ท่องเที่ยวชุมชน ... สู่ 4.0: ควรเน้นนโยบายอะไร
ขณะนี้การเมืองกำลังเข้มข้น ทุกพรรคก็งัดเอานโยบายมาประชันกันโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ต่างก็เสนอว่าจะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้แจงรายละเอียดให้ประชาชนรับทราบ วันนี้ผู้เขียนจึงขอเสนอนโยบายท่องเที่ยวชุมชนเพื่อให้รัฐบาลใหม่พิจารณานำไปใช้
การท่องเที่ยวชุมชนมีวิวัฒนาการมานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว โดยชุมชนท่องเที่ยวยุค 1.0 เป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษา เป็นแหล่งพักแรมของนักท่องเที่ยวผจญภัยต่างชาติ ถัดมาเป็นยุคของท่องเที่ยวชุมชน 2.0 ที่เน้นการดูงานโดยมีทัวร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหลัก ยุคปัจจุบันเป็นยุคท่องเที่ยวชุมชน 3.0 ที่หลายชุมชนพยายามจะปรับจากการรองรับกลุ่มดูงานและทัศนศึกษาเป็นกลุ่มท่องเที่ยววิถีไทย ความสำเร็จของชุมชนในวันนี้จึงไม่ใช่ได้มาโดยง่าย คำถามที่น่าสนใจคือ พลวัตของการท่องเที่ยวชุมชนและอนาคตของท่องเที่ยวชุมชนจะเป็นอย่างไร ข้อนี้ยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยจนกระทั่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้ทุนวิจัยแก่มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ เพื่อศึกษาชุมชนท่องเที่ยว 23 ชุมชน เพื่อตอบคำถามใหญ่ดังกล่าว
การวิเคราะห์วิวัฒนาการการท่องเที่ยวชุมชนพบว่า ชุมชนท่องเที่ยวจะมีพลวัตแบบ 3.0 สู่ 4.0 จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปในยุคต้นๆ การเปลี่ยนแปลงเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อ 3G เข้ามาแล้ว การขยายตัวด้านการท่องเที่ยวทำให้ชุมชนดั้งเดิมจะค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบไปเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น เรื่องอุดมการณ์และคุณค่าที่เคยมองผู้มาเยือนเป็นเพื่อนมนุษย์ และการแบ่งปันประสบการณ์ในท่องเที่ยวชุมชนดั้งเดิม จะกลายเป็นการเน้นการให้บริการลูกค้า อุดมการณ์ด้านความเสมอภาคกลายเป็นความพยายามที่จะสร้างความพึงพอใจของลูกค้า ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในชุมชนก็อาจจะเปลี่ยนจากความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกลายเป็นเครือข่ายธุรกิจที่มีผลประโยชน์ร่วมกันแทน ในด้านการดำเนินงาน การมีส่วนร่วมก็เปลี่ยนจากการช่วยกันคนละไม้คนละมือเป็นแบ่งแยกการทำงานให้มีประสิทธิภาพ การลงทุนในโฮมสเตย์ซึ่งเคยมองว่าเป็นการดูแลความมั่งคั่งของครอบครัวสร้างบ้านเรือนให้ลูกหลาน ก็ต้องมองเป็นการลงทุนหวังผลตอบแทนเพื่อไปจ่ายเงินกู้ ผลกระทบที่เดิมเห็นว่าการท่องเที่ยวชุมชนเป็นการขยายโลกทัศน์และมิตรต่างถิ่นก็โฟกัสไปที่เรื่องการขยายตัวของรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น
ชุมชนท่องเที่ยวจึงมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจากความเป็นของแท้แบบดั้งเดิม (Authenticity) ไปเป็นการแสดงเสมือนดั้งเดิม (Staged authenticity) พลวัตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการเลือกของชุมชนและท้ายที่สุดแล้วเกิดจากการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคของชุมชน จึงไม่ควรที่นักวิชาการผู้โหยหาความดั้งเดิม (ที่กินไม่ได้) จักต้องกังวลใจ ที่น่ากังวลจะเป็นความขัดแย้งภายใน เมื่อกลุ่มอ่อนแอลงมากกว่าซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
ข้อมูลของการศึกษาที่กล่าวมาแล้วยังสามารถนำมาวิเคราะห์ SWOT คือ พิจารณาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความท้าทายของการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งผลการศึกษาพบว่า จุดแข็ง คือ เป็นผลิตภัณฑ์และสินค้าที่มีความหลากหลาย เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกได้มากขึ้น ชุมชนท่องเที่ยวที่ทั้งอยู่บนเขา ริมแม่น้ำ ในทุ่งนา ริมชายหาด และบนเกาะ อีกยังมีชาติพันธุ์อันหลากหลายมาให้บริการ จุดอ่อน คือ กำลังรองรับด้านแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยแรงงานของแม่บ้านซึ่งก็สูงอายุแล้ว ทำให้ขาดแคลนแรงงานที่จำเป็นในวันหยุดยาวและวันหยุดนักขัตฤกษ์
นอกจากนี้ ชุมชนมีระดับความสามารถในการให้บริการต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อมและการจัดสรรผลประโยชน์ภายในชุมชน เมื่อนักท่องเที่ยวมีจำนวนมากเกินกำลังรองรับด้านสาธารณูปโภคก็จะมีปัญหาขยะและน้ำเสียตามมา เมื่อชุมชนท่องเที่ยวเติบโตความสามารถในการบริหารจัดการพื้นที่ขยายตัวไม่ทัน ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อีกจุดอ่อนคือ ทุนสังคมที่เป็นทุนประเดิมไม่แข็งแรงพอ ได้แก่ ชุมชนตั้งขึ้นเพราะความช่วยเหลือจากภายนอก ความสำเร็จของการท่องเที่ยวชุมชนจึงต้องการ “แรงระเบิดจากภายใน” มากกว่าการจัดตั้งโดยหน่วยงานภาครัฐและการจัดสรรผลประโยชน์ ชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ล้วนมีประวัติและวิวัฒนาการของการต่อสู้ร่วมกันมายาวนาน เช่น ชุมชนเกาะยาวน้อย หากการบริหารจัดการขาดความโปร่งใสและเป็นธรรมจะทำให้ทุนทางสังคมที่เป็นฐานค่อยๆ สึกกร่อนได้ ชุมชนที่พึ่งพารัฐมากเกินไป เนื่องจากผู้มาเยือนเป็นอุปสงค์ (Demand) เทียมจากนโยบายของรัฐที่ไปกระตุ้นการดูงาน จึงมีโอกาสที่ดีมานด์จะซบเซาเมื่องบประมาณสนับสนุนเหล่านี้สิ้นสุดลง นอกจากนี้ การจัดสรรผลประโยชน์ภายในกลุ่ม หากไม่ลงตัวและไม่เป็นธรรมแล้วก็จะมีโอกาสจะเกิดความขัดแย้งขึ้นภายในชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีการดูแลเรื่องผลกระทบที่มีต่อครัวเรือนในชุมชนที่ไม่ได้มีส่วนได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งก็จำเป็นจะต้องมีการจัดสรรผลประโยชน์บางส่วนจากรายได้จากท่องเที่ยวไปดูแลผลกระทบเหล่านี้ เช่น ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษเสียง ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งกับชุมชนและนักท่องเที่ยวด้วย เช่น เพิ่มแสงไฟส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยยามค่ำคืน
ตัวอย่างที่ดีได้แก่ ชุมชนบ้านบัว จังหวัดพะเยาซึ่งหักรายได้ของกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวเข้าสู่กองกลางทุกครั้งแล้วแบ่งเฉลี่ยคืนให้กับทุกครัวเรือนในหมู่บ้านทุกปี อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่กลุ่มเรือบ้านเดียมซึ่งหักรายได้จากการพานักท่องเที่ยวไปชมทุ่งทะเลบัวแดงเข้ากลุ่มร้อยละ 20 หลังจากนั้นก็นำมาเป็นค่าบริหารจัดการค่าบำรุงวัดและชุมชนให้ทุนการศึกษาแก่เด็กในชุมชน
โอกาส ของชุมชนท่องเที่ยวนั้นมีอยู่มาก เนื่องจากกระแสการท่องเที่ยววิถีไทยที่กำลังเติบโต แต่โอกาสก็ไม่ใช่สำหรับชุมชนท่องเที่ยวทุกแห่งและไม่ใช่ชุมชนห่างไกลที่ไหนก็ได้ แต่เป็นโอกาสเฉพาะชุมชนท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีแม่เหล็กดึงดูดด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น
ความท้าทาย ของชุมชนท่องเที่ยวคือ กระแสการท่องเที่ยววิถีไทยในปัจจุบัน ทำให้หน่วยงานต่างๆ พยายามเข้าไปหาชุมชนท่องเที่ยวที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จแล้ว เพื่อที่จะให้ข้อเสนอและยื่นมือมาให้ความช่วยเหลือต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกันภายใน เนื่องจากแกนนำชุมชนแย่งชิงผลประโยชน์จากรัฐที่เสนอเข้ามา ความท้าทายอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การแข่งขันจากอุตสาหกรรมโรงแรมในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งสามารถเสนอบริการได้ในราคาที่ค่อนข้างต่ำ ใกล้เคียงกับโฮมสเตย์ซึ่งกำลังปรับตัวไปสู่ตลาดนักท่องเที่ยว และกำลังยกระดับค่าที่พักไปเป็น 600 บาทต่อคืนขึ้นไป (รวมค่ากิจกรรม)
นโยบายของรัฐควรเน้นการสนับสนุนการสร้างสาธารณูปโภค เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและอำนวยความสะดวกมากกว่าการสนับสนุนด้านการเงินโดยตรงสู่ชุมชน เพิ่มทักษะทั้งระดับแกนนำและผู้ปฏิบัติให้สามารถรองรับการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน และควรเปิดโอกาสให้ชุมชนนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ในการทำมาหากินโดยไม่ผิดกฎหมายเช่น Grab car ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีตำแหน่งแห่งที่ในโลกดิจิทัลและกลุ่มนักท่องเที่ยว FIT เข้าถึงชุมชนได้ง่ายขึ้น จะได้เป็นท่องเที่ยวชุมชน 4.0 ได้!