นโยบายทางเลือกอื่นที่ดีกว่า “ชิมช้อปใช้”
มีคำถามสำคัญอย่างน้อย 2 ข้อใหญ่ สำหรับ นโยบาย “ชิมช้อปใช้” ที่กำลังกลายเป็นนโยบายยอดฮิตในเวลานี้
ที่รัฐบาลอดใจไม่ได้ที่จะต้องเร่งออกมาตรการในระยะที่สองตามมาในเร็ว ๆ นี้ ก็คือ ข้อแรก มาตรการดังกล่าวนี้ใช้ได้ผลสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเพื่อทำให้ประชาชนกลับมาใช้จ่ายอย่างสะพัดเพิ่มมากขึ้น จริงหรือไม่ และ ข้อที่สองคือ หากเปรียบเทียบมาตรการนี้กับนโยบายทางเลือกอื่นที่เป็นรูปธรรม เช่น การใช้เงินจำนวนเดียวกันนี้เพื่อไปกระตุ้นช่วยให้ประชาชนในวัยทำงานที่อยู่ในเขตเมืองและอื่น ๆ สามารถมีทางเลือกในการเพิ่มเวลาการทำงานของตนเองให้เพิ่มมากขึ้นได้เป็นต้น จะดีกว่าหรือไม่ เพราะอะไร
กระแสตอบรับอย่างล้นหลามต่อมาตรการ “ชิมช้อบใช้” เฟสที่หนึ่ง ที่รัฐบาลดำเนินการแจกเงิน 1,000 บาทให้แก่ประชาชนที่มาลงทะเบียนกับมาตรการนี้ โดยคาดหวังเป้าหมายไว้ประมาณ 10 ล้านคน เพื่อจะกระตุ้นกำลังซื้อที่ซบเซาให้กลับมาสะพัดอีกครั้ง และได้ประกาศเพิ่มเติมเมื่อไม่นานมานี้ว่า จะได้มีมาตรการชิมช้อปใช้ เฟสที่สอง ที่จะมีเพิ่มใหม่อีก 2 มาตรการคือ “100 เดียว เที่ยวทั่วไทย” และ “เที่ยวธรรมดา ราคาช็อกโลก” ที่มุ่งเน้นกระตุ้นการท่องเที่ยวและเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว เพื่อจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมต่อไปนั้น แต่ปัญหาที่แท้จริงของมาตรการนี้ตามที่พบจากข้อมูลของธนาคารกรุงไทยตามรายงานข่าว ก็คือว่า การใช้เงินของประชาชนที่ลงทะเบียนและใช้จ่ายผ่าน “แอพพลิเคชั่นเป๋าตัง” นั้น ส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่แต่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเท่านั้น ไม่ได้กระจายตัวไปยังเมืองรองหรือชุมชนเล็ก ๆ อย่างที่รัฐบาลได้ตั้งใจไว้ สาเหตุหลักก็เป็นเพราะว่า มาตรการชิมช้อปใช้นี้เป็นมาตรการที่มีลักษณะเหมือนการเหมาหว่านกลาย ๆ จึงทำให้ผู้ใช้สิทธิ์สามารถเลือกว่าจะใช้เงินเพื่อไปซื้อของใช้แทนการออกไปท่องเที่ยวอย่างจริงจังในเมืองรองได้ ทั้งนี้เพราะเงื่อนไขมีอยู่เพียงว่า ให้ผู้มีสิทธิ์ไปใช้จ่ายในเขตนอกจังหวัดที่ตัวเองมีทะเบียนบ้านอยู่เท่านั้นนั่นเอง
คำถามที่รัฐบาลควรต้องถามตัวเองก่อนก็คือว่า ทำไมผู้มีสิทธิ์จึงมีพฤติกรรมการใช้สิทธิ์ในการใช้เงินที่ได้ไปเพื่อการซื้อของใช้ที่จำเป็นในจังหวัดใกล้เคียงมากกว่าที่จะออกไปท่องเที่ยวในเมืองรองตามที่รัฐบาลได้คาดหวังไว้ตั้งแต่แรก
คำตอบที่ตรงไปตรงมาแบบไม่หลอกตัวเองก็คือว่า มาตรการ “ชิมช้อปใช้” นี้เป็นผลผลิตมาจากหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ในเรื่อง “ผลของตัวคูณที่เกิดจากการใช้จ่ายรายได้” ตามทฤษฎีสำนักเคนส์เซียนที่บอกว่าหากประชนชนมีรายได้ในระยะสั้นที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว พวกเขาก็จะจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งรวมถึงการไปท่องเที่ยวในเมืองรองต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งรายจ่ายเหล่านี้ก็จะกลายเป็นรายได้ของพ่อค้าแม่ค้าในเมืองท่องเที่ยวรองทั้งหลายอีกต่อหนึ่ง และเมื่อพ่อค้าและแม่ค้าเหล่านี้ ได้มีรายได้จากธุรกิจที่สะพัดมากขึ้นนี้ พวกเขาก็จะไปหาซื้อวัตถุดิบเพื่อมาผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งก็จะไปสร้างรายได้ให้กับเหล่าผู้ผลิตวัตถุดิบทั้งหลายอีกต่อหนึ่ง จนกลายเป็นผลของตัวคูณทางรายได้ที่เกิดจากความเชื่อมโยงไปข้างหลังของกระบวนการผลิตในเมืองท่องเที่ยวรอง และนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุดนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่สำคัญของแนวคิดเหล่านี้ ก็คือว่า เมื่อคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นั้นไม่สู้ดีนัก ประชาชนส่วนใหญ่ก็มักจะเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องการลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้เหลือน้อยลง เพราะพวกเขาจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือกับความไม่แน่ไม่นอนของภาวะเศรษฐกิจในอนาคตด้วย คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะใช้เงิน 1,000 บาทที่ได้มาไปซื้อสินค้าที่จำเป็นตามเงื่อนไขของมาตรการชิมช้อปใช้ มากกว่าที่จะใช้เงินเหล่านั้นไปเพื่อการท่องเที่ยวเมืองรอง เพราะเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเพียงรายได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น และการที่ผู้มีสิทธิ์เร่งซื้อของกินของใช้ก่อนในช่วงนี้ก็เพื่อหวังที่จะสามารถลดรายจ่ายในเรื่องเหล่านี้ในภายหลัง ซึ่งหมายความว่าโดยรวมสุทธิแล้วมาตรการนี้อาจไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มมากขึ้นสักเท่าไหร่ก็ได้ เพราะมาตรการชิมช้อปใช้นี้ ไม่ได้ทำให้รายได้ในระยะยาวของประชาชนเพิ่มขึ้นแต่อย่างไร ทั้ง ๆ ที่การใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่ (ในยามที่เศรษฐกิจไม่สู้ดีนั้น) มักจะขึ้นอยู่กับรายได้ในระยะยาวมากกว่ารายได้ในระยะสั้น มาตรการชิมช้อปใช้จึงไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนที่มีสิทธิ์ส่วนใหญ่นั้นออกไปท่องเที่ยวในเมืองรองได้ตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้นั่นเอง
คำถามสำคัญถัดมาก็คือว่า แล้วรัฐบาลมีทางเลือกเชิงนโยบายอย่างอื่นที่ดีกว่า “ชิมชอบใช้” หรือไม่
คำตอบก็คือ “มี” แน่นอน ขอยกเพียงหนึ่งตัวอย่างดังนี้คือ แทนที่รัฐบาลจะใช้จ่ายเงินเพื่อหวังจะเพิ่มอุปสงค์มวลรวมในระยะสั้นของประชาชนเหมือนที่ทำอยู่ในขณะนี้และที่ผ่าน ๆ มา รัฐบาลก็อาจสามารถที่จะใช้เงินจำนวนเดียวกันนี้ไปกระตุ้นผ่านกลไกตลาดเพื่อช่วยให้ประชาชนในวัยทำงานที่อยู่ในเขตเมืองและอื่น ๆ ที่ยังมีภาระต้องดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุในครอบครัว เพื่อให้พวกเขาสามารถที่จะมีทางเลือกในการเพิ่มเวลาในการทำงานของตนเองให้เพิ่มมากขึ้นได้ หากรัฐมีการให้เงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องการจัดหาและใช้บริการที่มีคุณภาพดีเรื่องการดูแลเด็กเล็กและคนสูงอายุที่เป็นบริการที่มีคุณภาพที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งการให้เงินช่วยเหลือในลักษณะแบบนี้ (public expenditures on day care and elderly care) นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กเล็กและผู้สูงอายุในสังคมเมืองและอื่น ๆ โดยรวมแล้ว ก็ยังจะมีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของหัวหน้าครัวเรือนในการเพิ่มชั่วโมงการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้นเพราะพวกเขาสามารถเบาใจที่จะลดเวลาในการดูแลเด็กเล็กและคนสูงอายุในครัวเรือนด้วยตนเองให้ลดน้อยลงได้ ทำให้พวกเขาสามารถตั้งใจสร้างฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวให้มั่นคงและดีขึ้นในระยะยาวได้ ซึ่งก็จะส่งผลโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวนี้ก็มีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า สามารถใช้ได้ผลจริงในต่างประเทศที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศตัวอย่างที่ประเทศไทยใฝ่ฝันอยากจะไปให้ถึงด้วยการพยายามที่จะก้าวข้ามกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลางกันอยู่ในเวลานี้นั่นเอง