อนาคตของมหาวิทยาลัยไทยในศตวรรษที่ 21

อนาคตของมหาวิทยาลัยไทยในศตวรรษที่ 21

เคลย์ คลิสเตนเซน นักวิชาการชื่อดังจาก Harvard Business School ผู้คิดค้นทฤษฎีนวัตกรรมพลิกโฉม หรือ Disruptive Innovation พยากรณ์ว่า

มหาวิทยาลัยครึ่งหนึ่งในสหรัฐจะล้มละลายหายไปใน 15-20 ปี และเมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นได้ปิดตัวไปกว่า 15 แห่ง แนวโน้มดังกล่าวกำลังเป็นแนวโน้มใหญ่ที่เกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษาระดับสูงทั่วโลก

แนวโน้มสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่มีนัยยะสำคัญและเป็นที่รับรู้ในวงกว้างคือแนวโน้มด้านประชากร จากการที่อัตราการเกิดของประชากรไทยน้อยลงมาในช่วง 2 ทศวรรษ ส่งผลให้จำนวนนักเรียนที่เข้ามหาวิทยาลัยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปีล่าสุดพบว่ามีที่นั่งว่างในมหาวิทยาลัยสูงถึง 2 แสนที่นั่ง! จึงส่งผลโดยตรงต่อฐานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยและคำถามถึงบทบาทและโมเดลของมหาวิทยาลัยในอนาคต

แม้ว่าปรัชญาหลักของการศึกษาระดับอุดมศึกษาคือการทำให้คนพัฒนาเป็นบัณฑิตอย่างสมบูรณ์ ทำให้เป็นบทบาทของรัฐในการสนับสนุนงบประมาณพื้นฐานให้กับมหาวิทยาลัย แต่การที่หลักสูตรในมหาวิทยาลัยหลายหลักสูตรยังปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุค 4.0 งานวิจัยไม่เชื่อมต่อกับภาคอุตสาหกรรม และบัณฑิตที่จบมาไม่ตอบโจทย์การทำงานในโลกแห่งความเป็นจริงก็นับว่าเป็นคำถามที่สำคัญต่อภาคอุดมศึกษาไทย ซึ่งไม่เพียงเป็นปัญหาที่หยุดอยู่ในภาคการศึกษา แต่ยังส่งผลต่อเนื่องต่อประสิทธิภาพของตลาดแรงงานและเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

นอกจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แนวโน้มที่ส่งผลกระทบต่ออนาคตของมหาวิทยาลัยไทยในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การปฏิวัติทางเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ๆ กำลังกลายเป็นทางเลือกที่ดีกว่าและกำลังมาแทนที่มหาวิทยาลัยที่ปรับตัวไม่ทัน

ที่ผ่านมา การปฏิวัติทางเทคโนโลยีดิจิทัลเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเชื่อมโยงกันทางตรง โดยไม่ขึ้นอยู่กับระยะทางและเวลา ภายหลังการเติบโตขึ้นของโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 4G และบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตก็ยิ่งทำให้การติดต่อสื่อสารเกิดขึ้นอย่างสะดวกสบาย ภาคการศึกษาเองก็ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ จัดทำการเรียนการสอนทางไกลและการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ขึ้นมากมาย

ทศวรรษที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกโดยเฉพาะ MIT ได้ตัดสินใจนำหลักสูตร เอกสารและวิดีโอการสอนกว่า 100 วิชาเปิดให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ฟรีผ่านเว็บไซต์และ YouTube ทำให้นักศึกษาสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้โดยตรงเสมือนกำลังเรียนที่ MIT ต่อมามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และอื่นๆ ได้นำวิดีโอการสอนเปิดเผยให้ผู้สนใจสามารถเรียนรู้ได้ในหลายวิชาเช่นกัน

นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มใหม่ในลักษณะ MOOC (Massive Open Online Course) ซึ่งเป็นหลักสูตรออนไลน์แบบเปิด ได้เกิดขึ้นจำนวนมาก แพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงได้แก่ Khan Academy, Coursera, edX, Great Course Plus, Udemy, Lynda, Codecamp, Codeacademy และ Masterclass แพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ออกแบบการเรียนใหม่ และเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเรียนรู้รายวิชาที่สนใจ เรียนหลักสูตรเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือเรียนจนได้ประกาศนียบัตรหรือแม้แต่ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อมอบใบปริญญาบัตรให้ โดยเสียค่าใช้จ่ายที่ต่ำหรือหลายวิชาเปิดให้เรียนได้ฟรีๆ

ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม Masterclass ซึ่งเปิดโอกาสให้เรียนรู้จากผู้นำในวงการโดยตรง เช่น เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์กับพอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อดัง เรียนวิชาสร้างหนังกับโจดี้ ฟอสเตอร์ เรียนวิชาร้องเพลงกับคริสติน่า อากีเลร่า เรียนวิชาผู้นำธุรกิจกับโฮเวิร์ด ชูลทส์ ประธานบริษัทสตาร์บัคส์ เรียนเทนนิสกับเซเรน่า วิลเลี่ยม และวิชาต่างๆ อีกมาก ทั้งหมดนี้ในราคาเหมาจ่ายเพียง 450 บาทต่อเดือน

Coursera เปิดสอนวิชาที่น่าสนใจและใช้ได้กับตลาดแรงงานยุคใหม่จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น วิชา AI for Everyone (ปัญญาประดิษฐ์สำหรับทุกคน) ที่สอนโดย Angrew Ag ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ชั้นแนวหน้าของโลก ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และทำงานด้าน AI ให้ Google และ Baidu โดยเป็นวิชาที่เรียนได้ฟรี

Lynda มีวิชาจำนวนมากที่เน้นการเพิ่ม “ทักษะ” การทำงานยุคใหม่ ทั้งด้านซอฟต์แวร์ ครีเอทีฟ และทักษะธุรกิจ สอนโดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่งปัจจุบัน Lynda เป็นของ Microsoft บุคคลทั่วไปเรียนใน Lynda ได้ในราคาเหมาจ่าย 950 บาทต่อเดือน และเชื่อมโยงการเรียนไปยังประวัติการเรียนและการทำงานของตนเอง (CV) ใน LinkedIn ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเครือข่ายใหญ่ของกลุ่มคนทำงานทักษะสูงได้โดยตรง

นอกจากนี้ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่จำนวนมากได้หันมาสร้างหลักสูตรการสอนแก่นักศึกษาด้วยตนเองขึ้น ทั้ง Microsoft, Google, Oracle, Intel, Salesforce เพื่อป้อนแรงงานที่มีทักษะตรงตามความต้องการเข้าสู่บริษัทโดยตรง

ทั้งนี้ ในอนาคต เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีความจริงเสริม (AR) และเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (VR) จะยิ่งเปิดโอกาสให้การเรียนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการแนะนำการเรียนการสอนเฉพาะรายบุคคลให้ตรงตามความสนใจและพัฒนาการในการเรียนแต่ละขั้น รวมทั้งการแปลภาษาได้ทันทีและถูกต้อง ส่วนเทคโนโลยี AR และ VR จะช่วยเสริมการเรียนรู้วิชาที่ยากให้สามารถเห็นภาพตามได้ง่ายดายขึ้น และช่วยพาผู้เรียนไปเยี่ยมชมโลกเสมือนจริงในเรื่องที่กำลังศึกษาได้เป็นอย่างดี

การเกิดขึ้นของการปฏิวัติเทคโนโลยีดิจิทัลยังได้ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค จากอดีตที่คนหนุ่มสาวอายุ 18-22 ปีจะมุ่งหน้าไปสู่มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวเพื่อเรียนจบออกมาทำงาน แต่ในอนาคต คนหนุ่มสาวมีทางเลือกในการเรียนรู้ที่เปิดกว้างมาก จึงอาจเลือกเรียนหรือไม่เรียนมหาวิทยาลัยก็ได้ หรืออาจเลือกผสมผสานการเรียนมหาวิทยาลัยควบคู่กับเรียนหลักสูตรคอร์สออนไลน์ที่ตนเองสนใจ หรือเลือกเรียนหลายวิชาในหลายมหาวิทยาลัยไปพร้อมๆ กัน และสามารถออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับความสนใจและอาชีพการงานของตนเองในอนาคต

ดังนั้น มหาวิทยาลัยในอนาคตจึงจำเป็นต้องปรับโมเดลการเรียนการสอนแบบใหม่ให้สอดคล้องกับจำนวนนักศึกษาที่ลดลง พฤติกรรมของนักศึกษาที่เปลี่ยนไป ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉม การแข่งขันจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ๆ ตลอดจนการเปิดตลาดไปสู่กลุ่มคนในวัยอื่นๆ เช่น วัยทำงานและผู้สูงอายุที่ต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในตอนต่อไปเราจะมาสำรวจดูการปรับตัวครั้งใหญ่ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อก้าวเข้าสู่อนาคตในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้

โดย... 

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation