อนาคตตลาดแรงงาน กับมาตรการรับมือวิกฤตโควิด-19
ผลจากมติ ครม. ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 2563 เพื่อรับมือโควิด-19 ทั้งการประกาศปิดสถานที่เสี่ยงในกรุงเทพฯและปริมณฑล ต่างกรรมต่างวาระ
รวมทั้งมาตรการเข้มข้นเพิ่มเติมตามมาเพื่อการจำกัดการเดินทาง การเคลื่อนย้ายของประชากรอย่างการปิดชายแดน และการงดกิจกรรมทำกันเป็นกลุ่มรวมถึงรณรงค์เรื่อง Social Distancing มาตรการทั้งหมดนี้มีผลอย่างยิ่งกับสถานประกอบการและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรการดังกล่าว เพราะมีแรงงานและคนทำงานที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว โดยเฉพาะที่เป็นลูกจ้างรายวัน คนไทยส่วนหนึ่งไม่มีรายได้และทนค่าครองชีพในเมืองใหญ่ไม่ได้ต้องกลับไปตั้งหลักที่ต่างจังหวัดก่อน ซึ่งยังไม่ทราบว่าโรคอุบัติใหม่นี้จะหยุดการแพร่กระจายได้เมื่อไร อาจจะเป็นเดือนหรือหลายๆ เดือน เมื่อโรคระบาดใหม่นี้หยุดลงก็ต้องใช้เวลาอีกมากกว่าจะเรียกความมั่นใจจากทุกภาคส่วนกลับมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะคนงานต่างด้าวหลายหมื่นคนที่เดินทางกลับบ้าน และคนที่ถูกกระทบจากไม่มีงานทำเพราะกิจกรรมของนายจ้างต้องหยุดหรือปิดตัว การกลับไปของแรงงานต่างด้าวคราวนี้จะก่อให้เกิดปัญหากับตลาดแรงงานของไทยได้อีกครั้งหนึ่งคือ การขาดแคลนแรงานระดับล่าง
การแก้ปัญหาที่สำคัญในช่วงเร่งด่วนนี้ ถ้าเป็นสถานประกอบการโดยเฉพาะสถานประกอบการที่ถูกกระทบก็มีมาตรการทางการเงินมากมายทั้งของรัฐและเอกชนที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินการต่อไปได้ ไม่ปลดพนักงานหรือลูกจ้างออก แต่อย่าลืมว่า การปิดตัวรวมทั้งการชะลอการจ้างงานนี้มาด้วยสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพราะโควิด-19เพียงอย่างเดียว ทั้งปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ปัญหาภัยแล้ง และ การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีซึ่งผู้เขียนเคยประมาณการไว้แล้วว่า อัตราการว่างงานอาจจะสูงถึง 2 เท่าของปีที่ผ่านมา คือ ประมาณ 2% หรือประมาณ 6 แสนคน ถ้าปัญหาสงครามการค้าในกลุ่มประเทศผู้นำเข้าสินค้าไทย ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ยังดำเนินการอยู่ต่อไปแต่ปัญหาที่ซ้ำเติมเข้ามาเกิดจากเศรษฐกิจชะลอตัวอันเนื่องมากจากโควิด-19 จะทำให้ปัญหาการว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นมาอีกอย่างน้อยในช่วง 9 เดือนที่เหลือ ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีการว่างงานเพิ่มขึ้นอีก 1-2 แสนคน รวมจากตัวเลขเดิมก็จะมีการว่างงานถึง 7-8 แสนคน หรือ 2.2-2.5% ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะกลางช่วยเหลือผู้มีแนวโน้มในการว่างงานดังกล่าว
ทางทีมนักวิจัยของTDRI ได้มีข้อเสนอหลายประการในการแก้ปัญหาเร่งด่วนสำหรับคนทำงานและ/หรือแรงงานที่ถูกกระทบจากมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยให้มีเงินเพียงพอที่ครอบครัวจะดำรงชีพพื้นฐานได้ นั่นก็คือการจัดสรรเงิน “แบบให้เปล่า” ให้กับทุกครัวเรือนที่เดือดร้อนโดยไม่เลือกหน้า แต่มีข้อแม้ว่ารัฐต้องตรวจสอบคนในครอบครัวทุกคนที่ได้รับเงินต้องมีมูลค่าทรัพย์สิน (บ้าน เช่าที่ดิน) ไม่เกิน 3 ล้านบาท มีเงินออมไม่เกิน 100,000 บาท หรือมีเงินเดือนเฉลี่ยไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่ง TDRI คาดว่าจะมีคนอยู่ในข่ายได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 6-7 ล้านคน ทาง TDRI ได้ตัดคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน และอยู่ในข่ายที่ได้รับสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงานจากประกันสังคมออกไปอีกส่วนหนึ่งเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆประมาณ 4-5 ล้านคน เท่านั้น
มาตรการที่TDRI เสนอเพิ่มเติม เช่น การให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดย่อมไม่ให้ต้องเลิกจ้างด้วยการอุดหนุนค่าใช้จ่ายทั้งค่าเช่าและ/หรือค่าจ้าง เป็นต้น ซึ่งทางสถาบันการเงินก็ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับกลุ่มนี้อยู่แล้วอยู่แล้วระดับหนึ่ง
รัฐต้องดูแลปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพเพิ่มเติมในรูปของร้านค้าธงฟ้าซึ่งกระจายไปทั่วประเทศคืออย่างน้อยต้องมีสินค้า ข้าวสาร ไข่ไก่หรือไข่เป็ด น้ำมันพืช และบะหมี่สำเร็จรูป เป็นต้น ไม่ให้ขาดแคลนสามารถหาซื้อได้โดยง่ายในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลอาจจะต้องมีคาราวาน “ธงฟ้า” เคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ห่างไกลทุกหนึ่งหรือสองอาทิตย์ครั้งโดยรัฐอาจจะไม่ต้องลงทุนซื้อรถบรรทุก แต่รับสมัครจดทะเบียนรถ “พุ่มพวง”ซึ่งเป็นรถปิ๊กอัพนำของไปขายให้ชาวบ้านอยู่แล้วมาเป็นสมาชิกโดยรัฐอาจอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้บางส่วนโดยรับสินค้า “ธงฟ้า” จากศูนย์กระจายสินค้าของรัฐไปกระจายตามหมู่บ้านห่างไกล
มาตรการเร่งด่วนอื่นๆ ที่จริงแล้วผู้มีรายได้ คนใจบุญก็สามารถช่วยเหลือด้วยการบริจาคเงินและ/หรือสิ่งของช่วยเหลือโดยเฉพาะคนที่ไม่มีเงินใช้สอยในการจับจ่ายซื้อหาอาหารที่จำเป็นนี้ได้ในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้าที่ยังมีวิกฤตอยู่เช่นการจัดโรงทานในหมู่บ้าน หรือตำบล หรือแม้แต่ในเมืองย่านคนจน ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ทำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขสถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 จาก Johns Hopkins, CSS เมื่อ 23 มี.ค. 2563 คาดได้ว่าปัญหาโควิด-19 ยังเป็นปัญหาต่อเนื่อง 6 เดือนหรือจนถึงสิ้นปีในไทยและอีกหลายประเทศจากการแพร่กระจายที่เป็นหาจาก Epidemicและ/หรือ Pandemic
การเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคคนไทยด้วยกันเองและนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายสิบล้านคนให้กลับมาเยือนไทยดังเช่นแต่ก่อน คงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ข้ามคืน ไทยช่วยไทยจึงน่าจะเป็นทางออกของประเทศในปี 2563
โดย...
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์