USDT เครื่องมือใหม่การ ‘ฟอกเงิน’ หรือเพียงแค่ความเข้าใจผิด?
กระแส USDT ถูกพูดถึง ‘สเตเบิลคอยน์’ เครื่องมือใหม่การ ‘ฟอกเงิน’ ไม่สามารถตามรอย Footprint ได้จริงหรือไม่ หรือเพียงแค่ความเข้าใจผิด?
จากกรณีการรับสินบนของบริษัทเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้ USDT ถูกพูดถึงมากขึ้น ว่าบรรดาผู้ที่รับสินบนนั้นรับผ่าน USDT จึงเกิดเป็นการตั้งข้อสงสัยว่า USDT สามารถที่จะใช้หลีกเลี่ยงการมองเห็นการทำธุรกรรม และไม่สามารถตามรอย Footprint ได้จริงหรือไม่
นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไทย บิทแคสต์ จํากัด มีความคิดเห็น ว่า USDT เป็น Stable Coin ที่ใกล้เคียงกับเงินสกุล Fiat แต่อยู่ในรูปแบบที่เป็นดิจิทัลบนบล็อกเชน ทำให้มีความราคาใกล้เคียงกับ US Dollar มากกว่าสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ซึ่งสามารถติดตามได้ มีประวัติในการโอนจากกระเป๋าหนึ่ง ไปอีกกระเป๋าหนึ่ง ทุกคนสามารถเช็คข้อมูลประวัติการใช้ได้ เพราะมี Bloackchain ซึ่งเปรียบเสมือน Database ที่ใช้เก็บข้อมูล เปิดกว้างให้เข้าถึงข้อมูลได้ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ (Transparency) ในขณะที่เงินสดไม่มีคุณสมบัตินี้ทำให้แท้จริงแล้วเงินสดติดตามได้ยากกว่า USDT
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ความรู้ความเข้าใจของคนที่ใช้งาน USDT ยังอยู่ในวงแคบ และหากเปรียบเทียบกับระบบการเงินในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ถ้าโอนเงินเกิน 2 ล้านบาท ธนาคารจะมีการรายงานแล้วว่ามี Transaction แปลก ๆ แต่การโอนเงิน 10 ล้านบาท บน USDT อาจจะไม่มีคนรายงาน ยกเว้นว่าธุรกรรมผ่าน Exchange ที่ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต. ที่หากดูแล้วว่ามีธุรกรรมที่ดูแล้วสุ่มเสี่ยงต่อการฟอกเงิน Exchange ก็มีหน้าที่ที่จะต้องรายงานกับทางภาครัฐ
ในกรณีที่กำลังเป็นกระแสข่าวอยู่ในตอนนี้ ด้วยความที่เป็นธุรกรรมผ่านบล็อกเชน จึงมีคนบางกลุ่มมองว่าเป็นกลไกในการใช้ยักย้ายถ่ายเทสินทรัพย์ ซึ่งคุณสมบัติของ USDT มีช่องทางที่สามารถทำได้
อย่างแรกคือ Placement เอาเงินที่จะฟอกเข้าระบบ Layering ทำธุรกรรมสับขาหลอก โอนไปมายากต่อการติดตาม และเป็นการเอาเงินเทาๆ ไปผมสมกับเงินขาวๆ
และขั้นตอนสุดท้าย Integration เอาเงินไปแปลงเป็นสินทรัพย์อื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นสินค้า Luxury เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม รถหรู ที่ดิน เพราะแม้ว่า USDT จะเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในแง่ของการรักษามูลค่าในระยะยาว เนื่องจากไม่ได้มีกลไกในการต้านทานเงินเฟ้อ
สุดท้ายแล้ว การนำ USDT ไปแปลงเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาคุณค่าของเงินทุนในระยะยาว
เรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ
1. ความรู้ ความสามารถหรือทักษะในการที่จะเข้าไปดู
2. คือเรื่องของความเป็นเจ้าของกระเป๋าเงินดิจิทัล (Wallet) ซึ่งแม้จะว่ารู้ว่าปลายทางคือที่ไหน แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าปลายทางเป็นของใคร เรียกว่า Pseudoanonymity หรือการกึ่งไม่เปิดเผยตัวตน โดย Wallet ที่ระบุตัวตนไม่ได้ ปัจจุบันมีวิธีการแก้โดย Exchange ที่ถูกต้องตามกฎหมายจะมีกระบวนการที่เรียกว่า KYC (Know your customer) Exchange จึงมีหน้าที่ที่จะต้องให้คนที่มาเปิดใช้บริการยืนยันตัวตนว่าคือใคร
สำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากสกุลเงินดิจิทัลอย่าง USDT ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทำธุรกรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง รวมถึงวิธีการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมนั้น ๆ
สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปริมาณข้อมูลบนเครือข่ายบล็อกเชนมีจำนวนมาก การวิเคราะห์ข้อมูลจึงต้องอาศัยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และระบบประมวลผลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถตรวจสอบและติดตามธุรกรรมที่น่าสงสัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ