โมเดลผู้นำที่ลูกน้องไว้ใจ
เรื่องของความไว้วางใจที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “trust” นั้น ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผู้นำทุกยุคทุกสมัยปรารถนาจากลูกน้อง
จากการที่ดิฉันได้นำเสนอเรื่องราวสาระที่เก็บตกจากการเข้าสัมมนาต่างๆรอบโลกต่อแฟนคอลัมน์เป็นระยะๆ ทำให้ดิฉันพบว่าในสังคมยุคเศรษฐกิจพลิกผัน (Disrupted economy) ที่ผู้นำต้องรู้จักพลิกแพลงแนวคิดและวิธีการทำงานของตนเองและทีมงานให้มีความยืดหยุ่น (agile) อยู่ตลอดเวลา
เรื่องของความไว้วางใจยิ่งเป็นปัจจัยที่ผู้นำที่ต้องการบริหารแบบอะไจล์ (Agile) ต้องสร้างให้มีขึ้นระหว่างผู้นำกับทีมงาน เพราะการที่จะทำให้ลูกน้องยอมรับแนวทางบริหารใหม่และปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานบ่อยๆตามสถานการณ์อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างที่ต้องการนั้นหมายความว่าผู้นำต้องเป็นที่ยอมรับนับถือว่ามีวิสัยทัศน์ มีการตัดสินใจและมีความสามารถที่จะจูงใจนำทีมให้ทำงานบรรลุเป้าหมายได้
หลายครั้งที่เราคงได้เห็นว่าเมื่อต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ทีมงานมักจะเหนื่อยหน่ายท้อถอย หมดความเชื่อมั่นในตัวผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่สามารถทำการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จตามที่ต้องการ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ผู้นำจะต้องเป็นผู้ที่ก้าวขาเดินออกไปหาลูกน้องเพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างกันให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ผู้ที่นั่งรอให้ลูกน้องเข้ามาหา ไม่ใช่คนที่รอให้ความไว้วางใจเกิดขึ้นเอง ของแบบนี้เป็นของที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นและเป็นของที่สร้างได้โดยต้องใช้เวลา และหากอยากได้ความไว้วางใจที่ยั่งยืนจริงใจ ก็ต้องใส่ความจริงใจลงไปด้วย มาศึกษาร่วมกันเลยค่ะว่าผู้นำจะทำให้ทีมงานไว้วางใจตนได้อย่างไร
สื่อสารแบบสองทาง รู้จักสังเกต รักษามารยาทและค่านิยมการทำงานแบบมืออาชีพ ขอเริ่มจากกรณีที่ต้องมาทำงานกับทีมที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนในระยะเวลาสั้นๆ เพียงเดือนสองเดือน มีข้อแนะนำดังนี้สำหรับแนวทางเร่งรัดค่ะ ผู้นำควรเตรียมขั้นตอนการทำงานเป็นทีมเอาไว้ล่วงหน้า โดยควรทำการศึกษาประวัติส่วนตัวของทีมงานเกี่ยวกับความรู้ ความเชี่ยวชาญของแต่ละคน เมื่อได้มาพบทีมก็ควรเริ่มจากการให้ทุกคนรวมทั้งตัวเองแนะนำว่าตนเองเป็นใคร มีความถนัดและความสนใจในเรื่องใด
ลำดับถัดไปจึงชี้แจงเรื่องของเป้าหมายการทำงาน บทบาทหน้าที่งานของแต่ละตน ขั้นตอนการทำงาน ระยะเวลาในการติดตามผลงาน ปัจจัยที่ใช้ในการประเมินผลงานในแต่ละขั้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือลำดับการทำงานโดยทั่วไป ซึ่งแม้ว่าจะเป็นหลักการทั่วไปแต่ผู้นำทั่วไปก็ยังไม่สามารถทำได้ดี มีการตกหล่นหรือข้ามขั้นตอน หรือถึงแม้จะทำตามขั้นตอนแต่ความสามารถในการอธิบายนั้นไม่ชัดเจน พูดจาคลุมเครือทำให้ทีมงานเข้าใจผิดและทำงานผิด
ดิฉันจึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมไว้อีกว่า นอกเหนือจากการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายและขั้นตอนการทำงานแล้ว ผู้นำพึงสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกทีมตั้งแต่แรกพบเลยว่าค่านิยมในการทำงานเป็นทีมก็คือ สื่อสารแบบสองทาง (two-way communication) โดยผู้นำจะเปิดโอกาสให้ทีมงานสอบถามข้อข้องใจและแสดงความเห็นที่แตกต่างได้เสมอ และมารยาทในการทำงานแบบมืออาชีพ ที่ต้องการยึดถือคือ สุภาพ ตรงต่อเวลา รักษาคำพูด ไม่นินทาเพื่อนร่วมงาน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การงานที่รับผิดชอบ
หากผู้ใดมีเหตุขัดข้องหรือเผชิญปัญหาที่กีดขวางการทำงาน ให้แจ้งผู้นำให้ทราบทันทีเพื่อให้ทีมงานร่วมรับทราบและหาหนทางช่วยเหลือสนับสนุน ไม่ใช่เจอปัญหาก็เงียบอุบไว้คนเดียว พอถึงเวลาต้องส่งงานก็ยิ้มแห้งๆบอกว่ามีปัญหา แบบนี้ไม่ใช่มืออาชีพค่ะ
ทั้งนี้ผู้นำสามารถนำหลักการนี้ไปปรับใช้ตามความเหมาะสมได้ เช่น ในกรณีที่ท่านเป็นเจ้าของกิจการ มีความเชี่ยวชาญสูงและต้องการรักษาอำนาจการตัดสินใจเป็นของท่าน ท่านก็สามารถแจ้งให้ทีมงานทราบได้ตั้งแต่ต้นว่าท่านยินดีและต้องการให้ทีมงานทุกคนได้แสดงความคิดเห็น แต่ท่านสงวนสิทธิ์ในการตัดสินใจเป็นของท่าน อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าสมัยปัจจุบันเป็นยุคที่คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานเป็นแรงงานส่วนใหญ่ การที่ยึดครองอำนาจตัดสินใจเป็นของตนเองผู้เดียวบ่อยๆเป็นเวลานานๆย่อมมีความเสี่ยงที่จะทำให้ทีมงานรุ่นใหม่ไม่พอใจและไม่อยากทำงานกับท่านได้ ดังนั้นจึงควรใช้วิจารณญาณว่าเมื่อไรควรให้ทีมงานร่วมตัดสินใจ และเมื่อใดท่านควรตัดสินใจคนเดียว
การสื่อสารแบบสองทางจะช่วยให้ทีมงานมีโอกาสสื่อสารกับผู้นำและบุคคลอื่นในทีมได้ทั่วถึง ทำให้ประสานงานได้ลื่นไหล และการมีมารยาทการทำงานแบบมืออาชีพจะช่วยสร้างพื้นฐานความมั่นใจให้เกิดขึ้นในทีมงานและสามารถป้องกันความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ผู้นำยังควรจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ของทีมด้วยแม้ว่าจะทำงานด้วยกันในระยะเวลาอันสั้น เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน ไปปาร์ตี้ เล่นกีฬา เป็นต้น
ในลำดับถัดไปดิฉันจะพูดคุยถึงเรื่องการสร้างความไว้วางใจในระยะยาวในองค์กรค่ะ
สื่อสาร สร้างความสัมพันธ์ อย่างสม่ำเสมอ (Communicate and connect consistently) สามคำนี้จำให้มั่น ความไว้วางใจจะเกิดขึ้นจากการมีสัมพันธภาพที่ดี ดังนั้นผู้นำที่ต้องการสร้างความไว้วางใจต้องเดินหน้าเข้าไปทำความรู้จักกับลูกน้องเป็นรายคน มีการทักทายปราศรัย พูดคุยสอบถามสารทุกข์สุกดิบ ถามความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างสม่ำเสมอ การที่คิดว่าพูดกับลูกน้องเรื่องงานในที่ทำงานก็น่าจะเพียงพอ มันไม่เพียงพอค่ะ ท่านต้องสร้างโอกาสให้ทั้งท่านและเขามีโอกาสรู้จักนิสัยใจคอซึ่งกันและกัน เรื่องของความถี่ในการพูดคุย ความลึกและความหลากหลายของหัวข้อสนทนา ความบ่อยและความสม่ำเสมอของการพูดคุยและมีกิจกรรมร่วมกันจะค่อยๆทำให้ทุกฝ่ายมีความคุ้นเคยกันมากขึ้น ผู้นำที่ฉลาดจะสร้างกิจกรรมทั้งในและนอกที่ทำงานที่ทำให้ตนเองและลูกทีมได้พบปะกันเป็นระยะๆตามความเหมาะสม แต่ไม่ต้องบ่อยเกินไปจนทีมงานรู้สึกล้า เช่น ประชุมทีมงาน นัดรับประทานอาหารสังสันทน์เล่นกีฬา ทำให้มีความเป็นกันเอง และพอทุกฝ่ายรู้สึกเป็นกันเองต่อกัน แต่ละฝ่ายก็จะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงให้คนอื่นได้รู้จัก ทำให้แต่ละคนได้ทราบว่าใครชอบอะไร ไม่ชอบอะไร สนใจและถนัดเรื่องอะไร ซึ่งข้อมูลรายละเอียดต่างๆเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในการที่จะแบ่งหน้าที่งานให้เหมาะกับคุณสมบัติของแต่ละคน หัวใจสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกสบายๆไม่อึดอัดคือ ต้องไม่รีบเร่ง แต่สม่ำเสมอ หากใครที่รีบเร่งอยากเห็นผลไวๆ ทำการเร่งรัดในการสร้างความสนิทสนมอาจทำให้ลูกทีมสงสัยในความจริงใจของอีกฝ่าย จึงต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป
ผู้นำที่คุยไม่เก่ง ไม่ชอบสังคม (แนว introvert) ก็ไม่ต้องฝืนตนเองจนดูไม่เป็นธรรมชาติและยังอาจทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าเสแสร้ง ท่านก็จงเป็นตัวของท่านเอง ถ้าไม่ชอบพบคนเยอะๆ ก็ให้ค่อยๆทำความรู้จักลูกน้องไปทีละคนๆ ให้ความใส่ใจพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ ช้าๆ แต่เจาะลึก นัดทานข้าวกลุ่มเล็กๆ นอกจากนั้นลองหาตัวช่วยอื่นเช่น หาลูกทีมที่มีอัธยาศัยดี มีความคุ้นเคยกว้างขวางกับหลายกลุ่มในองค์กรให้ช่วยประสานงานนำพาท่านไปพบปะกับทีมงานต่างๆให้ทั่วถึง เขาจะได้ช่วยท่านพูดคุยกับคนอื่นๆ ทำให้ท่านไม่ต้องพูดคุยอยู่คนเดียวซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านไม่ค่อยถนัด
สำหรับท่านที่สนใจพัฒนาภาวะผู้นำ "ดร. แอนเดรียส ลีฟูกห์" ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักรและตัวดิฉันจะร่วมกันเป็นโค้ชพัฒนาภาวะผู้นำสร้างผลงานสูงสำหรับยุคเศรษฐกิจพลิกผัน (Essentials for High-performing Leaders) สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งสำหรับเวิร์คช้อปนี้ได้ที่ 02-218-4001-7 ต่อ 162-167 หรืออีเมล์ [email protected]