ.ให้ทราบ และให้ อปท.หรือผู้ได้รับมอบหมายนำส่งขยะรวมกากอันตรายนั้น ไปกำจัดยังที่ผู้กำจัดตาม พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมของ กรอ. โดยให้เป็นค่าใช้จ่ายของ อปท. 

ประเด็นนี้ควรต้องถกกันให้ตกผลึกและเห็นพ้องร่วมกันก่อน คือ งานนี้ควรเป็นภาระหรือภารกิจของ อปท. หรือเป็นของกรอ.  และอปท.จะมีงบประมาณรวมทั้งบุคลากรเพียงพอสำหรับงานนี้หรือไม่ 

ถ้าประเด็นนี้ยังไม่ตกผลึกและเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่จริง ก็จะมีการโยนความรับผิดชอบไปมาระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน

จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ที่รัฐจะกำหนดให้ กรอ.ที่มีความรู้ กำลังคน และทักษะในการจัดการสารมลพิษอุตสาหกรรมดีกว่า อปท.อย่างมาก เป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในภารกิจนี้อย่างเบ็ดเสร็จในหน่วยงานเดียว แทนที่จะส่งต่อไปยัง อปท.ที่มีอยู่หลายพันแห่งทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณและกำลังคนสำหรับการนี้ให้ กรอ.อย่างเพียงพอด้วย การจึงจะสำเร็จได้จริง

หรืออีกวิธีหนึ่งที่น่าจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายมากกว่า คือ กำหนดเป็นกฎหมาย ห้าม อปท.รับของเสียอุตสาหกรรมเข้ามาทิ้งยังสถานที่กำจัดหรือจัดการขยะชุมชนของอปท.เอง 

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ โรงงานที่มีของเสียอันตรายจะต้องนำส่งไปที่สถานที่รับกำจัดหรือจัดการตามกฎหมายของกรอ.เท่านั้น จะส่งหรือแอบส่งไปที่หลุมขยะของ อปท.ไม่ได้

ความยากลำบากในการออกกฎหมาย ทำให้ไทยตามโลกไม่ทัน

เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว กรอ.ได้ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Wastes from Electric and Electronic Equipments, WEEE) ออกมา  นับว่าเป็นความพยายามที่น่าชมเชยแม้จะยังครอบคลุมปัญหาเพียงแค่ส่วนเสี้ยวของปัญหาขยะอุตสาหกรรมทั้งหมดก็ตาม  

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็เพื่อจะนำร่างดังกล่าวไปผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะนำร่างนั้นไปผ่านกระบวนการพิจารณาของทั้งรัฐสภา วุฒิสภา และศาลรัฐธรรมนูญ ให้เห็นชอบ ก่อนเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ 

แต่น่าเสียดายที่ร่าง พ.ร.บ.WEEE ดังกล่าวแม้จะใช้เวลาไปถึง 10 ปีแล้วก็ยังไม่สามารถลุล่วงออกมาได้  ทำให้ปัญหาการปนเปื้อนด้วยสารพิษ WEEE ต่อสิ่งแวดล้อมของไทยยังแก้ไม่ได้อย่างจริงจังจนบัดนี้

การต้องใช้เวลานานมากขนาดนี้ในการออกกฎหมายแต่ละฉบับเป็นอุปสรรคใหญ่มากของประเทศไทย เพราะถ้าภาครัฐและพรรคการเมืองยังไม่ตระหนักรู้ถึงความไวในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลก

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์  แนวคิด ESG  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ที่ปรากฏอยู่ในแวดวงธุรกิจโลกทุกวันนี้  ไทยเราคงตามคนอื่นไม่ทันในเรื่อง SD หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน 

นักการเมืองและพรรคการเมืองจึงต้องหาความรู้ใส่ตัว และต้องทำตนเป็นตัวช่วยเร่งภารกิจแก้ปัญหาสิ่งแวดลัอมของประเทศ ให้บรรลุได้อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเร่งได้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอันหมายถึงการพัฒนาทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ อย่างได้ดุลยภาพกันและกันไปพร้อมกัน

คิดกว้าง คิดไกล อาจทำให้ช้า  แต่ปัญหาจบ

คราวนี้ก็มาถึงคำอธิบายของเราต่อข้อกังวลที่ได้เอ่ยถึงไว้ในช่วงต้นของบทความ 

ร่างพ.ร.บ. WEEE ได้ใช้เวลานานเป็น 10 ปีแล้ว และก็ยังไม่ผ่านจนบัดนี้ จึงทำให้คาดเดาได้ว่าน่าจะใช้เวลาอีกนานมาก กว่าจะได้รับความเห็นชอบ (ถ้าได้รับความเห็นชอบ)

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เราสองคนก็ยังอยากจะเสนอแนะสิ่งที่อาจดูว่ายิ่งยากขึ้นไปอีก  คือ จะเสนอให้แก้ไขกฎหมายของ กอ.และกรอ.ในภาพรวมแบบถอนรากถอนโคน โดยให้ครอบคลุมภาพใหญ่ของของเสียอุตสาหกรรม ที่กว้างไกลและก้าวหน้ากว่าที่เคยทำๆกันมา  คือทำแบบชนิดที่เรียกว่า ทำแล้วจบในคราวเดียว

โดยให้รวมทั้งของเสียที่เป็นของแข็ง ของเหลว และแก๊สไปพร้อมกัน ซึ่งแน่นอนที่จะต้องเสียเวลามากกว่าเดิมมาก เพราะเท่ากับต้องไปเริ่มต้นใหม่หมด  

แต่ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่เราจะสามารถแก้ปัญหามลพิษจากภาคอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการได้หมดจดและเบ็ดเสร็จในคราวเดียว

ซึ่งดีกับบ้านเมืองมากกว่าการที่จะแยกออกเป็นพ.ร.บ.ทีละเรื่องๆ ที่ไม่บูรณาการกันอย่างที่ทำกันอยู่ตลอดมา และจะใช้เวลาในการออกกฎหมายมากกว่าที่เสนอใหม่นี้เสียด้วยซ้ำ

ถ้าไม่ทำ จะมีความผิดตามมาตรา 157 หรือไม่

เราสองคนไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แต่โดยสามัญสำนึกส่วนตัวของเรา เราคิดว่าถ้ากอ.และกรอ.ไม่จัดการปัญหามลพิษอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ ให้ครอบคลุมให้ครบประเด็นดังที่เราได้กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด 

กอ.และกรอ.ก็จะไม่สามารถดูแลปัญหาพวกนั้นได้อย่างเบ็ดเสร็จและอาจก่อให้เกิดปัญหารุนแรงแก่ชุมชนในวงแคบและสังคมในวงกว้าง จึงอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายตามมาตรา 157 ในฐานะที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์ ตามขอบข่ายความรับผิดชอบที่ต้องมี

เราจึงอยากเสนอให้กอ.และกรอ. รวมทั้งภาควิชาการ ตลอดจนภาคประชาสังคม นำประเด็นนี้มาพิจารณาร่วมกันแต่เนิ่นๆ และหาคำตอบเพื่อเตรียมตัวให้ถูกต้องเสียตั้งแต่บัดนี้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สายเกินแก้

น่าจะเลิกได้แล้ว การออกกฏหมายแบบเป็นแท่ง ที่ไม่บูรณาการข้ามกรมกระทรวง

อีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากจะเสนอ คือ หน่วยงานรัฐไม่ควรจะพิจารณากฎหมายแบบเป็นแท่งในแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว เพราะสังคมไทยได้รู้มาตลอดว่าวิธีนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้

รัฐควรจะบูรณาการกฎหมายของกอ.และกรอ.ไปกับกฏหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และอื่นๆ ไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดความรอบคอบและครอบคลุมเบ็ดเสร็จไปในตัวทีเดียว

  เราไม่ใช่นักกฎหมาย จึงไม่ทราบว่าขอเสนอนี้ทำได้ไหม แต่เราคิดในเชิงนักวิชาการที่สนใจประเด็นทางสังคม ว่าหากรัฐติดปัญหาที่ตัวหนังสือในกฎหมาย รัฐก็ควรจะต้องหาทางแก้ตัวหนังสือนั้นเพื่อให้ทำให้ได้ เพราะมันเป็นแนวคิดใหม่ของโลกสมัยนี้ที่ไม่ทำตามนั้น ไม่ได้แล้ว

(หมายเหตุ : นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตน ไม่ใช่ของหน่วยงานต้นสังกัด)

หมายเหตุจากกองบรรณาธิการ...กรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องประกอบการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ....ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย  และเว็บไซต์ กรอ.  ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม-1 เมษายน 2568 ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปสามารถศึกษาข้อมูล และส่งความคิดเห็นได้ผ่านทางสองช่องทางดังกล่าว