อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เข้าสู่ขาลง
วัฏจักรอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลกเข้าสู่ขาลงตั้งแต่ปลายปี 2561
ฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ไต้หวัน) และฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินแนวโน้มวัฏจักรอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลกเข้าสู่ขาลงตั้งแต่ปลายปี 2561 และล่าสุดยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก อย่างไรก็ดีการถูกผลักดันจากประเด็นสงครามการค้าทำให้วัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรมฯเร่งตัวขึ้นเร็ว (และอาจจะแรง) กว่าปกติ ดังนั้นหากสถานการณ์คลี่คลายได้เร็ว อาจทำให้ผ่านพ้นวัฏจักรขาลงได้เร็วกว่าวัฏจักรในอดีตได้เช่นกัน
ยอดขาย Semiconductor ทั่วโลก เริ่มอ่อนตัวลงตั้งแต่เดือน พ.ย.61 ที่ผ่านมา และลดลงมาอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดยอดขาย Semiconductor ทั่วโลกเดือน มี.ค.62 ยังคงลดลง -12.8% YoY และ -1.8% MoM หลังจากที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นวัฏจักรขาขึ้นมายาวนานถึง 30 เดือน ซึ่งยาวนานกว่าวัฏจักรขาขึ้นปกติจากข้อมูลในอดีต เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ ±22 เดือน ตัวเลขยอดขาย Semiconductor ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องมาราว 5 เดือน เป็นการส่งสัญญาณเตือนของการเริ่มเข้าสู่วัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรมฯ ที่ในอดีตยอดขาย Semiconductor ทั่วโลกจะหดตัวลงประมาณ -20% และกินระยะเวลาประมาณ 1.5 - 2.0 ปี
นอกจากสัญญาณเตือนจากเรื่องยอดขาย Semiconductor ที่ชะลอตัวลง สถานการณ์แวดล้อมต่างๆขณะนี้ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ฝ่ายวิจัยฯมั่นใจต่อแนวโน้มวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรมฯรอบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น i) ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีน ที่ทวีความร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างใช้มาตรการทางภาษีระหว่างกัน จากเดิมที่มีความคาดหวังว่าจะสามารถเริ่มต้นการเจรจาการค้ากันได้ในเดือน พ.ค.62, ii) ยอดการผลิตรถยนต์ของโลกเริ่มเติบโตแบบชะลอตัว และอาจมีความเสี่ยงเรื่องการสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-ยุโรป ต่อประเด็นการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ผลิตจากยุโรปเพิ่มเติมอีก
แม้ว่าล่าสุดทางสหรัฐฯจะตัดสินใจเลื่อนการเก็บภาษีดังกล่าวไปอีก 6 เดือน, iii) Killer Applications อย่างเช่น AI, IoT, และ 5G ยังไม่น่าจะมีการผลิตถึงระดับ Mass production ได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า, และ iv) แนวโน้มการชะลอตัวลงเศรษฐกิจโลก มีสัญญาณลบมาจากต่อเนื่อง จากการพยากรณ์ความน่าจะเป็นที่จะเกิด Recession ของเศรษฐกิจสหรัฐฯในอีก 12 เดือนข้างหน้าที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดย Fed สาขานิวยอร์ก พยากรณ์ความน่าจะเป็นดังกล่าวจากข้อมูล อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐฐาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี และอายุ 3 เดือน ล่าสุด ณ วันที่ 2 พ.ค.62 เท่ากับ 27.49%
สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเอง นอกจากต้องเผชิญภาวะที่อุตสาหกรรมฯชะลอตัวแล้ว ยังต้องเผชิญปัจจัยลบอีกประการที่สำคัญคือ ค่าเงินบาทแข็งค่า ในขณะนี้ ทำให้เริ่มสะท้อนมายังผลการดำเนินงานของหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใน 1Q62 แล้วที่ได้รับผลกระทบทั้งในด้านยอดขายและในด้านอัตรากำไร
อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าหากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีน คลี่คลายได้ ในเดือน มิ.ย.62 นี้ ในการประชุม G-20 โดย เราประเมินว่าการที่สหรัฐฯประกาศจะทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ที่เหลือ 3 แสนล้านดอลลาร์ ในอัตรา 25% อาจจะเป็นการโยนหินถามทางเพื่อ "หาทางลง" ของประธาณาธิบดีสหรัฐฯในรอบนี้ก็เป็นได้เช่นกัน ซึ่งอาจจะทำให้สถานการณ์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการฟื้นตัวได้บ้าง ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วง High season ของธุรกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี