Japanification: เมื่อโลกจะกลายเป็นญี่ปุ่น
สำหรับผู้ติดตามบทความของผู้เขียน จะพอทราบว่ามุมมองของผู้เขียนต่อเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้านั้นไม่สดใสนัก
โดยแม้ว่าเศรษฐกิจโลกไม่น่าจะเกิดวิกฤตภายใน 1-2 ปีข้างหน้า แต่ก็จะเติบโตต่ำ ทั้งจากประชากรสูงวัยทั่วโลกที่ทำให้กำลังแรงงานน้อยลง จากหนี้ที่อยู่ระดับสูงทำให้มีภาระทางการเงินสูง และทั้งจากปัจจัยรอบด้านที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและอึมครึม (VUCA) โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้าที่ผันไปเป็นสงครามเย็นเศรษฐกิจ
ภาวะเหล่านี้ทำให้ความกังวลของนักธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลกมีมากขึ้น จึงหันไปถือสินทรัพย์ที่ถูกมองว่าปลอดภัย (Safe haven) อย่างพันธบัตรรัฐบาล จนทำให้กว่า 30% ของผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลก (ประมาณ 17 ล้านล้านดอลลาร์) ติดลบ ซึ่งหมายความว่า หากซื้อพันธบัตรเหล่านี้ และถือจนครบกำหนดแล้ว จะได้เงินคืนน้อยกว่าตอนซื้ออย่างแน่นอน แต่แม้จะการันตีว่าขาดทุน นักลงทุนก็ยังซื้อเพราะกังวลในความเสี่ยง
นักการเงินบางกลุ่มเรียกภาวะเหล่านี้ว่า "Japanification" หรือภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนโลกที่เลียนแบบญี่ปุ่น
ภาวะ Japanification นี่น่ากลัวยิ่ง เพราะหากเป็นจริงแล้วเศรษฐกิจโลกจะซึมเซาในอีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้าเป็นอย่างน้อย ดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับศูนย์ถึงติดลบ การลงทุนจะไม่ไปไหน และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้นจนอาจนำไปสู่ภาวะสงครามทางชนชั้น
เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพ ผู้เขียนจึงขอนำเสนอภาพของเศรษฐกิจญี่ปุุ่นในช่วงทศวรรษที่ 90 อันเป็นจุดเริ่มต้นของ Japanification ดังนี้
ในช่วงทศวรรษที่ 80 เศรษฐกิจญี่ปุ่นรุ่งเรืองมาก จากการที่แพ้สงคราม ทำให้ญี่ปุ่นหันมาสร้างเศรษฐกิจในประเทศด้วยความขยัน สู้งาน และมีเทคนิคการบริหารจัดการแบบใหม่ (เช่น Just-in-time Delivery) ประกอบกับนโยบายเงินเยนอ่อนค่า ทำให้การส่งออกญี่ปุ่นพุ่งขึ้นมาก ขณะที่การส่งออกประเทศอื่น ๆ ตกต่ำลง
ประเทศชั้นนำ 4 ประเทศ จึงบีบบังคับให้ญี่ปุ่นผลักดั
นให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นในปี 1985 (หรือที่เรียกกันว่า Plaza Accord) เงินเยนจึงแข็งค่าขึ้นจาก 260 เยนต่อดอลลาร์ไปเป็น 84 เยนในปี 1992 จนทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มตกต่้ำ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงผลักดันให้เศรษฐกิจภายในประเทศร้อนแรงด้วยการเร่งปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคาร นำไปสู่ภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาฯ
เมื่อฟองสบู่แตกในปี 1991-92 ทางการญี่ปุ่นจึงต้องลดดอกเบี้ยและเข้าช่วยเหลือธนาคารและบริษัทขนาดใหญ่ที่ลงทุนสุ่มเสี่ยงในช่วงก่อนหน้า ทำให้บริษัทเหล่านั้นยังดำเนินธุรกิจอยู่ได้ทั้ง ๆ ที่ควรจะล้มละลายไปแล้ว (หรือที่เรียกว่า “ซอมบี้”)
แต่แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะลดดอกเบี้ยมหาศาล แต่ภาคเอกชนและประชาชนญี่ปุ่นก็ไม่บริโภคและลงทุนเพิ่ม อันเป็นผลจากสภาวะสังคมที่มีลูกน้อย อายุยืน และมีแนวโน้มเก็บออมมากกว่า และเมื่อผนวกกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ภาคเอกชนจึงลดการจ้างงาน โดยหากจ้างก็จ้างเป็นพนักงานชั่วคราวมากกว่า ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่อง
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามาใช้จ่ายแทน โดยทำนโยบายการคลังขาดดุล เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาครัฐ จนนำไปสู่ภาวะระดับหนี้สาธารณะที่สูงที่สุดในโลกที่ 200% ต่อ GDP แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้น เงินเฟ้อต่ำลงเรื่อย ๆ จนเฉลี่ยประมาณ 0% ใน 3 ทศวรรษ ทำให้ไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ และทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีเฉลี่ยอยู่ที่ 0% ตั้งแต่ปี 2016
หากกลับมาดูภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน จะพบว่ามีความคล้ายคลึงญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 90 หลายประการ เช่น (1) เศรษฐกิจโลกตกต่ำจากภาวะวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008-09 และนำไปสู่การกระตุ้นทางการเงินขนานใหญ่ (ทั้้งการลดดอกเบี้ยและ QE) จนประสิทธิภาพลดลง
(2) ภาวะสังคมสูงวัยเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยอัตราการเติบโตของประชากรในประเทศขนาดใหญ่ของโลกอยู่ในระดับเดียวกับญี่ปุ่นในทศวรรษที่ 90 (ประมาณ 0.2-0.3% ต่อปี)
(3) เงินเฟ้อตกต่ำลงมากเนื่องจากภาวะสังคมสูงวัย (ที่ความต้องการสินค้าและบริการลดลง) ประกอบกับภาคการผลิตที่มีประสิทธิภาพเนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง และ
(4) ด้านการคลังยังพอมีช่องทางให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
ด้วยภาพเช่นนี้ ทำให้ผู้เขียนมองว่า เป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจและการลงทุนโลกนับจากนี้จะเผชิญกับภาวะ Japanification ดังนี้
เศรษฐกิจนับจากนี้จะผันผวนและตกต่ำลง นโยบายการเงินจะถูกนำมาใช้จนกระสุนหมด ดอกเบี้ยจะต่ำทั่วโลก หลังจากนั้น รัฐบาลทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาจะหันมาใช้นโยบายการคลังแทน โดยรัฐบาลทำนโยบายการคลังขาดดุลและทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นมาก แต่ผลตอบแทนพันธบัตรก็จะไม่ปรับสูงขึ้นมากนักเนื่องจากเงินเฟ้อที่ต่ำกดดันไว้
ในส่วนของตลาดหุ้นนั้น อาจอยู่ในภาวะที่เติบโตต่ำเนื่องจากศักยภาพเศรษฐกิจและความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง ซึ่งภาวะที่เติบโตต่ำและดอกเบี้ยต่ำนี้นั้น จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นเพิ่มมากขึ้น เพราะรายได้ส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ในบางกลุ่ม เช่น เจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้นในบริษัทขนาดใหญ่ และแรงงานที่มีทักษะสูง ขณะที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้รับประโยชน์มากนัก
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้เขียนมองว่าเป็นไปได้สูงที่โลกจะเข้าสู่ภาวะ Japanification แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าโลกจะรอดพ้นจากภาวะดังกล่าว จากปัจจัย 3 ประการ คือ (1) การดำเนินนโยบายการคลังขาดดุล นำไปสู่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั่วโลก (2) กำเนิดเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโฉมการผลิตและการใช้ชีวิต และได้รับการยอมรับในวงกว้าง เช่น ยานยนต์ไร้คนขับ และ (3) กระแส “โลกาภิวัฒน์” ที่ลดกฎเกณฑ์ด้านการค้า การลงทุน การเงิน และการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับมาอีกครั้ง โดยปัจจัยทั้ง 3 นี้ นำไปสู่การผลิต การค้า การคมนาคมขนส่ง และการดำเนินชีวิตที่มีประสิทธิภาพ และผลักดันให้ผลิตภาพ (Productivity) ของโลกเพิ่มสูงขึ้นได้
ในปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะ “ไม่แตก ไม่ตาย แต่ไม่โต” ส่วนในอนาคต ผู้เขียนกลัวเหลือเกินว่าโลกจะเข้าสู่ภาวะ Japanification หรือเศรษฐกิจ “ซอมบี้” เช่นเดียวกับญี่ปุ่น
ได้แต่ภาวนาว่า ผู้เขียนจะผิด
[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]