สงครามก่อการร้ายแนวใหม่ที่ศรีลังกาต้องเผชิญ
การโจมตีโบสถ์คริสต์และโรงแรมห้าดาวที่มีชาวตะวันตกรวมตัวกันอยู่มากเมื่อวันอาทิตย์อีสเตอร์ที่ผ่านมานั้นเป็นเรื่องใหม่ของศรีลังกา
ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีพุทธกับฮินดูเป็นประชากรหลักนี้กำลังเผชิญกับเงื้อมมืออำมหิตของแนวคิดลัทธิก่อการร้ายบิดเบือนอิสลามเหมือนกับที่โลกตะวันตกกำลังโดนหนัก แต่ยังเผชิญภัยในแบบที่ซับซ้อนและน่าจะก้าวล้ำเทรนด์ก่อการร้ายสากลด้วย ที่น่ากลัวยิ่งไปกว่านั้นคือการก่อการร้ายไฮบริดที่ผสานกันลงตัวนี้จะเป็นกระแสที่ผู้ก่อการร้ายจะทำกันในอนาคต ตรวจจับปราบปรามยาก มีข้อจำกัดวุ่นวาย ผู้ก่อการร้ายประสานกันได้ด้วยเทคโนโลยีและจิตวิญญาณร่วมไร้พรมแดน ศรีลังกาจะรับมือการก่อการร้ายที่ต้องลากยาวนานเป็นแน่นี้อย่างไร และประเทศไทยจะถอดบทเรียนมาป้องกันตัวอย่างไรนั้นเป็นโจทย์ที่น่าขบคิด
การเลือกก่อเหตุร้ายครั้งนี้ของกลุ่มก่อการร้ายท่องถิ่นที่ได้รับความช่วยเหลือไม่มากก็น้อยจากองค์กรนำอย่าง IS นั้นเป็นเรื่องเซอร์ไพรซ์ที่รุนแรงและเป็นระบบอย่างเหลือเชื่อ แต่คนคงแปลกใจน้อยกว่านี้ถ้ากลุ่มก่อการร้ายจะโจมตีชาวพุทธคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างพุทธกับมุสลิมเหมือนเมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นก็ได้ผลแน่นอนเพราะพุทธหัวรุนแรงในศรีลังกาที่พร้อมตอบโต้ด้วยกำลังนั้นมีมาก เหมือนกับที่พม่านั่นแหละ แต่ผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้คงเห็นว่าแนวคิดสงครามศักดิ์สิทธิ์พุทธ-มุสลิมเป็นอะไรที่ “ขาย” ยังไม่ได้ราคา เมื่อเทียบกับการขยายความขัดแย้งคริสต์-มุสลิม อีกทั้งชาวคริสต์เป็นเพียงชนกลุ่มน้อย ความสนใจจับตาและระวังป้องกันของรัฐที่มีต่อนั้นอาจต่ำกว่ากลุ่มอื่น
จริง ๆ แล้วหน่วยข่าวกรองศรีลังกาทราบดีถึงกระแสบ่มฟักมุสลิมหัวรุนแรงบนเกาะแห่งนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่การป้องกันในช่วงหลังสงครามกลางเมืองสงบลงตั้งแต่ปี 2552 นั้นเน้นไปที่การสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายชาวทมิฬโงหัวขึ้น ซึ่งความจริงไม่จำเป็นต้องทุ่มเทมุ่งเน้นไปที่พวกนี้อีกแล้ว เพราะพลัง”ทมิฬเห็นต่าง” นั้นน้อยมากทั้งในประเทศและโพ้นทะเล ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ขณะที่โลกจับตาบังกลาเทศที่กระบวนการบ่มฟักก่อการร้ายเติบโตขึ้นและมีการปฏิบัติการโจมตีรัฐเป็นระยะ คนมักมองข้ามศรีลังกาไป
เป็นมาสักระยะหนึ่งแล้วที่อุดมการณ์ของ IS กลายมาเป็นกระแสที่ผู้ก่อการร้ายแบบ”ไม่มีที่มาที่ไป” ยึดถือ ความจริงน่าจะกล่าวได้ว่าเริ่มขึ้นไม่ช้าไปกว่าการที่ IS เรียกระดมนักรบนานาชาติให้ไปสู้รบในตะวันออกกลาง ใครไปไม่ได้ก็ให้ก่อหายนะในประเทศ ผลคือเหตุร้ายเกิดขึ้นในยุโรปอย่างต่อเนื่อง ยิ่ง IS ในฐานะกองกำลังรบหลักเพลี่ยงพล้ำในซีเรียมากขึ้นเท่าไหร่ กระแสก่อการร้ายโพ้นทะเลกลับไม่จางลง มีคนที่ไม่มีประวัติอาชญากรรม มีครอบครัวและการศึกษาดี กล้าโจมตีเป้าหมาย”อะไรก็ได้”ในวิถีทางที่ประหลาดมากขึ้น เช่น ขับรถไล่ชนคนเฉย ๆ ก็เอา ซึ่งบางครั้งก่อให้เกิดการตายมากกว่าระเบิดฆ่าตัวตายเสียอีก อาชญากรรมแบบไม่มีที่มาที่ไปนี้เหมือนกับนิยายระทึกขวัญในฝันที่เดาพล็อตไม่ออก ป้องกันยาก ตัวละครโนเนมมาก แล้วสิ่งนี้ก็มาเกิดในศรีลังกา ประเทศที่ชินต่อการระเบิดฆ่าตัวตายของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Ealam –LTTE) ก็จริง แต่ไม่ชินกับความใหม่ของศัตรูแบบนี้
การก่อการร้ายประเภทที่ศรีลังกาพึ่งเจอนี้ มาจากการปลุกระดมผ่านสื่อโซเชียลที่เข้าถึงเตียงนอนของกลุ่มเป้าหมาย การระบาดทางอารมณ์ผ่านทางสื่อโซเชียลนั้นได้ผลมาก การประสานงานกับเครือข่ายแนวคิดเดียวกันก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว วิธีการและอาวุธโจมตีมีอยู่ใน Darkweb หมดแล้ว ความกล้าในการตัดสินใจพร้อมลงมือและพร้อมตายยิ่งรวดเร็วเมื่อนึกถึงวิถีของการใช้ชิวิตของคนปัจจุบัน โดยเฉพาะคนเล่นเกม ถ้าสืบต่อไป ก็อาจได้พบกับเจ้าของเงินสนับสนุน หน่วยส่งกำลังบำรุงช่วยเหลือกันตั้งแต่อาวุธยันพาหนะ นักรบท้องถิ่นที่เดินทางกลับจากตะวันออกกลาง นักบวชผู้สั่งสอนผิด ๆ หรืออาจถึงขั้นมีกองกำลังที่วันดีคืนดีลุกขึ้นมายึดเมืองนานหลายเดือนแบบที่ฟิลิปปินส์
การปราบปรามผู้มีแนวความคิดคลั่งอุดมการณ์แบบนี้ไม่น่าที่จะทำได้สมบูรณ์แค่ด้วยการพยายามบล็อกการสื่อสารผ่านโซเชียล การติดตั้งซีซีทีวีทั่วเมือง การร่วมมือด้านข่าวกรอง การรณรงค์กล่อมเกลาเยาวชนให้ทำดีเชื่อฟังรัฐ หรือการทำสงครามเอาชนะให้ราบคาบแบบที่รัฐบาลเคยรบชนะ LTTE แต่ต้องลงลึกไปที่ถึงระดับรากฐานของปัญหาสังคม การก่อการร้ายยุคใหม่แบบ 3.0 น่าจะเป็นการต่อสู้แบบไฮบริดผสมผสานกันอย่างที่ว่า แต่ผู้ก่อเหตุมีแรงจูงใจจากประสบการณ์ที่ตนได้รับ เช่น ถูกกีดกันกลั่นแกล้งจากสังคมกระแสหลัก แต่ถ้าเป็นแบบ 3.1 ผู้ก่อเหตุไม่ต้องเจอเรื่องร้ายๆ เลยในชีวิต เป็นลูกคนรวยลูกคุณหนูก็กล้าก่อเหตุได้แบบในบังกลาเทศและศรีลังกา ทางแก้คือทำอย่างไรที่จะให้คนธรรมดาคิดว่าการทำเรื่องบ้าๆ แบบนี้มันไร้เหตุผลสิ้นดี ซึ่งก็ยากกว่าแบบ 3.0 เพราะพวกเขาอาจไม่ต้องการก่อเหตุเพื่อได้ไปอยู่ในโลกหน้าที่ร่ำรวย ไม่ต้องการทำเพื่อแบ่งแยกดินแดนหรือสถาปนารัฐกาหลิบ หรือไม่ต้องการอะไรเลยนอกจากชื่อเสียงหรือการฆ่าฆ่าฆ่าก็เป็นได้
การก่อการร้ายซับซ้อนขึ้นทุกวันทั้งมูลเหตุจูงใจและวิธีดำเนินการ ไม่ต้องถามจะว่า”เกิดเหตุหรือไม่” แต่มันคือ ”เมื่อไหร่” กระนั้นก็ตาม คนสติดีทุกคนก็ยังต้องร่วมมือกันไม่ยอมจำนนต่อปีศาจตัวนี้