ปัญหาหลักของการศึกษาไทย
รัฐบาลไทยพยายามปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ปี๒๕๔๑ หรือ๒๒ปีมาแล้วโดยไม่ได้ผลในระดับทั่วทั้งประเทศ เพราะมัวแต่แก้ปัญหาร้อยแปด
โดยไม่เข้าใจปัญหาหลักๆ และไม่ได้แก้ไขเชิงปฏิรูปโครงสร้างของระบบอย่างกล้าผ่าตัดและเอาจริงมากพอ วันนี้ขอเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯคนใหม่ลองอ่านและใช้ความพยายามอีกครั้ง ปัญหาหลักคือ
1.ด้านการบริการจัดได้ไม่ทั่วถึง ประสิทธิภาพต่ำ รัฐบาลไทยใช้งบประมาณการศึกษาสูง มีสถาบันการศึกษา และผู้เข้าเรียนระดับต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่เด็กวัยเรียนยังได้เรียนระดับอนุบาลถึงการศึกษาบังคับ (ม.3) ได้ไม่ทั่วถึง มีปัญหาออกกลางคันสูงมาตลอด ส่วนใหญ่คือเด็กวัยที่ควรได้เรียนระดับมัธยมปลาย (ทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษา) แต่ไม่ได้เรียน สาเหตุมาจากความยากจน เรียนไม่ได้ดี เบื่อหน่าย มีปัญหาด้านต่างๆ
แรงงานผู้มีงานทำเกือบครึ่งหนึ่งยังจบการศึกษาแค่ชั้นประถมและต่ำกว่า ขณะที่หลายประเทศที่ใช้งบการศึกษาเป็นสัดส่วนต่อ GDP ต่ำกว่าไทย สามารถให้บริการการศึกษาแก่ประชาชนได้ทั่วถึงกว่า และผลิตแรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมและอาชีวศึกษาได้เป็นสัดส่วนสูงกว่าไทย
2.ด้านคุณภาพ การกระจายและคุณภาพการศึกษาที่จัดให้ประชาชนทั้งประเทศยังแตกต่างกันสูง และคุณภาพการศึกษาถัวเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
เด็กเล็กวัย 3-5 ปี ที่ได้เรียนขั้นปฐมวัยยังคงมีสัดส่วนต่อประชากรวัยเดียวกันต่ำ และที่ได้เรียนส่วนใหญ่ก็ได้เรียนในศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาลที่มีคุณภาพปานกลางและต่ำ ทั้งที่วัยนี้สมองพัฒนามากที่สุด ถ้าลงทุนทำให้เด็กทุกคนได้เรียนอนุบาลดีๆแบบเตรียมความพร้อม(เรียนแบบเล่นและทำกิจกรรม) สอดคล้องกับการทำงานของสมอง จะสร้างให้เด็กไทยฉลาดมากขึ้นและมีโอกาสเรียนในชั้นสูงได้ดีขึ้นด้วย
สถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานยังมีปัญหาคุณภาพแตกต่างกันสูงมากระหว่างโรงเรียนมีชื่อเสียงในเมืองราว 400 แห่ง และโรงเรียนทั่วไปอีก 3 หมื่นกว่าแห่ง ลูกคนรายได้ต่ำที่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำกว่าและมีปัญหาสภาพแวดล้อมทางสังคมอื่น ๆ ประกอบ ต้องออกกลางคัน คือเรียนไม่จบมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นสัดส่วนสูง
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และปีที่ 6 จากการทดสอบระดับชาติ ONET ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมามีคะแนนเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาตลอด โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
ผลการทดสอบนักเรียนระดับนานาชาติ ตามโครงการ PISA ของ OECD ในวิชาการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นวิชาพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นการวัดการคิดวิเคราะห์ความรู้/ทักษะที่จะใช้งานได้จริงในอนาคต นักเรียนไทยกลุ่มที่สุ่มตัวอย่างแบบเป็นตัวแทนของนักเรียนทั้งประเทศ ได้คะแนนเฉลี่ยในเกณฑ์ต่ำ อยู่ในอันดับท้ายๆ แพ้จีน (เซี่ยงไฮ้) เวียดนาม ฯลฯ
3.ด้านระบบบริหารการจัดการศึกษา ปัญหาคือ การบริหารแบบราชการรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางและวิธีการทำงานตามข้อบังคับคำสั่งระเบียบ การประเมินผลการปฏิบัติงานที่เน้นงานเชิงปริมาณและการทำงานถูกระเบียบ ไม่ได้นำไปสู่การบริหารที่ดีในแง่เพื่อเพิ่มสัมฤทธิ์ผลของนักเรียน ขาดระบบตรวจสอบดูแลความรับผิดชอบ (Accountability) อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหาร ครู อาจารย์ ส่วนใหญ่ทำงานเพื่อรักษาสถานภาพ,ประโยชน์ของตนเองที่ขึ้นอยู่กับอำนาจของผู้บังคับบัญชา มากกว่าเพื่อพัฒนานักเรียนของตนให้มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีอย่างทั่วถึง
แม้จะมีสถานศึกษาที่มีคุณภาพสูงบ้าง แต่คือสถานศึกษาใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงอยู่ในเมืองใหญ่ซึ่งเป็นส่วนน้อยของสถานศึกษาทั้งหมด ไม่ได้กระจายไปทั่วทั้งประเทศอย่างทั่วถึงเป็นธรรม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีการกระจายการบริหารทรัพยากรและส่งบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ อย่างทั่วถึงมากกว่า (ของไทยจึงมีปัญหากวดวิชาหนัก การเก็บเงินใต้โต๊ะค่าเข้าโรงเรียนดี ฯลฯ) ประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษายังมีระบบการคัดเลือกครู ครูใหญ่ ที่เน้นการคัดและให้ผลตอบแทนตามความสามารถและให้อิสระและความรับผิดชอบในการทำงานของครูอย่างมุ่งผลงาน คือทำให้ผู้เรียนเรียนได้ดีขึ้น อย่างถือเป็นเป้าหมายสำคัญมากกว่าของไทย ซึ่งเป็นระบบราชการรวมศูนย์แบบโบราณ
การจะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลจริง ต้องเปลี่ยนแปลงด้านระบบการบริหารจัดการและการพัฒนาบุคลากร ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาคุณภาพครู หลักสูตร การสอน การวัดผล ในแนวใหม่ที่สามารถทำให้ผู้เรียนมีความรู้/ทักษะ คุณลักษณะโดยรวมที่ใช้งานได้จริงในโลกสมัยใหม่ เป็นพลเมืองที่รับผิดชอบด้วย
ต้องทำกระทรวงศึกษาให้เล็กลงและเลิกจัดการศึกษาเอง การกระจายอำนาจการบริหารและความรับผิดชอบไปสู่จังหวัดเขตการศึกษา สถาบันปฏิรูประบบการคัดเลือก การประเมิน การพัฒนาครูอาจารย์แบบคัดกลั่นกรองคนที่มีความรู้ ความสามารถในการบริหาร และมีภาวะผู้นำมีความรับผิดชอบสูง มีระบบติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
4.การเปลี่ยนแปลงในรอบ 2 ปี เป็นแค่รูปแบบการบริหาร แต่บุคคลากรยังคงเป็นชุดเดิมที่คงทำงานแบบเดิม ต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงที่เนื้อหาสาระ คือการพัฒนาครูและกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนในแนวใหม่ ต้องสร้างและว่าจ้างครูที่ใฝ่การเรียนรู้ รักการอ่าน คิดวิเคราะห์เป็นเท่านั้น พวกเขาจึงจะสามารถสอนให้นักเรียนนักศึกษาใฝ่การเรียนรุ้ รักการอ่าน อ่านเองเป็น คิดวิเคราะห์ วิจัย แก้ปัญหา ทำโครงการเป็น ฯลฯ ต้องเปลี่ยนแปลงหลักสูตร และวิธีการวัดผลหรือสอบด้วย ถ้ายังเน้นแต่เรื่องการจำข้อมูล เพื่อไปสอบแบบกาผิดกาถูก ทั้งครูและนักเรียนก็ยังต้องติดยึดวิธีการสอนการเรียนแบบเก่าที่ล้าสมัย
การปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญต้องรวมทั้งการปฏิรูปปัญหาวัฒนธรรมการเรียนรู้จากแบบท่องจำเพื่อสอบเป็นการคิดวิเคราะห์ การคัดเลือกคนเข้าทำงานและประเมินผลเลื่อนความดีความชอบ ต้องพิจารณาจากความรู้ความสามารถ ความตั้งใจทำงาน รักการอ่านและพัฒนาตนเอง
การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงจะต้องเป็นการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทั้งระบบ ในเรื่องการปฏิรูปและพัฒนาครู อาจารย์ ผู้บริหาร การปฏิรูปการบริหารจัดการ ปฏิรูปหลักสูตรกระบวนการการเรียนการสอนและการวัดผล จัดการศึกษาให้คนส่วนใหญ่ได้เรียนการศึกษาระดับประเภทต่างๆ ตามศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ สถานศึกษาทั่วประเทศมีคุณภาพสูงใกล้เคียงกัน ใครอยากเรียนที่ไหน เมื่อไหร่ ก็เข้าเรียนได้ฟรีสำหรับการศึกษาขั้นอนุบาลถึงมัธยมสาม และเสียค่าใช้จ่ายต่ำสำหรับระดับอื่น ไม่ใช่ระบบแพ้คัดออก ให้คนส่วนน้อยไปเรียนมหาวิทยาลัยที่เน้นปริญญามากกว่า การมีองค์ความรู้และทักษะที่ใช้งานได้จริง การศึกษาทุกระดับทุกประภทต้องช่วยให้ผู้เรียนรักการอ่าน ใฝ่การเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้เป็น เรียนรู้ต่อด้วยตนเองเป็น แก้ปัญหาปรับปรุงพัฒนาตนเองเป็น มีความฉลาดทางอารมณ์ และความฉลาดทางสังคม ทำงานในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบและเอื้ออาทรต่อคนอื่นในสังคม