อาเซียนจะอยู่อย่างไรในเศรษฐกิจโลกแบบนี้

อาเซียนจะอยู่อย่างไรในเศรษฐกิจโลกแบบนี้

ต้นอาทิตย์ที่แล้ว ผมได้ไปเป็นวิทยากรให้กับงาน ASEAN MEDIA FORUM ในหัวข้อ “ขับเคลื่อนการรวมตัวอาเซียนไปข้างหน้า”

จัดโดย องค์การความร่วมมือเยอรมัน สำนักเลขาธิการอาเซียน โดยมีมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาลเป็นพันธมิตรร่วมจัดงาน ผมได้พูดถึงความท้าทายที่มีต่ออาเซียนขณะนี้ ในฐานะองค์กรความร่วมมือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังมีปัญหาและมีความไม่แน่นอนมาก โดยเฉพาะกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ที่แพร่กระจายและกำลังกระทบภาคธุรกิจอย่างสำคัญ และได้ให้ความเห็นว่า อาเซียนคงไม่มีทางเลือกอื่น แต่จะต้องขยายการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นกลไกสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

อาเซียนปัจจุบันเป็นภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จมากทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของการเจริญเติบโตและพลวัตทางเศรษฐกิจที่ทำให้เศรษฐกิจอาเซียนมีการพัฒนาต่อเนื่อง และปัจจัยสำคัญที่ได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียนก็คือ การเติบโตของการค้าระหว่างประเทศในอาเซียนด้วยกันเอง ที่ล่าสุดมีสัดส่วนประมาณ 25% ของการค้าของอาเซียนทั้งหมด เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจอาเซียนสามารถรักษาการเติบโตที่ดีได้หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ที่การค้าโลกชะลอตัวรุนแรงต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

ความสำเร็จของเศรษฐกิจอาเซียนมาจากหลายปัจจัย แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐเอเชียเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ประเทศในอาเซียนยึดนโยบายเศรษฐกิจเปิดทั้งการค้าและการลงทุน ทำให้เศรษฐกิจอาเซียนได้ประโยชน์จากการเติบโตของการค้าโลกและการเคลื่อนไหวของเงินทุนระหว่างประเทศ นอกจากนี้นโยบายที่อาเซียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดและการปฏิรูปเศรษฐกิจหลังปี 1997 ทำให้พื้นฐานการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนเข้มแข็งมากขึ้น และอีกประเด็นที่สำคัญ คือ ความร่วมมือของประเทศในอาเซียนร่วมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ในการจัดตั้ง การริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี หรือ CMIM ให้เป็นกลไกสอดส่องดูแลเศรษฐกิจในภูมิภาคพร้อมมีวงเงินที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ กลไกดังกล่าวได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในความสามารถของภูมิภาคอาเซียนที่จะดูแลตัวเองที่จะลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดขึ้นของวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าภูมิภาคอาเซียนหลังวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ปี 1997 และหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2008 ผลคือเศรษฐกิจอาเซียนได้ประโยชน์ต่อเนื่องจากระบบตลาดเสรีและโลกาภิวัฒน์ในระบบเศรษฐกิจโลก

แต่ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก 1. นโยบายกีดกันทางการค้าที่กำลังมีอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจโลก สะท้อนได้ชัดเจนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ส่งผลกระทบไปทั่วและมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อ 2.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นในทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป เอเชีย รวมถึงสหรัฐ ที่เป็นผลโดยตรงจากสงครามการค้า 3.แนวโน้มการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ปฎิเสธกลไกพหุภาคีในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางเศรษฐกิจ ตรงกันข้าม การแก้ไขมุ่งใช้การเจรจาต่อรองของคู่กรณี ทำให้การแก้ไขปัญหาถูกครอบงำโดยอิทธิพลของการเมืองระหว่างประเทศมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ

นี่คือภาพเศรษฐกิจโลกขณะนี้ที่ต่างจากเมื่อสิบปีก่อนมาก ที่ประเทศในอาเซียนเคยได้ประโยชน์

คำถาม คือ ทำไมเศรษฐกิจโลกถึงเปลี่ยนได้ขนาดนี้

ในเรื่องนี้ คำตอบของผม คือ ความผิดหวังของคนจำนวนมากต่อผลและประโยชน์ที่พวกเขาคาดหวังว่าจะได้จากระบบเสรีนิยมและโลกาภิวัฒน์ คือ ความผิดหวังในแนวคิดของความเป็นเสรีของตลาด ผิดหวังในผลที่เกิดขึ้นจากโลกาภิวัมน์ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น ที่ทำให้ชีวิตคนส่วนใหญ่ไม่ดีขึ้น และผิดหวังในการทำหน้าที่ของฝ่ายการเมืองในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ที่ไม่ตอบสนองต่อความเดือดร้อนและต่อเสียงเรียกร้องของผู้ที่ถูกกระทบให้แก้ไขปัญหา

สิ่งเหล่านี้ได้เปิดพื้นที่ให้นโยบายที่ตรงข้ามกับนโยบายเดิม เช่น การกีดกันทางการค้า และกระแสแอนตี้ระบบโลกาภิวัฒน์กลับมามีบทบาทในเวทีนโยบายระหว่างประเทศภายใต้กระแสการเมืองแบบประชานิยมที่มุ่งเอาใจประชาชนที่ถูกกระทบ เช่น กรณีสหรัฐและยุโรป นำไปสู่นโยบายที่ต่อต้านการรวมตัวและความเป็นสากลของเศรษฐกิจโลก เช่น กรณี Brexit ที่อังกฤษ

สำหรับภาคธุรกิจ การเปลี่ยนของนโยบายดังกล่าวส่งผลอย่างมากต่อธุรกิจ ทำให้บริษัทต่างๆ เริ่มลดความสนใจที่จะขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เช่น การค้า การลงทุน และการก่อตั้งโรงงานในต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจมีต่อธุรกิจในอนาคตจากความไม่แน่นอนของนโยบายและการกีดกันทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น ผลคือการชะลอตัวของการลงทุนและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างที่กำลังเกิดขึ้น เป็นพัฒนาการที่สวนทางกับสิ่งที่เศรษฐกิจอาเซียนเคยได้ประโยชน์ ที่อาจยืนระยะไปอีกนานพอควร

แล้วอาเซียนจะอยู่อย่างไรภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกแบบนี้

ในที่ประชุม ความเห็นของผู้ร่วมอภิปรายทั้งจากมาเลเซียและสิงคโปร์ต่างเห็นร่วมกันว่า ประเทศในอาเซียนคงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะทำให้ความรวมตัวของเศรษฐกิจอาเซียนสิบประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้นเพื่อเป็นฐานให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยใช้ความเข้มแข็งของการรวมตัวของเศรษฐกิจอาเซียนทดแทนระบบพหุภาคีในเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอยและเพื่อลดทอนผลกระทบจากกระแสแอนตี้โลกาภิวัฒน์ เพื่อให้เศรษฐกิจอาเซียนสามารถเติบโตได้ดีต่อไป

ในความเห็นของผม ความร่วมมือและการรวมตัวของประเทศในอาเซียนที่ควรมีมากขึ้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น 1.เปิดเสรีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนให้มากขึ้น เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนผลิตภาพและการเติบโตของเศรษฐกิจ 2.ขยายความเชื่อมต่อระหว่างตลาดทุนในภูมิภาค ให้เกิดการลงทุนข้ามพรมแดนระหว่างประเทศในอาเซียนอย่างสะดวกที่จะช่วยลดต้นทุน ขยายโอกาสทางธุรกิจ และแชร์ความเสี่ยงของการลงทุน 3. ร่วมมือกันทางนโยบายมากขึ้นระหว่างรัฐบาลในอาเซียน เพราะผลกระทบที่มาจากเศรษฐกิจโลก เช่น การไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ เป็นปัญหาระดับสากลที่นโยบายระดับประเทศจะไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไข 4.ร่วมกันลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและกลไก(Platform) ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อสร้างการเชื่อมต่อ ลดต้นทุนและขยายประโยชน์ที่ได้จากขนาดที่ใหญ่ขึ้นไปสู่ทุกภาคส่วน และ  5.ใช้พลังร่วมของอาเซียนผลักดันและเปลี่ยนแปลงนโยบายในเวทีเศรษฐกิจโลกเพื่อประโยชน์ร่วมกันของอาเซียน

เหล่านี้คือทางออกที่เป็นไปได้และเป็นประเด็นที่ได้ให้ความเห็นไป