Gen Z คิดอย่างไร?

Gen Z คิดอย่างไร?

เรื่องของความแตกต่างในความคิดเห็นของคนที่มีช่วงอายุที่แตกต่างกันเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งในระดับสังคมองค์กรหรือแม้กระทั่งภายในครอบครัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของคนกลุ่มที่เรียกว่า Gen Z ซึ่งในต่างประเทศก็มีข้อถกเถียงเล็กน้อยว่าเริ่มนับช่วงไหน แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องต้องกันว่าจะเป็นพวกที่เกิดระหว่าง ค.ศ. 1997-2012 หรือพ.ศ. 2540-2555 ซึ่งถ้านับอายุก็คือพวกที่อายุระหว่าง 8-23 ปี ซึ่งในอดีตเราอาจจะตื่นตัวและให้ความสนใจกับคนกลุ่มอายุก่อนหน้านี้ หรือพวกGen Y แต่ดูเหมือนในปัจจุบัน ทั้งทางด้านสังคมการบริหารองค์กร การตลาด หรือครอบครัว กลุ่มคน Gen Z จะเริ่มเข้ามามีบทบาทและความสำคัญมากขึ้น

ถึงแม้ว่าGen Y และGen Z จะเป็นพวกที่มีช่วงอายุที่ติดกันแต่จริงๆ แล้ว Gen Z กลับมีความแตกต่างจากGen Y อยู่พอสมควรที่สำคัญคือ Gen Z เป็นกลุ่มที่เรียกได้ว่าเป็น Digital Native หรือพวกที่เติบโตมาในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยถ้าเทียบย้อนกับพัฒนาการของเทคโนโลยีจะพบว่า Google เริ่มต้นในปี 1996 และได้กลายมาเป็นผู้นำตลาดประมาณปี 2002 (Gen Z ที่เกิดปี1997 จะอายุ5 ขวบพอดี)หรือNokia รุ่นยอดนิยมอย่าง 3310 ซึ่งออกสู่ตลาดในปี 2000 หรือสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมในอดีตอย่าง Hi5 ก็เริ่มต้นในปี 2004

เพราะฉะนั้นคนรุ่นนี้จึงเป็นรุ่นที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์อย่างแท้จริง ทำให้ทัศนคติและพฤติกรรมของคนGen Z เป็นคนรุ่นมีความถนัดที่จะรับรู้และประมวลข้อมูลจากหลายๆ แหล่งรวม ทั้งสามารถเชื่อมโยงและบูรณาการระหว่างประสบการณ์บนโลกออนไลน์และโลกจริงได้อย่างกลมกลืน ซึ่งพื้นฐานดังกล่าวส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของคนGen Z ซึ่งสังคมองค์กรและครอบครัวอาจจะต้องเริ่มเรียนรู้กันใหม่ (หลังจากเรียนรู้เกี่ยวกับคนGen Y มาแล้ว)

มีรายงานจากMcKinsey ที่ศึกษาพฤติกรรมของคนGen Z ในหลายๆ ประเทศและสรุปออกมาว่าสำหรับคนGen Z นั้นจะเป็นกลุ่มคนที่ชอบแสวงหาความจริง(เขาใช้คำว่าsearch for truth) อีกทั้งเป็นรุ่นที่ให้ความสำคัญกับการแสดงออกของแต่ละคน รวมถึงเป็นคนรุ่นที่ให้ความสำคัญกับ Pragmatic (เป็นจริงปฏิบัติได้)สูงทาง McKinsey ยังได้ให้ข้อแนะนำสำหรับองค์กรธุรกิจว่าสำหรับคนรุ่นใหม่เหล่านี้แล้วองค์กรจะต้องปรับตัวโดยมุ่งเน้นใน 3 ประเด็นหลักๆ ประการแรกคือคนรุ่นนี้จะเลือกและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ อย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการใดๆ ขณะเดียวกันสำหรับคนGen Z การบริโภคสินค้าและบริการไม่ได้หมายถึงการเป็นเจ้าของสินค้าดังกล่าว แต่เป็นการเข้าถึงอย่างไม่จำกัดต่อสินค้าและบริการดังกล่าว เช่นกรณีของNetflix หรือSpotify ที่สินค้ากลายเป็นบริการ

ประการที่ 2 Gen Z จะให้ความสำคัญกับการแสดงออกถึงตัวตนของตัวเองออกมาดังนั้นการซื้อสินค้าและบริการใดๆ ก็จะเป็นสิ่งที่คนGen Z พยายามสะท้อนให้คนอื่นเห็นว่าตัวตนของตัวเองเป็นคนอย่างไร การซื้อสินค้าและบริการของคนGen Z จะไม่ใช่เพื่อเป็นไปตามค่านิยมหรือกระแสสังคมเพียงอย่างเดียว แต่จะแสวงหาสินค้าและบริการที่สะท้อนภาพความเป็นตัวตนของตัวเองอย่างแท้จริง

ประการสุดท้ายGen Z จะให้ความสำคัญกับจริยธรรมขององค์กรหรือแบรนด์มากกว่าคนรุ่นอื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่องค์กรสื่อสารกับสิ่งที่องค์กรกระทำนั้นจะต้องสอดคล้องกันเช่นถ้าองค์กรสื่อสารว่าให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมแต่ผลิตภัณฑ์ขององค์กรกลับทำลายสิ่งแวดล้อมก็จะกลายเป็นสิ่งที่คนGen Z ต่อต้านโดยทันที

นอกจากงานของMcKinsey แล้วยังมีงานวิจัยอื่นที่ชี้ให้เห็นว่าคนGen Z จะเป็นพวกpurpose-driven โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเลือกทำงานกับองค์กรที่มีเป้าหมายหรือPurpose ที่ชัดเจนและคนรุ่นนี้ก็จะให้ความสำคัญว่าองค์กรจะต้องปฎิบัติได้ตามที่ระบุไว้จริงๆไม่ใช่เขียนเป้าหมายไว้ลอยๆสวยๆเท่านั้น

ลองดูนะครับว่าทัศนคติและพฤติกรรมของGen Z เหล่านี้นอกเหนือจะมีผลต่อองค์กรธุรกิจแล้วยังส่งผลต่อด้านอื่นๆหรือไม่?