เกษียณเร็ว หรือช้า อายุยืน?
เป็นประเด็นที่นักวิจัยทั่วโลกถกเถียงกันมาตลอดว่าเกษียณเร็ว หรือเกษียณช้า ที่จะทำให้คนเรามีอายุยืนมากกว่ากัน
หลายๆประเทศมีอายุเกษียณที่ประชาชนจะเริ่มมีสิทธิได้รับบำนาญชราภาพ ที่กำหนดไว้ตายตัว หรือเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่กำหนด หรือปรับไปตามอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) โดยในปัจจุบันอายุเกษียณของประเทศต่างๆนั้นแตกต่างกันไป เช่น อายุ 67 ปี (นอรเวย์) 65.5 ปี (ออสเตรเลีย) 60 – 65 ปี (อังกฤษ) 62 – 65 ปี (สหรัฐฯ) 58 – 60 ปี (อินเดีย) 50 – 60 ปี (จีน) 55 ปี (ไทย) เป็นต้น
การศึกษาวิจัยในหลายๆประเทศในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ หรือยุโรป ให้ข้อสรุปที่ไม่ได้เป็นไปในทางเดียวกัน งานวิจัยส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปว่าการยืดระยะเวลาการเกษียณออกไป ช่วยลดอัตราการตายลงได้ ในขณะที่งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นถึงผลทางลบจากการเกษียณช้า หรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการเกษียณก่อนกำหนด และในงานวิจัยบางงานกลับไม่พบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญระหว่างอายุเกษียณกับการที่อายุจะยืนยาวขึ้นหรือไม่
แม้กระทั่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ก็ยังมีงานวิจัยที่มีผลแตกต่างกันออกมา โดยผลงานการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร Harvard Business Review เมื่อปี 2016 โดย Chenkai Wu นักศึกษาปริญญาเอกจาก Oregon State University ร่วมกับคณาจารย์จาก Oregon State University และ Colorado State University ได้ทำการศึกษาคนอเมริกันอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ที่เกิดระหว่างปี 1931 - 1941 จำนวน 2,956 คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างนี้ส่วนใหญ่เกษียณที่อายุ 65 ปี โดยพบว่าผู้เกษียณที่อายุ 66 ปี มีอัตราการตายลดต่ำลงถึง 11% และแม้แต่ผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงในกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,022 คน การเกษียณช้าไป 1 ปี ก็มีผลให้อัตราการตายลดลง 9% เช่นกัน
การวิจัยข้างต้นแบ่งกลุ่มอาชีพออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ งานสำนักงาน งานบริการ งานใช้แรงงาน และคำนึงถึงเพศสภาพ ชาติพันธุ์ อายุ การศึกษา สถานภาพการสมรส ฐานะทางการเงิน ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และไลฟ์สไตล์ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การออกกำลังกาย ดัชนีมวลกาย รายงานสุขภาพ และภาวะทุพพลภาพ รวมถึงโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจ
ผลการวิจัยนี้สรุปได้ว่ามนุษย์อาจเกษียณจากการทำงานช้าลงได้ แม้ร่างกาย รวมถึง สมาธิ ความสามารถในการจำ และการรับรู้เริ่มเสื่อมถอยลง เนื่องจากการทำงานช่วยให้ร่างกายและสมองยังคงความตื่นตัว โดยหากมนุษย์ยังคงกะตือรือร้น และมีส่วนร่วมทางสังคม ก็จะช่วยรักษาระดับความสามารถทางร่างกายและกระบวนการรู้คิดเอาไว้ได้
ในขณะที่งานวิจัยอีกงานหนึ่งจัดทำโดยกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์จาก University of Amsterdam และเผยแพร่ในปี 2017 ซึ่งทำการศึกษาข้าราชการชายของประเทศเนเธอร์แลนด์ (ข้าราชการหญิงที่เข้าเงื่อนไขการเกษียณก่อนระยะเวลา มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะทำการศึกษาได้) อายุตั้งแต่ 54 ปีขึ้นไปที่เกษียณก่อนระยะเวลาที่กำหนด พบว่ามีโอกาสน้อยลงถึง 42% ที่จะเสียชีวิตในช่วง 5 ปี ภายหลังการเกษียณ เมื่อเทียบกับคนที่ยังคงทำงานต่อเนื่อง
โดยกลุ่มผู้วิจัยให้เหตุผลว่าการเกษียณเร็วกว่าปกติ ช่วยเปิดโอกาสให้ข้าราชการเหล่านี้มีเวลาที่จะลงทุนกับสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนนอนหลับ การออกกำลังกาย หรือการปรึกษาแพทย์ทันทีที่เกิดอาการผิดปกติใดๆ
นอกจากนี้ โดยปกติแล้วการทำงานนั้นสร้างความเครียด ในขณะที่การเกษียณอายุช่วยลดภาวะความเครียดลงได้ ซึ่งความเครียดก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นที่มาของโรคความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายแรงทั้งหลาย ข้าราชการที่เกษียณอายุเร็วกว่าปกติในการการศึกษานี้ มีโอกาสน้อยลงอย่างมากที่จะเสียชีวิตจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตก หรือโรคหัวใจ
งานวิจัยเหล่านี้แม้ว่าผลออกมาจะแตกต่างกันด้วยหลายปัจจัย แต่สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะนำมาปรับใช้กับชีวิตได้ คือ แม้จะยังคงทำงานอยู่ แต่ก็ควรแบ่งเวลาให้กับร่างกาย ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงตรวจสุขภาพเป็นประจำ และเมื่อถึงช่วงเกษียณอายุ ก็อาจเลือกที่จะทำงานแบบไม่เต็มเวลา เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายและสมองยังคงความตื่นตัวไว้ได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้มีโอกาสที่จะมีอายุยืนยาวขึ้นแล้ว ยังช่วยยืดระยะเวลาให้เรามีรายได้เพียงพอกับการใช้จ่ายในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นด้วย