ตลาดหุ้นทั่วโลก.. หลังตลาดหุ้นจีนกลับมาเปิด?
มนุษยชาติเราได้ห่างหายภาวะการติดเชื้อแบบระดับโลกจริงๆ ไปแล้วกว่า 18 ปี การกลับมาของไวรัสโคโรน่า ในช่วงต้นปี 2020
นับเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนในช่วงปลายปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ทางการจีนได้ประกาศเลื่อนการเปิดทำการอีกครั้งของตลาดหุ้นของจีนหลังเทศกาลตรุษจีนมาเป็นสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าจะเป็นวันที่ 3 ก.พ. หรืออย่างช้าสุดน่าจะเป็น 7 ก.พ. โดยบทความนี้ จะขอกล่าวถึงว่าคำถามคือในวันนั้น ตลาดหุ้นจีนและตลาดทั่วโลก จะเป็นเช่นไร รวมถึงจุดต่ำสุดของตลาดหุ้นต่างๆ จากโรคไวรัสโคโรน่าในครั้งนี้ น่าจะอยู่ตรงไหน แต่ก่อนอื่น จะขอเปรียบเทียบระหว่างโรคซาร์สกับ ไวรัสโคโรน่า ว่าเป็นเช่นไร
จากตาราง จะพบว่า การติดต่อของซาร์สน่าจะถือว่าติดต่อกันได้ง่ายกว่าโคโรน่า โดยที่ซาร์สสามารถติดต่อกันด้วยการหายใจ ในขณะที่โคโรน่าต้องมีการสัมผัสเชื้อผ่านส่วนที่เป็นใบหน้า อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าการขนส่งและการเดินทางของคนจีนไปทั่วเมืองจีนและทั่วโลกในวันนี้ ถือว่ามีมากกว่าเมื่อ 18 ปีก่อนหลายเท่าตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่จำนวนรายที่พบในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะมีจำนวนมากกว่าซาร์ส ทว่าในครั้งนี้ มองทางการจีน ทำได้รวดเร็วและเฉียบขาดกว่าช่วงซาร์ส โดยช่วงเวลาระหว่างการพบคนไข้รายแรกกับการใช้มาตรการเด็ดขาดของทางการจีนในครั้งนี้อยู่ที่ราว 3 สัปดาห์ ในขณะที่ช่วงซาร์สใช้เวลาราว 3 เดือน รวมถึงเปิดเผยข้อมูลต่อภายนอกมากกว่าครั้งที่แล้วเยอะ อย่างไรก็ดี ในครั้งนี้ มีการพบผู้ติดเชื้อในไทยด้วย ทว่าในช่วงซาร์สไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อในบ้านเรา โดยเหตุการณ์ซาร์สกินเวลาทั้งหมด 8 เดือน โดยเข้าสู่ช่วงที่ระบาดสูงสุดหลังผ่านไปราว 4 เดือน
สำหรับการการเปิดทำการอีกครั้งของตลาดหุ้นของจีนที่คาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้า คำถามคือจะติดลบรุนแรงไหม โดยสถิติที่รุนแรงสุด คือเหตุการณ์Taper Tantrum ของเบน เบอร์นันเก้และการลดค่าเงินหยวนในช่วง ส.ค. 2015 ตลาดหุ้นจีนติดลบสูงสุดที่ 8.7% โดยที่ในวันนั้น ตลาดหุ้นไทยและญี่ปุ่นติดลบที่ 4.9% ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐติดลบที่ 3.9% ดังรูปที่ 1-3
โดยตอนที่ตลาดหุ้นจีนผันผวนและติดลบหนักๆ ในช่วงดังกล่าว ตลาดหุ้นไทยลงแรงแบบตีหัวเข้าบ้าน โดยที่ลงแบบหนักๆ ใน 2 วันนั้นแล้วก็ขยับลงแบบเล็กน้อยโดยมีปรับขึ้นบ้างสลับกันในเวลาต่อมา
ในขณะที่ตอนตลาดหุ้นจีนผันผวนและติดลบหนักๆ ในช่วงดังกล่าว ตลาดหุ้นสหรัฐไม่ได้ลงแบบหวือหวา ทว่าลงแบบที่ค่อนข้างสัมพันธ์การตกลงของตลาดหุ้นจีนในช่วงนั้นพอสมควรแบบเป็นระยะต่อเนื่องหลายเดือน ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นถือว่าเป็นส่วนผสมของตลาดหุ้นไทยและสหรัฐ คือทั้งลงในระดับค่อนข้างหนักและลงแบบที่ค่อนข้างสัมพันธ์การตกลงของตลาดหุ้นจีนในช่วงนั้นพอสมควรด้วย
นั่นคือ ในภาพรวม ตลาดญี่ปุ่นน่าจะถือว่าสัมพันธ์กับตลาดหุ้นจีนมากที่สุด ส่วนตลาดหุ้นไทยมีหนักจริงๆ ในวันต้นๆ ของวิกฤต ส่วนตลาดสหรัฐลงแบบไม่หวือหวาแต่ล้อไปกับตลาดจีนนานพอสมควร
มาถึงคำถามสุดท้าย จุดต่ำสุดของตลาดหุ้นต่างๆ จากโรคไวรัสโคโรน่าในครั้งนี้ น่าจะอยู่ตรงไหน? หากใช้ข้อมูลในช่วงโรคซาร์สมาเป็นหลักอ้างอิง โดยใช้สมมติฐานความรุนแรงของไวรัสโคโรน่าเป็นครึ่งหนึ่งของโรคซาร์ส จะพบว่าจาก ณ ระดับดัชนีหุ้นช่วงก่อนทราบข่าวไวรัสโคโรน่า ดัชนีหุ้นจีนน่าจะลดลงราว 9.8% โดยที่ตลาดหุ้นฮ่องกง น่าจะลดลงราว 7.1% ส่วนตลาดหุ้นดาวน์โจนส์และนาสแด็ค น่าจะลดลงราว 7.2% และ 5.5% ตามลำดับ ด้านตลาดหุ้น FTSE100 น่าจะลดลง 4.2% ท้ายสุดตลาดหุ้นญี่ปุ่นน่าจะลดลง 8.1% โดยที่ช่วงเวลาที่เป็นจุดต่ำสุดของดัชนีหุ้นทั่วโลก น่าจะมีโอกาสเป็นช่วงปลายไตรมาสแรกปีนี้มากที่สุด
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ณ ปัจจุบัน การที่เทคโนโลยีการแพทย์ที่ล้ำหน้ากว่าในอดีตเป็นอย่างมาก และการขนส่งและเดินทางทั่วโลกของชาวจีนที่มีมากกว่าในอดีตอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้ผลของการคาดการณ์ทั้งหมดนี้ อาจจะดีหรือแย่กว่าความเป็นจริงอยู่ไม่มากก็น้อยครับ
หมายเหตุ: หากท่านสนใจงานสัมมนามุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2020 : “The way to Invest in 20/20” ในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2563 เวลา 09.00-16.30 น. สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง fb.com/MacroView