สเตเบิลคอยน์ (Stablecoins) ในประเทศไทย ความหวังใหม่ท่ามกลางความท้าทาย
จากงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 ที่อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวว่ากระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการออก Stablecoins โดยใช้พันธบัตรรัฐบาลเพื่อค้ำประกัน และเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในนโยบายที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้
ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล Stablecoins มีความสำคัญ ในฐานะเงินสกุลหลักที่นักลงทุนใช้ในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และลงทุนในตลาดการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Finance: DeFi)
หากรัฐบาลต้องการเป็นผู้นำในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล การออก Stablecoins อาจเป็นแนวนโยบายที่สนับสนุนและวางรากฐานให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยเติบโตได้อย่างแข็งแรงและมั่นคง
อย่างไรก็ดี ประเด็นคำถามที่น่าสนใจ คือ อะไรคือความท้าทายของการออกและการใช้ Stablecoins ที่รัฐบาลควรคำนึงถึง
Stablecoins หรือ เหรียญดิจิทัลที่มีกลไกคงความเสถียรทางมูลค่า (เหรียญดิจิทัลฯ) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีกลไกรักษามูลค่า
โดยผู้ออกเหรียญดิจิทัลฯ อาจใช้เงินสกุลของประเทศต่าง ๆ (fiat-backed stablecoins) สินทรัพย์ทางการเงิน (asset-backed stablecoins) หรือใช้ระบบอัลกอรึทึม (algorithmic stablecoins) เพื่อคงมูลค่าของเหรียญดิจิทัลก็ได้
อาทิ หากผู้ออกเหรียญดิจิทัลฯ ประกาศว่าเหรียญดิจิทัลนั้นมีมูลค่า 1 บาท ผู้ออกจำต้องหาเงิน 1 บาท หรือสินทรัพย์ทางการเงินที่มีมูลค่าเท่ากันมาหนุนหลัง เพื่อให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่ามูลค่าของเหรียญดิจิทัลจะยังคงมีมูลค่าตามที่ผู้ออกประกาศ
ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น Stablecoins ที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดสามลำดับแรกของโลกในปัจจุบัน คือ Tether (หรือ USDT) USD Coin (หรือ USDC) และ DAI
เหรียญดิจิทัลฯ ใช้เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (distributed ledger technology) และสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) นำไปสู่การใช้งานที่หลากหลาย
เช่น การโอนเงินข้ามประเทศอย่างรวดเร็วและประหยัด รวมถึงการเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยรักษามูลค่าในประเทศที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อ ในตลาดการเงินแบบกระจายศูนย์
สัญญาอัจฉริยะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินและการบังคับใช้สัญญาโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็น การกู้ยืมหรือการทำธุรกรรมทางการเงินอื่น ๆ ทำให้การประยุกต์ใช้เหรียญดิจิทัลฯ มีความหลากหลายและเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
การใช้งาน Stablecoins นำมาซึ่งทั้งโอกาสและความท้าทายในด้านเศรษฐกิจการเงิน หนึ่งในความท้าทายหลักคือการที่ประสิทธิภาพนโยบายการเงินของธนาคารกลางอาจถูกลดทอน
โดยเหรียญดิจิทัลฯ จะเป็นสินทรัพย์ทางเลือกในกรณีที่ธนาคารกลางตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่าศูนย์และทำให้นโยบายการเงินไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจตามความตั้งใจได้
นอกจากนี้ เหรียญดิจิทัลฯ ยังส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์โดยอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน โดยเฉพาะหากเกิดการผันผวนของมูลค่าเหรียญดิจิทัลฯ ที่สามารถทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่ถือเหรียญดิจิทัลฯ ขาดทุนจนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องหรือต้องเผชิญกับการล้มละลาย
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการฝากเงินของประชาชนที่หันไปถือเหรียญดิจิทัลฯ แทน อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ประสบปัญหาระดมเงินฝากได้
การออกและการใช้งานเหรียญดิจิทัลฯ ในประเทศไทยเพื่อการชำระหนี้อาจขัดกับพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ที่วางหลักไม่อนุญาตให้ใช้ Stablecoins ในการชำระหนี้ (ซึ่งรวมถึงการชำระราคาในการซื้อขายสินค้าและบริการ)
นอกจากนี้ การออกและการดำเนินการของเหรียญดิจิทัลฯ ต้องคำนึงถึงการจัดการสินทรัพย์หนุนหลังอย่างเหมาะสม เพื่อรักษามูลค่าและเสถียรภาพของเหรียญดิจิทัลฯ
การเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์หนุนหลังที่ชัดเจนและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ใช้งานทั่วไปให้ได้รับการคุ้มครองและสามารถใช้งานเหรียญดิจิทัลฯ ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย
อย่างไรก็ดี การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดการสินทรัพย์หนุนหลังอย่างเหมาะสมอาจยังไม่เพียงพอต่อการรักษามูลค่าของเหรียญดิจิทัลฯ
งานวิจัยของศูนย์วิจัยความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาความสามารถในการคงมูลค่าของเหรียญ USDC ที่ถึงแม้จะมีมาตราการเปิดเผยข้อมูล การตรวจสอบบัญชี และการคุ้มครองสินทรัพย์หนุนหลังอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างความมั่นใจในมูลค่าต่อนักลงทุน
แต่ยังพบว่าราคาของเหรียญ USDC สามารถผันผวนหลุดนอกกรอบมูลค่าประกาศที่ 1 ดอลลาร์ได้จากหลากหลายปัจจัย อาทิ ปริมาณความต้องการซื้อ-ขายเหรียญดิจิทัลฯ ราคาของเหรียญดิจิทัลฯ อื่น ปริมาณการซื้อขายบิทคอยน์
จากข้อค้นพบดังกล่าว พบว่า หากรัฐบาลต้องการออกเหรียญดิจิทัลฯ มูลค่าเหรียญดิจิทัลฯ อาจผันผวนจากผลกระทบภายนอก และทำให้เหรียญดิจิทัล ไม่สามารถคงมูลค่าได้
กล่าวโดยสรุป การออกสเตเบิลคอยน์เพื่อเพิ่มการหมุนเวียนของเงินในระบบตามแนวนโยบายของรัฐบาล จำเป็นต้องคำนึงถึงความท้าทายหลายประการทั้งในแง่ของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน เสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์
ความท้าทายด้านกฎหมาย หลักเกณฑ์การจัดการสินทรัพย์หนุนหลังของผู้ออกเหรียญดิจิทัลฯ หรือแม้กระทั่งปัจจัยภายนอก ความผันผวนของสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับโลก ก็ส่งผลต่อมูลค่าของเหรียญดิจิทัลฯ ได้อีกด้วย
เขียนโดย: พนิต วัฒนกูล จากศูนย์วิจัยความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา (Center of International Competitiveness and development Studies: ICDS) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการศึกษา:
Srivisad, N. and Wattanakoon, P. Assessing Price Stability in Fiat-Backed Stablecoins: Implications for Financial Regulation and Market Dynamics. Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=4977810 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.4977810
พนิต วัฒนกูล และภูมิศิริ ดำรงวุฒิ (2567) แนวทางการกำกับดูแลเหรียญดิจิทัลที่มีกลไกคงความเสถียรทางมูลค่า: บทเรียนจากต่างประเทศและนัยเชิงนโยบายต่อประเทศไทย.-- กรุงเทพฯ: สถาบันคลังสมองของชาติ